ปากมดลูกหลวม ปากมดลูกปิดไม่สนิทขณะตั้งครรภ์ แม่ท้องต้องระวัง!!!

04 May 2015
8240 view

ปากมดลูกหลวม

หลายครั้งที่มีคุณแม่ท้องมาพบแพทย์ด้วยอาการแท้ง ที่ไม่มีอาการปวดท้อง หรือเลือดออกมากนัก ปัญหานี้พบได้หากคุณแม่ท้องมีปากมดลูกหลวม ดังนั้นเราจึงมาไขความรู้เรื่อง ปากมดลูกหลวม ปากมดลูกปิดไม่สนิท ให้คุณแม่ตั้งครรภ์ได้รู้จัก เพื่อลดความเสี่ยงในการแท้งและคลอดก่อนกำหนดค่ะ มาดูกันเลย.. 

ภาวะปากมดลูกหลวม คืออะไร?

ภาวะปากมดลูกหลวม หรือ ปากมดลูกปิดไม่สนิท ( Cervical insufficiency หรือ Cervical incompetence ) เป็นภาวะผิดปกติเกิดจาก ปากมดลูกไม่ปิดแนบสนิด ทำให้เกิดการแท้งบุตรขณะตั้งครรภ์ โดยการแท้งดังกล่าวไม่มีการหดรัดตัวของกล้ามเนื้อมดลูกร่วมด้วย

สาเหตุที่ทำให้ปากมดลูกหลวม ปากมดลูกปิดไม่สนิท

  1. เกิดขึ้นโดยไม่ทราบสาเหตุ
  2. ความดันในโพรงมดลูกสูง ส่งผลต่อการขยายตัวของมดลูกและปากมดลูกได้  พบมากในกรณีครรภ์แฝดน้ำ ภาวะน้ำคร่ำมากกว่าปกติ
  3. เกิดจากการฉีกขาดขาดของปากมดลูก ในการคลอดครั้งที่แล้ว จึงทำให้ปากมดลูกปิดไม่สนิทในครรภ์ต่อมา
  4. ได้รับการผ่าตัดปากมดลูกมาก่อน กรณีการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกชนิดที่ต้องทำการผ่าตัดปากมดลูกไปตรวจ ทางการแพทย์เรียกว่า Cold knife conization
  5. เกิดการติดเชื้อในโพรงมดลูก หรือบริเวณปากมดลูก
  6. เกิดจากความผิดปกติของปากมดลูกตั้งแต่กำเนิด 

กลุ่มเสียงในแม่ตั้งครรภ์ที่อาจเกิดภาวะปากมดลูกหลวม ปากมดลูกปิดไม่สนิท

  1. ครรภ์แฝดน้ำ
  2. คุณแม่ตั้งครรภ์ที่มีภาวะน้ำคร่ำมาก
  3. ครรภ์แฝด
  4. เคยผ่านการขูดมดลูกมาก่อน
  5. เคยผ่าตัดปากมดลูกมาก่อน

อาการของภาวะปากมดลูกหลวม ปากมดลูกปิดไม่สนิทในคุณแม่ตั้งครรภ์

คุณแม่ตั้งครรภ์ที่ปากมดลูกหลวม หรือปิดไม่สนิท ไม่มีอาการเเสดงที่เด่นชัด แต่ส่วนมากพบว่า มาพบแพทย์ที่โรงพยาบาลด้วยอาการปวดหน่วงๆที่ท้องน้อย หรือบางราย แท้งบ่อยๆครั้ง และมีประวัติน้ำเดินก่อนเจ็บครรภ์ แพทย์จึงตรวจและวินิจฉัยได้

การรักษาภาวะปากมดลูกหลวม ปากมดลูกปิดไม่สนิทในคุณแม่ตั้งครรภ์

การรักษามีเพียงวิธีเดียวที่ได้ผลดี และเพื่อเป็นการพยุงครรภ์ให้ผ่านพ้นไปจนถึงกำหนดคลอด สูติแพทย์จะรักษาด้วยการผ่าตัดเย็บปากมดลูก (Cervical cerclage)  หลังจากตรวจพบว่าคุณแม่ตั้งครรภ์มีภาวะดังกล่าว แพทย์จะทำการนัดเพื่อเข้ารับการรักษาผ้าตัดเย็บปากมดลูกมื่ออายุครรภ์ 14-16 สัปดาห์  หลังผ่าตัดคุณแม่ตั้งครรภ์ต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิตเนื่องจากเสี่ยงต่อภาวะถุงน้ำคร่ำแตกได้ง่าย คุณแม่ที่ทำการผ่าตัดจำเป็นต้องนอนพักฟื้นที่โรงพยาบาล 5 – 7 วัน หลังจากนั้นแพทย์จะให้กลับบ้านและรับประทานยาปฎิชีวนะต่อเนื่องจนแผลหายเป็นปกติ เมื่ออายุครรภ์ครบกำหนดคลอด คุณแม่ต้องไปพบแพทย์อีกครั้งเพื่อตัดปมไหมที่เย็บไว้ออกก่อน  และสามารถคลอดได้ตามปกติในการตั้งครรภ์ครั้งต่อไป ก็ต้องปฎิบัติเช่นเดิม  และควรตั้งครรภ์ห่างกันอย่างน้อย 2 ปี เพื่อให้มดลูกมีความแข็งแรงสามารถพยุงครรภ์ครั้งต่อๆไปได้

อาการผิดปกติในระหว่างตั้งครรภ์คุณแม่ควรใส่ใจให้มาก ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโดยด่วน สำหรับภาวะปากมดลูกหลวมหรือ ปากมดลูกปิดไม่สนิทเป็นภัยเงียบ ในครรภ์แรกค่อนข้างเสี่ยงเนื่องจากอาการแสดง หรืออาการเตือนน้อยหากไม่มั่นใจให้รีบไปพบแพทย์โดยด่วนนะคะ

บทความแนะนำเพิ่มเติม

1. รีแพร์ช่องคลอด กระชับความฟิต

2. อาการท้องนอกมดลูก

3. เนื้องอกในมดลูกขณะตั้งครรภ์

เรียบเรียงโดย : Mama Expert Editorial Team

อ้างอิง  : 

1. Cervical cerclage.เข้าถึงได้จาก http://en.wikipedia.org/wiki/Cervical_cerclage  [สืบค้นเมื่อ 4 May 2015] 

2. Cervical cerclage.เข้าถึงได้จาก http://www.surgeryencyclopedia.com/Ce-Fi/Cervical-Cerclage.html .[สืบค้นเมื่อ 4 May 2015]