ไวรัสลงกระเพาะในเด็ก โรคอันตรายต้องรีบรักษาเมื่อเริ่มมีอาการ

21 October 2015
37714 view

ไวรัสลงกระเพาะในเด็ก

ไวรัสลงกระเพาะ หรือ โรคกระเพาะอาหารและลำไส้อักเสบ เกิดจากเชื้อโรคหรือพิษของเชื้อโรค ทั้งเชื้อไวรัส และเชื้อแบคทีเรีย ที่พบบ่อยในเด็กเล็ก มักเกิดจากเชื้อไวรัส ส่วนใหญ่เกิดจาก ไวรัสโรตา (Rotavirus) พบได้ถึงร้อยละ 16 ถึง 58  ซึ่งติดต่อโดยการสัมผัสกับสารคัดหลั่ง เช่น น้ำมูก น้ำลาย อุจจาระ จากการคลุกคลีกับผู้ป่วยโดยตรงหรือการสัมผัสสิ่งของที่มีเชื้ออยู่แล้วเอามือเข้าปาก เนื่องจากบางครั้งผู้ป่วยอาจมีอาการหวัดนำมาก่อน จึงอาจเรียกโรคนี้อีกอย่างว่า โรคไวรัสหรือหวัดลงกระเพาะและลำไส้

อาการแสดงที่บ่งบอกว่าลูกอาจเป็นไวรัสลงกระเพาะ 

หลังจากได้รับเชื้อลูกจะมีอาการ คลื่นไส้ อาเจียน  ปวดท้อง ในเด็กเล็กจะร้องกวนมาก งอแงนอนไม่ได้ และมีอาการถ่ายเหลว ถ่ายบ่อย มีไข้ อาจมีอาการ2-3 หรือ นานเรื้อรังเป็นสัปดาห์ หากเกิดจากการติดเชื้อไวรัสลูกจะมีอาการไข้ต่ำๆ หรือไข้สูง ร่วมกับถ่ายเหลง แต่ถ้าเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ลูกจะมีไข้ร่วมกับถ่ายอุจจาระมีมูกปน หรือมีทั้งมูกและเลือดปนออกมาด้วย

การดูแลรักษาเบื้องต้นเมื่อลูกเป็นไวรัสลงกระเพาะ

การดูแลเบื้องต้น คือ การให้ยาระงับอาการ เช่น ยาลดไข้ ยาแก้อาเจียน ยาแก้ปวดท้อง ยาขับลม ดังนี้

  1. ยาแก้อาเจียน คือ Domperidone หรือ Motilium ขนาดยา คือ ครึ่งช้อนชา (2.5 ซีซี) ต่อน้ำหนักตัว 10 กก. ทานก่อนอาหารครึ่งชม. วันละ 3-4 ครั้ง ไม่ควรทานยาแล้วทานอาหารทันทีเพราะอาจอาเจียนได้อีก เนื่องจากยายังไม่ได้ดูดซึมเข้าร่างกาย

  2. ยาแก้ปวดท้อง คือ Berclomine ให้ในรายที่มีอาการปวดเกร็ง ปวดบิด ขนาดยา เหมือนยาแก้อาเจียน แต่ทานหลังอาหาร

  3. ยาขับลม คือ Simethicone แก้ท้องอืด ลดแก๊ส ทานครั้งละ 0.5-1 ซีซี ทุก 2-4 ชม

  4. ให้อาหารอ่อนย่อยง่าย ครั้งละน้อยๆ เช่น ข้าวต้มครั้งละ 5-6 คำ แต่ให้บ่อยๆ ไม่เลี่ยนมัน ชงนมจางกว่าปกติให้ดื่มครั้งละไม่เกินครึ่งหนึ่งของปริมาณปกติ เพื่อไม่ให้ลำไส้ทำงานหนัก

  5. ให้จิบน้ำเกลือแร่ ORS เพื่อทดแทนของเหลวที่เสียไป ลูกจะได้ไม่มีอาการอ่อนเพลียจากการเสียสมดุลเกลือแร่ในร่างกาย 

  6. งดของแสลง เวลาที่ท้องเสียจนกว่าอาการจะดีขึ้น เช่น ผัก ผลไม้ ไข่ นมวัว เปลี่ยนเป็นนมถั่วเหลือง หรือ lactose free formula เช่น Olac หรือ Similac LFหากลูกไม่ยอมเปลี่ยน อาจลองชงนมเดิมที่กินอยู่แต่ให้เจือจางกว่าปกติเท่าตัว ในกรณีที่ไม่ยอมทานนมถั่ว เน้นให้ทานข้าวต้ม หรือโจ๊กใส่เนื้อสัตว์ดีกว่าฝืนทานนมวัวต่อเพราะจะทำให้หายช้า และเมื่ออาการดีขึ้นต้องค่อยๆกลับไปทานอาหารตามปกติ อย่ารีบร้อนเปลี่ยนทันทีเพราะอาจกลับไปท้องเสียใหม่ได้ เช่น ค่อยๆผสมนมที่คุ้นเคยกลับมาครั้งละน้อยๆแล้วค่อยๆเพิ่ม ในกรณีที่ลูกดูดนมแม่ สามารถให้ได้ตามปกติ ไม่ต้องงดค่ะ ยกเว้นถ่ายบ่อยเกิน 5 ครั้ง/วัน ให้คุณแม่ปั๊มนมส่วนต้นออกไปเก็บไว้ แล้วให้ลูกดูดนมส่วนท้ายซึ่งมีน้ำตาลแลคโตสน้อยกว่า

  7. ระวังก้นแดงจากการถ่ายบ่อย คุณแม่ต้องขยันคอยเปลี่ยนผ้าอ้อมทันทีที่ลุกขับถ่าย ใช้น้ำเปล่าล้างให้สะอาด งดสบู่เพราะทำให้ผิวบริเวณก้นลูกให้แดง หลังล้างเช็ดให้แห้งและอาจทาวาสลีนหรือปิโตรเลียมเจลเคลือบผิวบริเวณก้น เพื่อช่วยบรรเทาการระคายเคืองจากเศษอุจจาระจะช่วยป้องกันไม่ให้ก้นแดงได้ หากมีปัญหาผื่นแดงขึ้นแล้วให้ทาครีมทาผื่นผ้าอ้อมทาบ่อยๆ และไม่ใส่ผ้าอ้อมเพื่อให้ผิวหนังโดนอากาศจะได้หายเร็วขึ้น หากทายาผื่นผ้าอ้อมแล้วยังไม่ดีขึ้น อาจเป็นเพราะติดเชื้อรา ให้ใช้ยากำจัดเชื้อรา เช่น Clotrimazole cream

  8. ห้ามให้ยาหยุดถ่ายในเด็ก เพราะทำให้เชื้อโรคคั่งในร่างกายจนเป็นอันตราย หรือจะมีอาการปวดมวนท้องมากขึ้น

การป้องกัน ไวรัสลงกระเพาะในเด็ก 

ไวรัสลงกระเพาะมีวัคซีนป้องกัน คือวัคซีนป้องกันการติดเชื้อทางเดินอาหารจากเชื้อไวรัส Rotavirus วัคซีนชนิดนี้จัดอยู่ในประเภทวัคซีนทาเลือก คุณพ่อคุณแม่จะให้ลูกฉีดหรือไม่ก็ได้ เพราะมีราคาสูง  แต่อย่างที่ทราบไวรัสมีหลากหลายสายพันธุ์ อีกทั้งยังมีเชื้อแบคทีเรียที่เป้นสาเหตุร่วมด้วย การได้รับวัคซีน Rota จึงอาจไม่ครอบคลุ่มทั้หมด คุณพ่อคุณแม่จึงควรมุ้งเน้นป้องกันลูกจากการเลี้ยงดู เช่น รับประทานอาหารปรุงสุกใหม่ หรืออุ่นอาหารส๊อกอย่างกูกวิธี ล้างมือบ่อยๆ โดยเฉพาะหลังขับถ่าย  หากมีผู้ป่วยด้วยโรคไวรัสลงกระเพาะอยู่ในบ้าน หรือ อยู่ห้องเรียนเดียวกัน ควรมีการแยกระหว่างเด็กป่วย และเด็กปกติ เพราะเชื้อโรคปนเปื้อนมากับน้ำมูกน้ำลาย และการใช้ของร่วมกันอาจปนเปื้อนเชื้อได้ 

เมื่อลูกป่วยด้วยโรคไวรัสลงกระเพาะ หากคุณแม่ได้ให้การดูแลเบื้องต้นแล้ว แต่ลูกอาการไม่ดีขึ้น และมีอาการ อาจียนมากขึ้น ปัสสาวะออกน้อย ซึมลง ถ่ายอุจจาระมีเลือดปน และมีกลิ่นเหม็นคาวหรือถ่ายเหลงรุนแรงควรพาลูกไปโรงพยาบาลและนำอุจจาระไปตรวจด้วย

บทความแนะนำสำหรับคุณแม่

1. การขับถ่ายของทารก

2. วิธีรับมือเมื่อลูกน้อยถ่ายยาก

3. ปัญหาเด็กท้องผูก

เรียบเรียงโดย : Mamaexpert Editorial Team