ภาคเอกชนหนุนใช้ดิจิทัลแพลตฟอร์มในโรงเรียนขนาดเล็ก แนะเป็นตัวช่วยจัดการเรียนรู้ พร้อมปลดล็อกความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาไทย

25 August 2020
262 view

การลดลงของประชากรเกิดใหม่ส่งผลต่อจำนวนผู้เรียนในระบบน้อยลง และทำให้จำนวนโรงเรียนขนาดเล็กเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ระบุว่า ปี 2562 ประเทศไทย มีโรงเรียนขนาดเล็ก 15,158 แห่ง เพิ่มขึ้นจากปี 2561 ที่มี 15,089 แห่ง ซึ่งเป็นสัดส่วนครึ่งหนึ่งของโรงเรียน ทั่วประเทศที่มีอยู่ประมาณ 30,000 แห่ง โดยมีผลกระทบด้านต่างๆ ที่นำไปสู่ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา เพราะโรงเรียนขนาดเล็กได้รับงบประมาณน้อยกว่าโรงเรียนขนาดใหญ่ ด้วยค่าใช้จ่ายในการจัดการศึกษา ของรัฐบาลที่คิดเป็นเงินรายหัวต่อนักเรียน และการกำหนดสัดส่วนครู 1 คนต่อนักเรียน 20 คน ทำให้เกิดปัญหา การจัดสรรครูไม่ครบชั้นเรียน และขาดแคลนครูที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง

 แนวทางการแก้ปัญหาของโรงเรียนขนาดเล็กที่เกิดขึ้นคือการยุบควบรวมโรงเรียนและจัดทำโรงเรียนช่วงชั้น เป็นการรวมกลุ่มของโรงเรียนขนาดเล็กในพื้นที่ใกล้เคียงเข้าด้วยกันแล้วแบ่งหน้าที่การสอนเฉพาะบางช่วงชั้น และให้นักเรียนชั้นเดียวกันไปเรียนรวมกันในโรงเรียนที่ได้แบ่งช่วงชั้นไว้ อย่างไรก็ตาม ในยุคที่เทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามามีบทบาทอย่างเข้มข้นกับการจัดการเรียนรู้“ดิจิทัลแพลตฟอร์ม”จึงเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือที่สามารถช่วยลดปัญหาด้านการเรียนการสอนของโรงเรียนขนาดเล็กได้

จากสิ่งที่กล่าวมาข้างต้น เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา จึงได้จัดการประชุมทางวิชาการ เพื่อจัดทำข้อเสนอนโยบายทางการศึกษา (OEC Forum) ครั้งที่ 4 เรื่อง ยกกำลังสองโรงเรียนขนาดเล็กด้วยดิจิทัลแพลตฟอร์มและโรงเรียนช่วงชั้น ซึ่งมีตัวแทนจากภาคเอกชนร่วมให้ความคิดเห็นในการเสวนา ลดช่องว่างทางการศึกษาด้วยดิจิทัลแพลตฟอร์ม ซึ่งจะเป็นข้อมูลสำคัญสำหรับนำไปใช้ในการจัด การการศึกษาของประเทศให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

โดย ดร.นิภาพร กุลสมบูรณ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาบริษัทปิโก (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) กล่าวว่าปิโก (ไทยแลนด์) ได้พัฒนา EDUCA จากงานมหกรรมทางการศึกษาเพื่อพัฒนาวิชาชีพครู มาสู่แพลตฟอร์มการสื่อสารเพื่อพัฒนาครู ซึ่งนอกจากจะมีเฟซบุ๊คเพจ educathai และ www.educathai.com ที่มีคอนเทนต์หลากหลายประเด็นทั้งการเรียนการสอน เทคนิคการเรียนรู้ นโยบายทางการศึกษา ครอบคลุมของไทยและ ต่างประเทศยังมี Podcast ที่นำข่าวคราวความเคลื่อนไหวมาอัพเดตให้กับเพื่อครูผ่าน https://educathai. podbean.com รวมถึงมีการจัดสัมภาษณ์ด้วยแอปพลิเพชั่น Zoom กับผู้เชี่ยวชาญด้านกุมารแพทย์ ครุศึกษาและจิตวิทยา เพื่อสื่อสารกับครูสำหรับการพัฒนาเด็กในมิติต่างๆ

“จากการวิจัยทางการศึกษาระดับโลกระบุว่า การขับเคลื่อนการศึกษาต้องโฟกัสที่ครู ผู้บริหารสถานศึกษา และ ครุศึกษา EDUCA จึงรวบรวมงานวิจัยทั้งในและต่างประเทศเพื่อพัฒนาคอนเทนต์ที่ตอบโจทย์ และสื่อสารผ่านแพลตฟอร์ม EDUCA ดิจิทัลแพลตฟอร์มที่จะช่วยส่งต่อองค์ความรู้ไปในวงกว้างได้รวดเร็วมากยิ่งขึ้น ครูสามารถนำตัวอย่างที่ได้รับไปปรับใช้กับการจัดการเรียนการสอน หรือเลือกดิจิทัลแพลตฟอร์มเข้ามาเสริมในการออกแบบการเรียนรู้ เพื่อพัฒนาศักยภาพของเด็กให้มีความเป็นเลิศในแบบของตัวเอง ซึ่งจะช่วยทั้งสร้างคุณภาพการศึกษา และลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาได้”

 ในขณะที่ ดร.วิริยะ ฤาชัยพาณิชย์ ผู้ก่อตั้ง www.eduzones.com  แสดงวามคิดเห็นว่า การจัดทำเว็บไซต์ eduzones เป็นเพราะต้องการเป็นสื่อกลางด้านการศึกษาในการพัฒนาคน และจากการเห็นปัญหาของครูในการสอนเด็ก จึงได้ต่อยอดไปสู่การพัฒนารูปแบบการสอนแบบ Active Learning เพื่อพัฒนานักเรียนให้มีทักษะในการคิดสร้างสรรค์ ซึ่งมีการจัดทำ CBLTool เครื่องมือที่ใช้ประกอบการเรียนการสอนแบบ Creativity-based Learning รวมถึงได้พัฒนาแอปพลิเคชั่นอื่นๆ อีกด้วย เพราะมองว่าเทคโนโลยีจะสามารถเข้ามาช่วยลดช่องว่างด้านคุณภาพทางการศึกษาได้ นอกจากนั้น จากการเติบโตของวงการ EdTech (Education Technology) ที่เห็นคนไทยให้ความสนใจและเข้ามาทำธุรกิจด้านนี้มากขึ้นก็เป็นสัญญาณที่ดีต่อการพัฒนาการศึกษาไทยในระยะยาว

ส่วนทางด้าน นายอนุสรณ์ ดำรงธรรม ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการและการศึกษา บริษัททรู  คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัทได้นำความเชี่ยวชาญและประสบการณ์จากการทำงานด้านการศึกษามา 10 กว่าปี ทั้งรายการสามเณรปลูกปัญญาธรรม และรายการทรูปลูกปัญญาที่เผยแพร่ผ่านทางเว็บไซต์ วิทยุ และแม็กกาซีน เพื่อให้บุคลากรทางการศึกษาได้เข้าถึงองค์ความรู้ต่างๆ นั้นมาต่อยอดในการจัดทำแพลตฟอร์ม True VWORLD ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ใช้ในการบริหารการศึกษา ประกอบด้วยฟีเจอร์อย่างวิดีโอ คอนเฟอเรนซ์สำหรับใช้ในการสอนหรือประชุม, Education Hub คลังความรู้และข้อสอบ รวมถึงมีห้องสมุดออนไลน์ และ Knowledge Management (KM) ซึ่งแพลตฟอร์มนี้จะเป็นตัวช่วยสำหรับผู้อำนวยการโรงเรียนในการจัดการสถานศึกษา และครูสามารถนำไปใช้กับการจัดการเรียนรู้ให้กับนักเรียนได้อีกด้วย