อาการแพ้ท้อง สาเหตุ และวิธีการดูแลเมื่อมีอาการแพ้ท้อง

29 October 2016
29216 view

อาการแพ้ท้อง

อาการแพ้ท้องเป็นอาการที่พบได้บ่อยในหญิงตั้งครรภ์ทั้งหลาย พบได้ประมาณร้อยละ 80 เลยทีเดียวที่ภายหลังตั้งครรภ์ไม่นาน จะเริ่มมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน เวียนศรีษะ อ่อนเพลีย ซึ่งอาการเหล่านี้เรียกรวมๆ กันว่า “แพ้ท้อง” ซึ่งตรงกับภาษาอังกฤษว่า “Morning Sickness” (อาการเจ็บป่วยตอนเช้า) เพราะเดิมทีเคยมีผู้สังเกตว่าอาการสารพัดที่ว่าของคุณแม่ท้องมักเกิดตอนเช้า  ความรุนแรงของการแพ้ท้องที่พบในหญิงตั้งครรภ์แต่ละคนไม่เท่ากันหรือแม้แต่ในหญิงตั้งครรภ์คนเดียวกัน แต่เป็นการตั้งครรภ์คนละครั้ง อาการแพ้ท้องก็ยังไม่เท่ากันเลยค่ะ ในทางการแพทย์ เราแบ่งอาการแพ้ท้องออกเป็น 3 ระดับง่ายๆ คือ แพ้ท้องเล็กน้อย ปานกลาง และรุนแรง

ระดับของอาการแพ้ท้อง

  • แพ้ท้องเล็กน้อย กรณีนี้คุณแม่อาจมีอาการคลื่นไส้เล็กน้อย เวียนศรีษะเล็กน้อย แต่ก็ยังพอรับประทานอาหารได้แม้ว่าจะรับประทานได้น้อยลงไปบ้างก็ตาม กรณีที่เป็นเช่นนี้ก็ไม่จำเป็นต้องให้การดูแลอะไรเป็นพิเศษ เพียงแต่แนะนำให้รับประทานอาหารให้ถูกวิธีก็พอ
  • แพ้ท้องปานกลาง คุณแม่ในกลุ่มนี้จะคลื่นไส้มากกว่ากลุ่มแรก อาจมีอาการอาเจียนเป็นครั้งคราว รับประทานอาหารไม่ได้เป็นช่วงๆ ปัสสาวะสีเข้มขึ้น ซึ่งเกิดจากการที่ร่างกายขาดน้ำ กลุ่มนี้บางทีอาจจะต้องรับไว้ในโรงพยาบาลเพื่อให้น้ำเกลือและยาแก้อาเจียน รวมทั้งการแนะนำให้ปรับวิธีรับประทานอาหาร อาการแพ้ท้องก็จะบรรเทาลงได้
  • แพ้ท้องรุนแรง คุณแม่ในกลุ่มนี้มักจะรับประทานอะไรไมได้เลย ทานเข้าไปก็อาเจียนออกมาหมด จนร่างกายขาดทั้งน้ำและอาหาร ซึ่งแสดงให้เห็นโดยจะตรวจพบว่าสภาพร่างกายดูทรุดโทรม ตาลึก ปากแห้ง ผิวหนังเหี่ยว ปัสสาวะสีเข้มเป็นสีขมิ้นถ้าพบคุณแม่ในกลุ่มนี้ล่ะก็หนีไม่พ้นที่จะต้องรับไว้รักษาในโรงพยาบาล พวกนี้ต้องได้รับน้ำเกลือและน้ำอย่างเต็มที่ มิฉะนั้นอาจจะเป็นอันตราย เพราะถ้าร่างกายขาดน้ำมากๆ อาจจะเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น ไตวาย ฯลฯ คุณแม่ในกลุ่มนี้บางคนอาเจียนจนหลอดเลือดที่อยู่บริเวณหลอดอาหารมีการฉีกขาด ทำให้เวลาอาเจียนจะเห็นเลือดปนมากับเศษอาหาร บางคนอาเจียนออกมาแล้วได้น้ำสีเหลืองๆ รู้สึกขมคอมากก็มี อาการหลังที่ว่านี้เกิดจากการอาเจียนมากจนไปกระตุ้นให้น้ำดีทะลักออกมาด้วย

สาเหตุของการแพ้ท้อง

สาเหตุการวงการแพทย์พยายามหาคำตอบว่าเมื่อตั้งครรภ์แล้ว ทำไมถึงเกิดอาการแพ้ท้องคลื่นไส้อาเจียน กินอาหารไม่ได้ ฯลฯ ซึ่งก็มีการหาทฤษฎีมาโยงใยมากมาย แต่ข้อมูลความจริงที่พบ ได้แก่ มีความผิดปกติบางอย่าง คุณแม่ที่แพ้ท้องมากๆ มักจะมีการตั้งครรภ์ที่ผิดปกติ เช่น ครรภ์แฝด ครรภ์ไข่ปลาอุก อย่างเช่นคุณพลอยกับคุณไข่มุก ซึ่งการตั้งครรภ์กลุ่มนี้จะมีฮอร์โมนสร้างรกที่เกิดในช่วงตั้งครรภ์ที่มีชื่อว่าHuman Chorionic Gonadotropin (HCG.เอชซีจี) ค่อนข้างสูง ก็เลยสงสัยว่าระดับฮอร์โมนตัวนี้อาจจะไปกระตุ้นให้เกิดอาการอาเจียนหรือแพ้ท้องมาก  แพ้ช่วงไตรมาสแรก อาการแพ้ท้องมักเกิดในช่วงที่มีการตั้งครรภ์ใหม่ๆ เช่น ช่วง 3 เดือนแรก หลังจากนั้นเมื่อการตั้งครรภ์ดำเนินต่อไปเรื่อยๆ อาการแพ้ท้องก็จะบรรเทาลงและหายไปในที่สุด ประเด็นนี้จึงมีคนตั้งสมมติฐานขึ้นมาในช่วง 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ ถ้าดูให้ดีจะพบว่าเป็นช่วงที่ทารกในครรภ์กำลังมีการสร้างอวัยวะต่างๆ อย่างมากมายและรวดเร็ว หากมีการสะดุดหรือหยุดลงด้วยสาเหตุใดก็ตามอาจทำให้ทารกพิการได้ ตัวการที่จะทำให้กระบวนการสร้างอวัยวะของทารกสะดุดและหยุดมีมากมายหลายสาเหตุ แต่ส่วนมากมักจะเป็นยาหรือสารอาหารบางอย่างที่ฉีดหรือรับประทานเข้าไป อาจเป็นไปได้ว่าอาการแพ้ที่เกิดขึ้นเป็นกลไกธรรมชาติที่ไม่อยากให้คุณแม่กินอะไรเข้าไปมากเพราะเกรงว่าถ้าหากรับประทานแบบไม่ระมัดระวังแล้วเผอิญสิ่งรับประทานเข้าไปเป็นสารพิษ ก็จะทำให้ลูกในครรภ์ได้รับอันตรายได้ ธรรมชาติจึงทำให้คุณแม่อยากอาเจียนสิ่งที่รับประทานเข้าไป ลูกในท้องจะได้ไม่เสี่ยงอันตราย ไม่จำเป็นต้องแพ้ทุกคน คุณแม่บางคนไม่แพ้ท้องเลยก็มี ถ้าเป็นเช่นนี้ก็ไม่ต้องกังวลว่าลูกในท้องจะได้รับอันตรายจากอาหารการกินหรือเปล่า เพราะเท่าที่วงการแพทย์ศึกษากันมาก็ไม่พบว่าลูกในท้องของแม่ที่ไม่แพ้ท้องเลยจะมีปัญหามากกว่าลูกของคุณแม่ที่แพ้ท้องมากแต่อย่างใด สภาพจิตใจ คุณแม่บางคนแม้การตั้งครรภ์จะดำเนินไปเกิน 3 เดือนแล้วก็ตามก็อาจจะยังแพ้ท้องอยู่ได้ บางคนแพ้ท้องจนคลอดเลยก็มี กรณีเช่นนี้พบว่าส่วนมากเกี่ยวกับสภาพจิตใจขณะตั้งครรภ์มากกว่าเรื่องของฮอร์โมนหรือความผิดปกติอื่นๆ เช่น พบว่าคุณแม่ที่ต้องอยู่คนเดียวขณะตั้งครรภ์ คุณแม่ที่เลิกกับสามีขณะตั้งครรภ์หรือคุณแม่ที่สามีทำงานในที่ห่างไกลนานๆ ถึงจะได้กลับมาหา พวกนี้จะแพ้ท้องมากแต่ในทางตรงกันข้ามคุณแม่ที่ได้รับการดูแลประคบประหงมมากเกินไป ก็อาจมีอาการแพ้ท้องมากได้เช่นเดียวกัน อย่างไรก็ตามจนถึงปัจจุบันนี้ก็ยังไม่มีข้อมูลทางการแพทย์ที่ยืนยันแน่ชัดถึงสาเหตุของการแพ้ท้อง 

อาการแพ้ท้องอันตรายหรือไม่

จริงๆ แล้วอาการแพ้ท้องไม่ใช่ตัวโรคแต่เป็นผลจากการตั้งครรภ์ ซึ่งอาจจะเป็นการตั้งครรภ์ที่ปกติและผิดปกติก็ได้ ดังจะเห็นได้จากตัวอย่างคนไข้ทั้ง 3 รายข้างต้นและตัวอาการแพ้ท้องเองจะหายไปได้เองอยู่แล้วเมื่อการตั้งครรภ์ดำเนินต่อไปเรื่อยๆ คุณแม่หลายคนกังวลว่า การมีอาการแพ้ท้องโดยเฉพาะการแพ้ท้องที่รุนแรงจะทำให้ตัวเองและลูกในครรภ์เป็นอันตรายหรือไม่ ผมอยากเรียนว่าถ้าการแพ้ท้องนั้นเป็นในคนที่มีการตั้งครรภ์ปกติ ผมยังไม่เคยเห็นคุณแม่คนไหนแพ้ท้องจนตายเลย เช่นเดียวกับลูกในครรภ์ ต่อให้แม่อ้วกแตกอ้วกแตนจนน้ำหนักลดไป 5-10 กิโลกรัม ลูกในครรภ์ก็ยังอยู่ได้ปกติดี เนื่องจากลูกจะดึงเอาสารอาหารในตัวแม่จากไขมัน ตับ กล้ามเนื้อ มาใช้แทนอาหารที่ขาดแคลนไป ซึ่งปริมาณอาหารจากแหล่งต่างๆ เหล่านี้นี้เหลือเพียงพอที่จะเลี้ยงลูก เพราะในช่วงไตรมาสแรกที่แพ้ท้องลูกในครรภ์ยังตัวเล็กมารก แต่ประมาณปลายเล็บเท่านั้นเอง จึงไม่ได้ใช้อาหารอะไรมากเลย

วิธีการดูแลเมื่อมีอาการแพ้ท้อง 

สำหรับการดูแลรักษาอาการแพ้ท้องแบ่งออกเป็น 2 วิธีคือ

1. รักษาจากเหตุที่ทำให้แพ้ท้อง กรณีของคุณเพชรและคุณพลอยซึ่งเป็นการตั้งครรภ์ปกติและครรภ์แฝด ก็คงจะให้ฝากครรภ์ต่อและรักษาแบบประคับประคองต่อไป แต่ถ้าเป็นกรณีของคุณไข่มุกที่ตั้งครรภ์ไข่ปลาอุกซึ่งเป็นการตั้งครรภ์ที่ผิดปกติชนิดหนึ่ง ก็ต้องรักษาด้วยการยุติการตั้งครรภ์โดยการขูดมดลูก ก็จะทำให้อาการแพ้ท้องหายไป

2. รักษาแบบประคับประคอง เป็นการดูแลเพื่อช่วยบรรเทาอาการแพ้ท้องที่เกิดขึ้น

  • ปรับเรื่องอาหารการกิน หากรับประทานตั้งละมากๆ ร่างกายจะทำงานไม่ไหวเนื่องจากระบบการทำงานของลำไส้ของคุณแม่ในช่วงที่ตั้งครรภ์จะทำงานไม่ไหวเนื่องจากระบบการทำงานของลำไส้ของคุณแม่ในช่วงที่ตั้งครรภ์จะทำงานได้ช้าย่อยอาหารยาก จึงทำให้ยิ่งกระตุ้นให้เกิดอาการคลื่นไส้อาเจียนมากขึ้น ดังนั้นควรปรับเปลี่ยนวิธีรับประทานอาหารเป็นรับประทานครั้งละน้อยแต่บ่อยครั้งขึ้นเพื่อให้ร่างกายปรับตัวย่อยอาหารได้ทันและควรเลือกอาหารอ่อนๆ ย่อยง่ายๆ เช่นข้าวต้ม โจ๊ก ไม่ควรกินของดอง น้ำอัดลมที่จะทำให้เกิดแก๊สมาก เพราะจะยิ่งทำให้คลื่นไส้มากขึ้น
  • ให้ยาช่วย มียาหลายชนิดที่จะบรรเทาอาการแพ้ท้อง ซึ่งจะไประงับหรือบรรเทาอาการคลื่นไส้ให้ลดให้ลดลง มีทั้งแบบยาฉีดและยารับประทาน ซึ่งคุณหมอจะพิจารณาให้ตามความรุนแรงเพราะยากลุ่มนี้รับประทานแล้วทำให้ง่วงนอน ถ้ารับประทานมากก็อาจจะทำให้ทำงานไม่ได้ นอกจากนั้นคุณแม่ยังท้องอืดง่าย มีลมในท้องมาก คุณหมออาจจะให้ยาขับลม ยาช่วยย่อย ให้รับประทานคู่กันก็จะช่วยบรรเทาอาการแพ้ท้องให้ดีขึ้น รวมถึงอาจจะใช้วิธีจิบน้ำขิงก็ช่วยได้เช่นกัน
  • ให้น้ำเกลือ ในกรณีที่เป็นรุนแรงอาจจะต้องให้อาหารผ่านทางน้ำเกลือ ซึ่งอาจจะเป็นวิตามินหรือยาแก้แพ้ผสมเข้าไปด้วย เช่น วิตามินบี 6 ความเข้มข้นสูง ที่ช่วยแก้คลื่นไส้อาเจียนได้ เป็นต้น
  • ดูแลจิตใจ คนที่รับประทานอาหารไม่ได้ คลื่นไส้ เวียนศรีษะ ย่อมจะทำให้อารมณ์ไม่ค่อยดี หงุดหงิด เหนื่อยอ่อนเพลีย เพราะฉะนั้นผู้ที่ดูแล สามี และครอบครัวควรให้กำลังใจและให้ความช่วยเหลือในการดูแลสนับสนุนทางจิตใจ ก็จะช่วยให้อาการดีเร็วขึ้น จากการศึกษาทางการแพทย์เราพบว่า คนที่ท้องแล้วพบว่าถูกทิ้งให้อยู่คนเดียวหรือต้องทำงานหนักก็จะยิ่งทำให้อาการรุนแรงยิ่งขึ้นได้

อาการแพ้ท้องเป็นอาการปกติของหญิงตั้งครรภ์ มักจะเป็นช่วงแรกของการตั้งครรภ์และจะหายไปได้เองเมื่อพ้นไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์ การรักษาแบบประคับประคอง รับประทานยาที่จำเป็น ปรับเปลี่ยนการรับประทานอาหารและการช่วยเหลือดูแลจากครอบครัวและคนรักอย่างถูกต้องจะช่วยให้คุณแม่ผ่านพ้นภาวะยากลำบากนี้ไปได้อย่างไรก็ตามอาการแพ้ท้องอาจเกิดจากโรคหรือความผิดปกติของการตั้งครรภ์ได้เช่นเดียวกัน ดังนั้นก่อนจะให้การดูแลรักษากันต่อไป ควรให้คุณหมอวินิจฉัยเสียก่อนว่าเป็นการตั้งครรภ์ปกติขอให้คุณแม่ตั้งครรภ์ทุกท่านสุขภาพแข็งแรงสมบูรณ์ และผ่านพ้นช่วงเวลาของการแพ้ท้องได้อย่างราบรื่นค่ะ

บทความแนะนำเพิ่มเติม

1. ยารักษาอาการแพ้ท้อง … ที่ปลอดภัย

2. แพ้ท้องแทนภรรยา นักวิจัยค้นพบมีจริงๆนะ

2. แพ้ท้องรุนแรงอันตรายต่อแม่และทารกในครรภ์จริงหรือ?

เรียบเรียงโดย : Mamaexpert Editorial Team