โรคติดเกม เด็กติดเกม ภัยร้ายที่ใกล้ตัว!!!

29 January 2020
4638 view

โรคติดเกม

หลายคนคิดว่าการติดเกมเป็นเรื่องธรรมดาของเด็ก แต่ทราบไหมคะว่า เด็กบางคนติดเกมมาก จนถึงขั้นที่เรียกว่าเป็น “โรคติดเกม” หรือ gaming disorder ซึ่งทางการแพทย์พบว่า เป็นที่เกิดจากพฤติกรรมการเสพติดในสมอง มีลักษณะคล้ายการติดสารเสพติด เป็นอุปสรรคสำคัญต่อการพัฒนาสมอง พัฒนาการ และพฤติกรรมของเด็ก 

สัญญาณบ่งชี้ว่าเป็นโรคติดเกม

1. เมื่อต้องหยุดเล่นหรือถูกขัดจังหวะ จะรู้สึกโกรธ และหงุดหงิดฉุนเฉียวอย่างรุนแรง แสดงพฤติกรรมก้าวร้าวมากขึ้นและไม่สามารถควบคุมอารมณ์ตนเองได้
2. แยกตัวออกจากสังคม ตัดขาดจากโลกภายนอก เลือกที่จะใช้เวลาอยู่หน้าจอมากกว่าจะมีปฏิสัมพันธ์กับครอบครัวและเพื่อนฝูง
3. ละเลยการเรียน การทำงาน ตลอดจนกิจวัตรประจำวันต่าง ๆ
4. คิดและหมกมุ่นอยู่แต่กับการเล่นเกม วางแผนเพื่อที่จะเอาชนะในการเล่นเกมครั้งต่อไป จะโมโหฉุนเฉียวมากถ้าเล่นเกมแพ้
5. ไม่สามารถหยุดเล่นได้ทั้ง ๆ ที่ทราบดีว่ามีผลกระทบต่อตนเองอย่างมาก พยายามและดิ้นรนอย่างมากเพื่อให้ได้เล่นเกม
6. ไม่ยอมรับความจริงว่าตนเองมีปัญหาติดเกม
7. พฤติกรรมทางด้านลบอื่น ๆ เช่น พูดโกหก หรือขโมยเงินเพื่อเอาไปเล่นเกม ไม่ยอมไปโรงเรียน หรือเล่นจนกลายเป็นการติดการพนันในที่สุด

อันตรายของโรคติดเกม

  • ดวงตาเกิดความอ่อนล้า ตาพร่ามัว ตาแห้ง จากการเพ่งสายตาไปที่หน้าจอเป็นเวลานาน ๆ 
  • ปวดเมื่อยตามตัว คอ ไหล่ และข้อมือ จากการนั่งเล่นเกมเป็นเวลานาน
  • เกิดอาการขาดน้ำและขาดสารอาหาร 
  • บางรายอาจเป็นโรคอ้วน เนื่องจากร่างกายเคลื่อนไหวน้อยลง ขาดการออกกำลังกาย ตลอดจนได้รับอาหารที่ไม่เหมาะสม 
  • ขาดการพักผ่อนนอนหลับ หลายคนต้องทนทุกข์ทรมานจากการอดหลับอดนอน 
  • เกมที่รุนแรงจะทำให้ผู้เล่นเคยชินกับพฤติกรรมที่รุนแรง เกิดอาการก้าวร้าวจากการที่ไม่สามารถเอาชนะเกม 
  • ในเด็กบางคน เอาชนะในเกมได้ทุกครั้ง แต่ชีวิตจริงไม่เหมือนกับในเกม ทำให้เกิดอาการหงุดหงิดฉุนเฉียว ส่งผลกระทบต่อหน้าที่การงานที่รับผิดชอบ ผลการเรียนเลวลง ปัญหาทางด้านสุขภาพจิต เช่น เกิดความวิตกกังวล ซึมเศร้า โรคสมาธิสั้น ในกรณีที่รุนแรง อาจถึงขั้นทำร้ายตัวเองหรือผู้อื่น เกิดอาการวิตกกังวลชนิดหนึ่งที่กลัวการออกจากบ้าน กลัวที่ชุมชน (agoraphobia) ซึ่งเป็นอาการที่เกิดขึ้นกับผู้ที่แยกตัวเองออกจากสังคม

คำแนะนำและแนวทางแก้ไขโรคติดเกม

1. เลือกเกมให้เหมาะสมกับอายุเด็ก : เกมที่เหมาะกับเด็กแต่ละช่วงอายุ

  • เด็กที่อายุน้อยกว่า 3 ขวบ ไม่ควรให้เล่นเกมโดยเด็ดขาด
  • เด็กที่มีอายุระหว่าง 3-6 ขวบ ควรเล่นเกมที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมการศึกษา และต้องมีผู้ปกครองควบคุม
  • เด็กที่มีอายุ 6 ขวบขึ้นไป สามารถเล่นเกมอื่น ๆ ได้ตามที่กำหนดไว้
  • เด็กที่มีอายุ 13 ปีขึ้นไป หลีกเลี่ยงเกมที่มีเนื้อหาความรุนแรงมากเกินไป เช่น ฉากต่อสู้นองเลือด และห้ามเล่นเกมที่มีการวางแผนฆ่าศัตรู เพศสัมพันธ์ คำหยาบคาย การพนัน และยาเสพติด

2. ก่อนที่จะอนุญาตให้เด็กเล่นเกม ควรมีการสัญญาและตกลงกันก่อนว่าจะต้องทำการบ้าน อ่านหนังสือ หรืออาบน้ำกินข้าวก่อนถึงจะเล่นเกมได้ จำกัดเวลาเล่นเกม เช่น เล่นได้ไม่เกินวันละ 2 ชั่วโมง 
3. ให้รางวัลเมื่อเด็กทำตามที่ตกลงกันไว้ได้ 
4. เก็บอุปกรณ์ในการเล่นเกมรวมทั้งมือถือให้ห่างไกลจากเด็ก 
5. เบี่ยงเบนความสนใจของเด็กให้หันไปทำกิจกรรมอื่น ๆ โดยเฉพาะกิจกรรมที่สามารถทำร่วมกับพ่อแม่ได้ เช่น การอ่านหนังสือหรือเล่านิทานก่อนนอน เล่นกีฬาที่เด็กชอบ พาไปเดินเที่ยวในสวนสาธารณะ เป็นการเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างเด็กกับพ่อแม่ให้มากขึ้น

การเล่นเกมอย่างพอดี ทำให้ผู้เล่นได้รับความสนุกสนานเพลิดเพลิน คลายเครียด ฝึกทักษะ สมาธิ การตัดสินใจ การประสานการทำงานของกล้ามเนื้อและประสาทระหว่างมือกับตาได้ค่ะ อย่างไรก็ตาม การเล่นเกมไม่ควรเล่นติดต่อกันเป็นเวลานาน หรือหมกมุ่นมากจนเกินไป จนทำให้เกิดอาการเสพติดและเกิดผลเสียต่อสุขภาพทางกายและจิตใจตามมานะคะ

บทความโดย: พญ.พรนิภา ศรีประเสริฐ (กุมารแพทย์)

ติดตามเรื่องเด็กๆ by หมอแอม ตอบทุกปัญหาเกี่ยวกับเด็ก
ในรูปแบบ VDO "ทุกวันพฤหัสบดี" ได้ที่ ช่อง youtube : Mamaexpert official