การดิ้นของทารกในครรภ์ … เริ่มเมื่อไหร่

16 December 2012
12005 view

ทำไมทารกในครรภ์ต้องดิ้น?

การดิ้นของทารกในครรภ์ บอกอะไรเราหลายอย่าง ที่แน่ๆ ก็เป็นสัญญาณหนึ่งที่บ่งบอกว่าลูกยังมีชีวิตอยู่ การดิ้นของทารกในแต่และช่วงเวลา และช่วงอายุครรภ์ อาจแสดงให้เห็นในแบบต่างๆ กัน เช่น ในช่วงไตรมาสแรก คุณแม่แทบไม่ทราบเลยว่าลูกมีการดิ้นเกิดขึ้นแล้ว โดยเด็กจะเริ่มดิ้นตั้งแต่อายุครรภ์ประมาณ 6 – 7 สัปดาห์ จะเห็นก็จากตอนที่คุณหมอทำการตรวจอัลตราซาวด์ให้ดู เด็กจะมีการเคลื่อนไหวของแขนขา กระโดดเด้งตัว ลอยไปลอยมาในถุงน้ำคร่ำ เนื่องจากลูกยังเล็กมาก จึงไม่ทำให้เกิดความรู้สึกรับรู้ในท้องแม่ เนื่องจากการที่แม่ท้องจะรับรู้การดิ้นของลูกได้ ต้องมีอวัยวะส่วนหนึ่งส่วนใด ของทารกสัมผัสโดยตรงกับผนังมดลูกแม่ ซึ่งต้องมีความแรงพอสมควร ที่ทำให้แม่รับรู้ได้ ดังนั้นในช่วงเล็กๆ เด็กทารกตัวเล็ก จึงไม่ได้ดิ้นแรงพอให้แม่รู้สึกได้ ต้องรอให้ทารกขนาดใหญ่ขึ้น จนมีแรงดิ้นแรงพอให้แม่รู้สึกได้ การดิ้นบางครั้งเป็นการตอบสนองต่อสิ่งเร้าจากภายนอกที่มากระตุ้น เช่น เสียงเพลง แสง หรือการสัมผัสที่ท้องของพ่อและแม่ จะเห็นว่าลูกมีการตอบสนองต่อสิ่งเหล่านี้ได้ เมื่ออวัยวะรับสัมผัสเหล่านี้เริ่มพัฒนา ซึ่งถือว่าเป็นสัญญาณที่ดีที่ลูกจะได้เรียนรู้ และตอบสนองต่อสิ่งต่างๆ ที่มากระตุ้น เพื่อสร้างให้เกิดพัฒนาการของทารกตั้งแต่อยู่ในครรภ์

ทารกในครรภ์เริ่มดิ้นตั้งแต่เมื่อไหร่?

ในท้องแรกที่แม่ยังไม่มีประสบการณ์การตั้งครรภ์มาก่อน ดังนั้นการรับความรู้สึกว่าลูกดิ้น ในครรภ์แรก (ท้องแรก) จะตกประมาณอายุครรภ์ 18 – 20 สัปดาห์ ส่วนในท้องหลังที่แม่มีประสบการณ์ตั้งครรภ์มาแล้ว จะรับรู้ความรู้สึกลูกดิ้นได้เร็วขึ้น 2 – 4 สัปดาห์ คือประมาณ 16 – 18 สัปดาห์ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่นๆที่อาจมีอิทธิพลต่อการรับรู้การดิ้นของทารกในครรภ์ เช่น ปริมาณน้ำคร่ำ ถ้าน้ำคร่ำปริมาณมาก ผนังหน้าท้องจะตึง โอกาสที่ส่วนของทารกสัมผัสกับผนังมดลูก ก็น้อยกว่าในภาวะน้ำคร่ำที่น้อย โอกาสรับรู้การดิ้นก็น้อยลง ความหนาของผนังหน้าท้องแม่ ในแม่ที่หน้าท้องหนา (ท้วมหรืออ้วน) ก็รู้สึกรับรู้การดิ้นน้อยกว่าแม่ที่ผนังหน้าท้องบาง รวมถึงตำแหน่งการเกาะของรก ถ้ารกเกาะขวางทางด้านหน้า เสมือนเพิ่มความหนาของผนังหน้าท้อง การรับรู้การดิ้นก็น้อยลง นอกจากนี้ท่าทางของลูกในท้อง รวมถึงขนาดและจำนวนของทารกในครรภ์ ก็มีผลต่อการรับรู้ของแม่ต่อการดิ้นของลูกในท้อง นอกจากนี้การที่แม่เคยไปรับการตรวจอัลตราซาวด์ดูทารกในครรภ์มาก่อน การได้เห็นทารกที่กำลังดิ้นขณะตรวจ ก็จะทำให้แม่เห็นภาพและเข้าใจรับรู้ถึงการดิ้นของลูกได้เร็วขึ้นเช่นกัน

การที่ทารกสะอึก เป็นการดิ้นหรือไม่?

การสะอึกของทารกในครรภ์ (hiccups)  เป็นการเคลื่อนไหวแบบหนึ่งที่ดูเหมือนการดิ้น แต่ไม่นับว่าเป็นลูกดิ้น เป็นการเคลื่อนไหวแบบกระตุก เป็นจังหวะที่สม่ำเสมอ ระยะห่างประมาณ 1 วินาที ถ้าได้เห็นจากการตรวจอัลตร้าซาวด์ จะเห็นผนังทรวงอกมีการหดเกร็งเป็นจังหวะสม่ำเสมอ จนบางคนคิดว่าเป็นการเต้นของหัวใจ (โดยปกติการเต้นของหัวใจทารกจะมีอัตรา 120-160 ครั้งต่อนาที เฉลี่ย 2-3 ครั้งต่อ วินาที ซึ่งเร็วกว่าอัตราการสะอึกมาก และเสียงหัวใจไม่สามารถรับรู้หรือได้ยินด้วยหูปกติ จะเห็นว่าหมอต้องใช้หูฟัง หรือเครื่องตรวจเสียงหัวใจลูกมาขยายสัญญาณเสียงหัวใจลูกเป็นสิบเป็นร้อยเท่าจึงจะได้ยินเสียงหัวใจลูกเต้นได้) อาการสะอึกของทารกในครรภ์ เป็นอาการปกติที่เกิดขึ้นได้ ขณะอายุครรภ์ประมาณ 28-32 สัปดาห์ เป็นสัญญาณที่บ่งบอกถึงการพัฒนาการของระบบหายใจของทารกในครรภ์ที่เริ่มทำงาน เมื่อมีการหายและกลืนน้ำคร่ำที่ไม่สัมพันธ์กัน เด็กก็จะเกิดอาการสะอึก เหมือนอาการสะอึกของผู้ใหญ่เช่นกัน ไม่ต้องทำอะไร สักพักอาการสะอึกจะหายไปเอง ไม่ถือว่าเป็นอาการที่ผิดปกติ แต่ไม่นับเป็นลูกดิ้น

ควรนับลูกดิ้นหรือไม่ และเริ่มนับตั้งแต่เมื่อไหร่ ?

โดยปกติในช่วงอายุครรภ์เล็กๆ การเคลื่อนไหวของทารกเป็นแบบไร้ทิศทาง ไม่มีแบบแผน เป็นเหมือนสิ่งที่เกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ แต่เมื่อระบบประสาทต่างๆพัฒนาขึ้น โดยเฉพาะในช่วงตั้งแต่ 28 สัปดาห์เป็นต้นไป จนถึงระบบประสาทที่พัฒนาสมบูรณ์เมื่ออายุครรภ์ประมาณ 32 สัปดาห์ ดังนั้นหลัง 32 สัปดาห์เป็นต้นไป การนับการดิ้นก็สามารถบ่งบอก หรือช่วยในการประเมินสุขภาพของทารกในครรภ์ได้ว่าเด็กยังปกติ มีสุขภาพแข็งแรงดีหรือไม่ จะเห็นได้จากการประเมินสุขภาพของสูตินรีแพทย์อันหนึ่งที่เรียกว่า BPP (Biophysical Profile) โดยการใช้เครื่องตรวจอัลตร้าซาวด์ติดตามการเคลื่อนไหวของทารกในครรภ์ โดยดูจาก การหายใจ (Fetal breathing) การเคลื่อนไหวของทารกทั้งลำตัวและแขนขา (Fetal movement) การยืดหดของอวัยวะที่เป็นข้อพับ เช่น มือ ขา หรือนิ้ว (Fetal tone) ร่วมกับปริมาณน้ำคร่ำ (AF: Amniotic fluid) และการตรวจเคลื่อนเสียงหัวใจลูก (NST: Non-stress test) สามารถบอกถึงสุขภาพทารกในครรภ์ ในระยะ 7 วันข้างหน้านับจากวันที่ทำการตรวจได้ ดังนั้นการนับลูกดิ้นก็เช่นกัน ควรแนะนำให้หญิงตั้งครรภ์ทุกคนได้ริ่มนับตั้งแต่อายุครรภ์ 32 สัปดาห์ หรือเริ่มตั้งแต่ 28 สัปดาห์ในรายที่ตั้งครรภ์มีความเสี่ยงสูง (High risk pregnancy)เช่น แม่ที่เป็นเบาหวาน หรือความดันโลหิตสูง เนื่องจากการนับลูกดิ้นทำโดยแม่ ที่มีความใกล้ชิดลูกมากที่สุด เพราะอยู่ด้วยกันตลอดเวลา และไม่มีค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการทำ แต่ผลที่ได้ช่วยลดปัญหาในเรื่องทารกเสียชีวิตในครรภ์ลงได้ เนื่องจากเด็กที่อยู่ในท้อง ถ้ามีปัญหาสุขภาพไม่ดีหรือป่วย เด็กพวกนี้ไม่ได้เสียชีวิตในทันที จะค่อยๆซึมและดิ้นน้อยลง ถ้าเราให้ความสำคัญและนับการดิ้นของลูกอยู่เป็นประจำ ก็จะสามารถทราบการเปลี่ยนแปลงที่ผิดปกติได้จากการดิ้น เช่น ดิ้นน้อยลงหรือดิ้นน้อยกว่าปกติ  ก่อนที่ลูกจะเสียชีวิตในครรภ์ได้

พว.นฤมล  เปรมปราโมทย์ เรียบเรียง
ขอบคุณภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต