ร้องโคลิก vs ร้องไห้ธรรมดา แยกได้อย่างไร? มาฟังคำตอบจากกุมารแพทย์

24 April 2019
2132 view

ร้องโคลิก 

ร้องโคลิกคืออะไร? แม่ต้องรู้

ตามปกติ เด็กจะร้องไห้มากในช่วง 6-8 สัปดาห์ และค่อยๆ ลดลงเมื่ออายุ 3-4 เดือน เด็กที่เข้าข่ายโคลิกคือ ร้องไห้หนักมาก ร้องนานมากกว่า 3 ชั่วโมง มากกว่า 3 วันต่อสัปดาห์ และเป็นมานานมากกว่า 3 สัปดาห์ โดยปลอบอย่างไรก็ไม่หยุดร้อง โดยเวลาทองส่วนใหญ่มักมีอาการช่วงเย็นๆ ประมาณ 5 โมงเย็น จนถึง 2 ทุ่ม หรืออีกแบบคือร้องได้ทุกช่วงเวลา ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดของอาการโคลิก หากลูกสงสัยภาวะดังกล่าว ควรตรวจประเมินโดยแพทย์ก่อนค่ะ เพื่อช่วยหาสาเหตุอื่นๆ ที่สามารถแก้ไขได้ เช่น แพ้นมวัว หรือ กรดไหลย้อน เป็นต้น

ร้องโคลิก ต้องระวังอย่างไร? 

สิ่งที่ต้องระวังคือ ห้ามเขย่าเด็กแรงๆ ให้เด็กหยุดร้องอย่างเด็ดขาด เนื่องจากจะทําให้หลอดเลือดในสมองฉีกขาด เลือดออกในสมองได้ง่าย ทําให้เด็กพิการหรือเสียชีวิตได้ หากตรวจไม่พบความผิดปกติ และได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโคลิค สามารถลองช่วยเหลือลูกตามนี้ค่ะ

ลูกเป็นโคลิก ลูกร้องโคลิก ให้ช่วยเหลือตามนี้

ตรวจดูให้แน่ใจก่อนว่า ลูกไม่ได้หิว แพมเพิร์สเลอะ หรือเจ็บป่วยไม่สบายตัว อากาศร้อนหรือหนาวเกินไป (อุณหภูมิที่เหมาะสมคือ 25-26 องศา)

  • ใช้จุกหลอก ห่อตัวให้แน่นๆ ให้ลูกอบอุ่น
  • ไกวเปลหรือโยกไปมา ใส่ไว้ในเป้อุ้ม เดินไปมา
  • พาไปขับรถเล่น เด็กบางคนชอบนั่งรถตากลม หรือบางคนขึ้นรถแล้วรู้สึกง่วงนอน (จากประสบการณ์ หมอเคยเจอพ่อแม่หลายคนชอบบ่นค่ะว่า อยู่บ้านร้องไห้ไม่หยุดเลยพาลูกขี้นรถมาหาหมอ แต่พอมาถึง รพ. ลูกเงียบกริบทุกที)
  • นวดสัมผัสทารก เหมือนเปิดสปาให้ลูก ช่วยให้ลูกผ่อนคลาย
  • ประคบอุ่นบริเวณท้อง (การแพทย์เชื่อว่าโคลิกอาจเกิดจากอาการปวดท้อง)
  • กรณีกินนมผสม สามารถลองเปลี่ยนสูตร เป็นนมสูตรป้องกันภูมิแพ้ หรือสูตรสบายท้อง (เดี๋ยวนี้ บางยี่ห้อมีผลิตนมสูตรสําหรับเด็กโคลิกโดยเฉพาะแล้ว)
  • หากลูกกินนมแม่ สังเกตอาหารที่แม่ทาน อาจมีผลทําให้ลูกไม่สบายท้องได้ค่ะ เช่น นมวัว คาเฟอีน อาหารรสจัด
  • เปิดเพลงให้ลูกฟัง โดยเฉพาะเพลงที่คุ้นเคย (เด็กบางคนจะคุ้นเคยกับเพลงที่แม่เปิดฟังบ่อยๆ ในช่วงเดือนสุดท้ายก่อนคลอด)
  • พยายามทําห้องให้เงียบทีสุด ทําทุกอย่างช้าๆ นุ่มนวลที่สุด แสงน้อยที่สุด คนน้อยที่สุด

หากทําทุกวิถีทางแล้ว ลูกยังคงร้องเพลงให้เราฟังต่อไป แนะนําให้วางลูกไว้ ปล่อยเขาร้องจนหยุดเองได้ค่ะ เราสามารถเดินไปสูดอากาศหรือสงบอารมณ์สัก 10 นาที แล้วค่อยกลับมาใหม่ได้ค่ะ ดูแลร่างกายจิตใจตัวเองบ้างไม่ใช่สิ้งผิด ถ้าไม่ไหวจริงๆ อย่าลืมสะกิดคนข้างๆ ขอให้เราได้พักบ้างนะคะ ด้วยความห่วงใยค่ะ

บทความโดย: พญ.พรนิภา ศรีประเสริฐ (กุมารแพทย์)

ติดตามเรื่องเด็กๆ by หมอแอม ตอบทุกปัญหาเกี่ยวกับเด็ก
ในรูปแบบ VDO "ทุกวันพฤหัสบดี" ได้ที่ ช่อง youtube : 
Mamaexpert official