การเคาะปอดระบายเสมหะในเด็กที่ถูกต้อง ไม่ยากแม่ทุกคนต้องทำได้

25 July 2014
30436 view

เคาะปอดระบายเสมหะในเด็ก

การเคาะปอดขับเสมหะให้ลูกน้อย ทำเพื่อที่จะให้เด็กหายใจสะดวกขึ้น เพราะเสมหะเกิดจากการระคายเคืองหรืออักเสบของทางเดินหายใจและปอด ทำให้เยื่อบุผิวภายในของทางเดินหายใจและปอดผลิตน้ำคัดหลั่ง มีลักษณะเหลวใส ถ้าสั่งออกมาได้ทางจมูกเราก็มักเรียกว่าน้ำมูก ถ้าออกผ่านทางปากก็มักเรียกว่า เสมหะ ซึ่งอาการไอของเด็กบ่งบอกถึงภาวะสุขภาพ ไอมาก ไอน้อย ขึ้นอยู่กับสิ่งกระตุ้น คุณพ่อคุณแม่อย่าใจร้อนรีบไปซื้อยามาให้ลูกกิน  เพราะในบางครั้งยาแก้ไอไม่ช่วยอะไรเลย มาทำความรู้จักกับการเคาะปอดระบายเสมหะในเด็กที่ถูกต้อง กันค่ะ...


การเคาะปอดระบายเสมหะในเด็กที่ถูกต้องทำอย่างไรบ้าง

แม่ต้อง … ทำให้เสมหะไม่เหนียว โดยการดื่มน้ำมาก ๆการเตรียมตัว สั่งน้ำมูกและบ้วนหรือดูดเสมหะในจมูกและปากที่มีออกมาก่อน และควรทำก่อนอาหารหรือหลังอาหาร 1 ชม.ครึ่ง – 2 ชม. เพื่อไม่ให้อาเจียนหรือสำลัก

แม่ต้อง … การจัดท่าที่เหมาะสม จะช่วยให้เสมหะจากปอดส่วนต่าง ๆ ถูกขับออกมาได้ง่ายขึ้น ให้ทำการเคาะแล้วจึงทำการสั่นสะเทือนในแต่ละท่า ท่าละ 3-6 นาที รวมทุกท่าไม่ควรนานเกิน 15-30 นาที แล้วจึงลุกนั่งหรือยืนเพื่อให้ไออย่างมีประสิทธิภาพ ถ้าเด็กเหนื่อยหรือเบื่อทำเพียงบางท่า

แม่ต้อง … เคาะปอดระบายเสมหะ  หลักการคือใช้แรงสั่นจากลมที่กระทบผนังทรวงอกขณะเคาะ ไปทำให้เสมหะหลุดจากหลอดลม โดยใช้ผ้าขนหนูบาง ๆ วางบนตำแหน่งที่จะเคาะ ขณะเคาะให้ทำมือเป็นกระเปาะปลายนิ้วชิดกันและมีการเคลื่อนไหว สบาย ๆ ตรงข้อมือ ข้อศอกและไหล่ ด้วยความถี่ 3 ครั้งต่อวินาที ให้ทั่ว ๆ บริเวณทรวงอกส่วนที่เคาะอยู่ โดยวนเป็นวงกลมหรือเลื่อนไปทางซ้ายและขวา ส่วนมากเด็กจะรู้สึกสบายเหมือนมีคนนวดให้ บางรายนอนหลับสบายขณะเคาะ

แม่ต้อง … ใช้การสั่นสะเทือนเพื่อช่วยการไอ การทำจะยากกว่าการเคาะ ถ้าคุณพ่อคุณแม่ทำไม่ได้ก็ไม่ต้องเป็นกังวลกับขั้นตอนนี้ การสั่งสะเทือนทำโดยวางฝ่ามือลงบนทรวงอก ในเด็กเล็กวางมือประกบบริเวณด้านหน้าและหลังที่ตรงกัน หรือใช้มือเดียววางบริเวณด้านหน้าทั้ง 2 ด้าน เด็กโตอาจวางมือซ้อนทับกัน เกร็งทุกส่วนจากไหล่ ข้อศอกมือ แล้วทำให้เกิดการสั่นสะเทือน โดยเริ่มขณะที่หายใจเข้าจนสุดไปจนตลอดการหายใจออก จะช่วยให้ไอเอาเสมหะออกมาได้ดีขึ้น

แม่ต้อง … สอนลูกให้ไออย่างมีประสิทธิภาพ  ในเด็กโตขึ้นมาหน่อยพ่อแม่สามารถสื่อสารกับลูกได้อย่างเข้าใจ เริ่มด้วยต้องหายใจเข้าเต็มที่ แล้วกลั้นหายใจ 1-2 วินาที เพื่อให้ลมกระจายไปทั่วทุกส่วนของปอดและมีแรงขับดันเอาเสมหะออกมาได้เต็มที่ จากนั้นไอติดต่อกัน 2-3 ครั้ง การให้เด็กเล็กสูดหายใจเข้าเต็มที่ อาจใช้ของเล่นที่ต้องสูดหายใจแรง ๆ มาช่วย เช่น เป่าลูกโป่ง, เป่าฟองสบู่ หรือเป่ากังหัน เป็นต้น

คลิปสาธิตการเคาะปอดที่ถูกต้องตามหลักการแพทย์พ่อแม่สามารถทำตามได้ 

การเคาะปอดระบายเสมหะในเด็กที่ถูกต้อง ทำได้เวลาใดบ้าง

ทำบ่อยได้แค่ไหน ส่วนมากเสมหะจะคั่งค้างมากมายมาตลอดคืน เมื่อตื่นนอนตอนเช้าจึงไอมาก จึงควรทำเมื่อตื่นเช้าและก่อนเข้านอน เพื่อให้หลับสบายและอาจทำเพิ่มก่อนอาหารกลางวัน ช่วงบ่าย รวมทั้งกลางคืน ถ้านอนหลับไปสักพักแล้วไอมาก จะช่วยให้เด็กหลับต่อได้ดีขึ้น

พ่อการเคาะปอดระบายเสมหะในเด็กช่วยขับเสมหะได้จริงหรือ

ลูกจะไอลดลง เสียงครืดคราดลดลง ดื่มนมและหลับได้นานขึ้น มีข้อห้ามหรือไม่ ในรายที่เป็นหอบหืดควรให้อาการหอบดีขึ้นก่อน โดยการพ่นหรือสูดยาขยายหลอดลมให้หลอดลมเปิดโล่ง และขั้นตอนการไอต้องไม่นานจนทำให้เหนื่อยเกินไป

การเคาะปอดระบายเสมหะในเด็กมีข้อห้ามอย่างไรบ้าง

หากลูกของคุณเป็นหอบหืดควรรอให้อาการหอบดีขึ้นก่อน โดยการพ่นหรือสูดยาขยายหลอดลม ให้หลอดลมเปิดโล่ง และขั้นตอนการไอต้องไม่ทำนานจนเหนื่อยเกินไป

การเคาะปอดระบายเสมหะในเด็ก มีผลเสียอย่างไรบ้าง ?

เมื่อเปรียบเทียบแล้ว ผลเสียจากการมีเสมหะคั่งค้างมีมากและเป็นอันตรายกว่ามาก เพราะเสมหะเป็นแหล่งเพราะเชื้อที่ดีพบว่าลูกจะไม่สบายมีไข้ และยิ่งไอไม่หายสักที หยใจเหนื่อยหอบ อาจเป็นปอดบวม ปอดแฟบจากเสมหะอุดตัน หรือถุงลมโป่งพองออก บางรายไอมากจนปวดท้อง เพราะการไอต้องใช้กล้ามเนื้อหน้าท้องและกะบังลม ซึ่งอาจช่วยได้โดยการใช้สองมือวางประสานกันกดเล็กน้อยบริเวณหน้าท้องเพื่อช่วยลดอาการปวด ส่วนการเคาะระบายเสมหะ ถ้าทำได้ถูกเวลา ท่าทาง และวิธีแล้ว จะไม่มีอันตรายแต่อย่างใด สามารถทำได้ในเด็กแรกเกิดจนถึงเด็กโต โดยปรับแรงเคาะให้เหมาะสมกับน้ำหนักและรูปร่าง ช่วงแรกเด็กอาจไม่คุ้นเคยจะร้องบ้าง ต่อมามักจะชอบเนื่องจากเรียนรู้ว่าทำให้เขาสบายขึ้น มีเด็กหลายคนติดใจต้องให้คุณพ่อคุณแม่กล่อมนอนด้วยการเคาะปอดทุกคืนจึงจะหลับสบาย

การให้ยาแก้ไอชนิดกดการไอ จะยิ่งมีผลเสียเพราะเสมหะคั่งค้าง แต่ยาแก้ไอที่มีฤทธิ์ขยายหลอดลม หรือละลายเสมหะจะได้ผลดี รวมทั้งยาลดน้ำมูกบางชนิดมีส่วนประกอบที่ทำให้น้ำมูกและเสมหะยิ่งเหนียวมากขึ้น ควรปรึกษาแพทย์เพื่อการใช้ยาที่เหมาะสม

หากดูแลลูกน้อยตามคำแนะนำข้างต้นแล้วไม่ดีขึ้นแนะนำให้พบแพทย์เพื่อตรวจเช็คอย่างละเอียดค่ะ

บทความแนะนำเพิ่มเติมสำหรับคุณแม่

1. 5 โรคอันตรายในเด็กที่ต้องเฝ้าระวัง

2. โรคตุ่มน้ำพองใสในเด็ก

3. โรคร้ายที่พบในเด็กแต่ละช่วงวัย ที่แม่ควรรู้

เรียบเรียงโดย  : Mamaexpert Editorial Team

ขอบคุณข้อมูลและคลิปสาธิต : สถาบันเด็กแห่งชาติมหาราชินี