ไข้เลือดออกและ 27 ข้อควรรู้เกี่ยวกับไข้เลือดออก

19 January 2017
2751 view

ไข้เลือดออก

ไข้เลือดออกเกิดจากเชื้ออะไร 

โรคไข้เลือดออก (dengue hemorrhagic fever หรือ dengue shock syndrome) เกิดจากการติดเชื้อไวรัสไข้เลือดออกเดงกี (dengue virus) ซึ่งมีอยู่ 4 สายพันธุ์ จัดอยู่ในกลุ่ม flavivirus และสามารถแพร่ได้โดยมียุงลายเป็นพาหะ ทั้งนี้องค์การอนามัยโลกคาดการณ์ว่าสถานการณ์ระบาดของไข้เลือดออกในหลายประเทศโดยเฉพาะในเขตร้อนจะรุนแรงขึ้น โดยส่วนหนึ่งเนื่องมาจากภาวะโลกร้อนทำให้ยุงแต่ละชนิดสามารถแพร่พันธุ์ได้มากขึ้น

จะแยกไข้เลือดออกจากไข้อื่นๆอย่างไร 

ไม่ค่อยมีอาการจำเพาะ เด็กจะมีไข้สูงและเป็นหลายวัน (ประมาณ 5-6 วัน) โดยอาจมีอาการหวัด ปวดเมื่อยตัว คลื่นไส้อาเจียนร่วมด้วย ในช่วงฤดูไข้เลือดออก หากลูกมีไข้สูงหลายวัน คุณพ่อคุณแม่ควรนึกถึงการติดเชื้อไข้เลือดออกด้วยเสมอ ควรพาลูกไปพบแพทย์ ไม่ควรพยายามรักษาเอง และควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาลดไข้ประเภทแอสไพรินและไอบูโพรเฟน ซึ่งอาจทำให้ระคายเคืองกระเพาะอาหารและเกิดปัญหาเลือดออกในกระเพาะอาหาร รวมถึงเลือดไม่แข็งตัวเมื่ออาการของไข้เลือดออกเป็นรุนแรงถึงขั้นระยะช็อกได้

วัคซีนไข้เลือดออกมีหรือไม่ 

ปัจจุบันได้มีวัคซีนป้องกันไข้เลือกออก เข้ามาในประเทศไทยแล้ว คุณแม่หลายคนมีความสงสัย เกี่ยวกับประสิทธิภาพของวัคซี่น ว่าคุ้มกันได้จริงหรือไม่ ฉีดแล้วไม่เป็นไข้เลือดออกใช่ไหม วันนี้ Mamaexpert ได้นำรายละเอียดของไข้เลือดออก รวมทั้งวัคซี่นไข้เลือดออก คำถามต่างๆที่คุณแม่อยากรู้ โดยผู้เชี่ยวชาศาสตราจารย์ นายแพทย์ ยง ภู่วรวรรณ  มาฝากทุกบ้านดังนี้ 

27 เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับไข้เลือดออก 

  1. ไข้เลือดออก เกิดจากเชื้อไวรัส เดงกี่ มี 4 สายพันธุ์ 
  2. มียุงลายบ้าน (Aedes aegypti) เป็นพาหะกัด จากคนสู่คน
  3. ระยะฟักตัวของโรคหลังยุงกัด 2-5 วัน
  4. อาการมีได้ตั้งแต่ ไม่มีอาการ อาการไข้ อาเจียน ปวดท้อง เลือดออก (ตามผิวหนัง หรืออกภายใน เช่น อาเจียนเป็นเลือด ถ่ายดำ) รุนแรงจะช็อค เนื่องจากน้ำรั่วออกจากเส้นเลือดรุนแรง ถึงเสียชีวิตได้ ปัจจุบัน อัตราเสียชีวิตน้อยมาก เมื่อเทียบกับอดีต เมื่อ 40-50 ปีก่อน ปัจจุบัน ถ้าเสียชีวิตเป็นเรื่องทุกที
  5. การระบาด จะระบาดใหญ่ ปีเว้นปี หรือปี เว้น 2 ปี เป็นคลื่น ส่วนใหญ่จะระบาดจากเมืองออกไปนอกเมือง
  6. สมัยก่อน เมื่อผมจบใหม่ ๆ (กว่า 30 ปี แล้ว) เคยระบาดใหญ่มาก ในชีวิตผมคือ ปี พศ 2531 โรคเป็นในเด็ก ผู้ใหญ่แทบจะไม่เป็นเลย และจะมีภูมิต้านทาน หมด เมื่อถึงวัยผู้ใหญ่ ทำให้ผู้ใหญ่ไม่เป็นโรค ปัจจุบันอยู่ดีกินดี มีมาตรการป้องกันดีขึ้น สุขอนามัยดีขึ้น อยู่มุ้งลวดอยู่ห้องแอร์ ทำให้โรคติดเชื้อในเด็กน้อยลง อยู่โตเป็นผู้ใหญ่ ยังไม่เคยเป็นเลย ดังนั้นในปัจจุบัน โรคเป็นในผู้ใหญ่เพิ่มขึ้น อายุที่เป็นสูงขึ้นเรื่อย ๆ (เพราะการกินดีอยู่ดี ป้องกันดี)
  7. ไวรัส มี 4 สายพันธุ์ เป็นแล้วจึงเป็นอีกได้ แต่จะเป็น 2 ครั้ง เท่านั้น โดยครั้งแรกอาการจะไม่มาก เช่น ไข้ ไม่ตรวจหาเชื้ออาจไม่รู้ ครั้งที่ 2 จะรุนแรง อาการช็อค หรือเลือดออกได้ (บางคน) ส่วนมากเป็นการติดเชื้อครั้งที่ เมื่อเป็นครบ 2 ครั้งแล้วภูมิที่เกิดขึ้นจะสูงมาก และอยู่ตลอดไป และจะปกป้องได้ทั้ง 4 สายพันธุ์ ทำให้ไม่เป็นโรคนี้อีก
  8. การเป็นครั้งที่ 2 ที่รุนแรง เชื่อว่าเป็นการเสริมจากการติดเชื้อครั้งแรก (immunological enhancement) หรือเป็นตราบาป ของการติดเชื้อครั้งแรก (immunologic sin) การติดเชื้อครั้งที่ 2 ทำให้เกิดรูรั่วของเส้นเลือด มีการทำลายเกล็ดเลือดอย่างมาก จึงนำมาซึ่งอาการรุนแรง ภูฒิคุ้มกันที่เกิดขึ้นครั้งที่ 2 เกิดสูงมากและรวดเร็ว และอยู่นานทำให้ปกป้องครบทั้ง 4 สายพันธุ์
  9. การป้องกันที่ดีที่สุดคือการไม่ให้ยุงกันด โดยเฉพาะยุงลาย กัดกลางวัน
  10. การเป็นครั้งที่ 2 แล้วรุนแรง จึงเป็นข้อจำกัดในการพัฒนาวัคซีน เพราะระบบภูมิต้านทาน ถ้าให้วัคซีนแล้วป้องกันไม่สมบูรณ์ จะทำให้เกิดการติดเชื้อได้อีกถ้าจากธรรมชาติ และเปรียบเทียบเสมือนครั้งที่ 2 จะทำให้เกิดการติดเชื้อรุนแรงขึ้น หลังได้วัคซีน จึงทำให้ รู้จักโรคมานานกว่า 50 ปี การพัฒนาวัคซีนได้ยากมาก ไม่มีวัคซีน เพราะต้องมั่นใจว่าป้องกันแบบสมบูรณ์ทั้ง 4 สายพันธุ์ ไม่เช่นนั้น วัคซีน จะเปรียบเหมือนการติดเชื้อครั้งแรก และต่อมาการติดเชื้อธรรมชาติ เป็นการติดเชื้อครั้งที่ 2 เองอาจก่อให้เกิดอันตรายได้
  11. วัคซีนไข้เลือดออก ที่มีการขึ้นทะเบียน ในประเทศไทย เป็นวัคซันที่เป็นเชื้อเป็นอ่อนฤทธิ์ 4 สายพันธุ์ อนุญาต ให้ใช้ใน endemic area หรือแหล่งระบาดของโรค
  12. การศึกษาของวัคซีนได้ทำการศึกษา และเผยแพร่ผลระยะยาว ถึง 25 เดือน จากโครงการที่จะทำการศึกษาติดตามให้ครบ 6 ปี โดยการศึกษาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งไทย และ ประเทศในลาตินอเมริกา ผลของวัคซีนระยะยาวถึง 6 ปี 
  13. โครงการที่ศึกษาทั้งหมด ประสิทธิผลการป้องกัน แต่ละโครงการย่อย ได้ผลแตกต่าง ไม่เหมือนกัน และจำนวนข้อมูล อาจจะนัอย ไม่พอวิเคราะห์ทางสถิติ ผู้วิจัยจึงรวมทุกโครงการมารวมเผยแพร่ ประชากรฉีดวัคซีนกว่า 20,000 คน และกลุ่มควบคุม กว่าหมื่นคนในเด็กอายุ 2-16 ปี ในแหล่งระบาดของโรค โดยภาพรวม ถ้าไม่ได้ดูว่าผลที่เกิดจากเด็กที่มีภูมิมาก่อนหรือไม่ 
  14. วัคซีนดังกล่าวปลอดภัย จากการติดตามถึง 25 เดือน
  15. การป้องกันโรคในเด็กเล็ก อายุน้อยกว่า 9 ปี ได้ผลน้อยกว่าเมื่อเทียบกับเด็กอายุมากกว่า 9 ปี เด็กโตได้ผลดีกว่าเด็กเล็ก (ผมเข้าใจว่า เด็กโตมีภูมิเคยติดเชื้อไวรัสอยู่บ้างแล้ว จะเสนอตอนต่อไป พรุ่งนี้ ) การให้จึงเหมือนการกระตุ้นภูมิเดิม และวัคซีนนี้ แนะนำให้ในเด็กโต อายุมากกว่า 9 ปี ที่อยู่ในแหล่งระบาดของโรคไข้เลือดออกเท่านั้น และให้ถึงอายุ 45 ปี (ทำไม 45 ปี ผมไม่ทราบ) แต่จากข้อมูลของศูนย์ฯ คนที่อายุเกิน 30 ปี ตรวจพบภูมิต้านทาน Dengue IgG ถึง 95% หรือกว่านั้น แต่ไม่ทราบว่าเป็นครั้งแรก หรือครั้งที่ 2 หรือกล่าวว่าคนที่มีอายุถึง 30 เคยติดเชื้อไข้เลือดออก ในธรรมชาติกว่า 95%
  16. สิ่งที่น่าสนใจและอยากทราบ ผลระยะยาวคือผลของวัคซีนระยะยาว ในคนที่ไม่เคยติดเชื้อมาก่อน โดยเฉพาะผลระยะยาว 6 ปี เพราะในช่วง 6 ปี มั่นใจได้ว่าจะต้อง ผ่านการระบาดของไข้เลือดออก 2 ครั้ง เพราะการระบาดจะเป็น ปี เว้น ปี หรือ ปี เว้น 2 ปี
  17. ผลการศึกษระยะยาว เบื้องต้น ที่น่าในใจและต้องติดตามคือ ในเด็กเล็ก (น้อยกว่า 9 ปี) กลุ่มที่ฉีดวัคซีนป่วยเป็นไข้เลือออก รุนแรงที่ต้องเข้าโรงพยาบาล ในปีที่ 3 มากกว่ากลุ่มที่ไม่ได้ฉีด NEJM 2015 Sep 24;373;11951206 ยังเป็นข้อมูลเบื้องต้น ที่น่าจะเป็นเหตุให้ไม่ควรให้วัคซีนในเด็กเล็ก ขณะนี้ และเด็กเล็กที่น้อยกว่า 9 ปี ข้อมูลของศูนย์ฯ มีถึง 2 ใน 3 ที่ยังไม่เคยติดเชื้อไข้เลือดออกมาก่อน หรือไม่เคยมีภูมิเลย
  18. จากข้อมูลถึง 25 เดือน วัคซีนปลอดภัย และผ่าน อย. ประเทศไทย ใครจะฉีด ไม่ฉีด ก็อยู่ที่ดุลยพินิจของท่าน และแพทย์ผู้ให้บริการ แต่ขอให้อยู่ ภายใต้คำแนะนำ ตามคำขออนุญาตกับ อย. ถ้าแพทย์ท่านใดไปให้บริการนอกเหนือจากข้อบ่งชี้ ที่เขียนไว้ก็จะต้องรับผิดชอบเอง
  19. จากการศึกษามีข้อน่าสนใจอีก คืออาสาสมัครที่อยู่ในการศึกษา ผู้ที่มีอายุมากกว่า 9 ปี จะมี seropositive หรือภูมิต่อไข้เลือดออก หรือเคยติดเชื้อมาแล้ว ประมาณ 80%
  20. ประสิทธิภาพของวัคซีนฉีดในคนที่ “ตรวจพบภูมิต้านทานแล้ว” โดยไม่ทราบว่าเป็น กล่าวคือ ส่วนใหญ่อาจจะ เป็นแล้ว ครั้งที่ 1 หรือ 2 อาจจะ 2 ครั้งแล้วก็ได้ จะสูง ถึง 82% ในผู้ที่มีอายุ 9 ปี หรือมากกว่า ในผู้ที่มีอายุน้อยกว่า 9 ปี ประสิทธิภาพจะได้ 70% ผู้ที่มีอายุมาก โอกาสที่จะมีภูมิจากธรรมชาติมากกว่า 1 ครั้งอยู่แล้ว มีมากกว่าผู้ที่มีอายุน้อยอยู่แล้ว
  21. ประสิทธิภาพของวัคซีนจะต่ำ ในผู้ที่ยังไม่เคยติดเชื้อไข้เลือดออกมาก่อน ถ้ามีอายุมากกว่า 9 ปี จะมีประสิทธิภาพ เพียงประมาณ 32.5% แต่ค่า 95% CI ใกล้ศูนย์ (5.9) หรือกล่าวว่าจุดต่ำในการป้องกันโรคได้อยู่ 6% (ถึงแม้จะสูงกว่าศูนย์) ก็น้อยมาก และจะมีประสิทธิภาพเพียง 14% ในเด็กที่ไม่มีภูมิต้านทานมาก่อน หรือเคยติดเชื้อมาก่อน และมีอายุน้อยกว่า 9 ปี และค่าสถิติ 95% CI ติดลบ (แปลว่า มีส่วนที่กันไม่ได้ หรือไม่สามารถป้องกันโรคได้) จึงเป็นเหตุ ให้ไม่ใช้ในเด็กน้อยกว่า 9 ปี ในทางปฏิบัติไม่ได้มีการตรวจ
  22. โดยสรุปวัคซีนจะมีประสิทธิภาพต่ำ ในผู้ที่ไม่เคยติดเชื้อไข้เลือดออกมาก่อน และเป็นเด็กที่อายุน้อยกว่า 9 ปี โดยทั่วไปวัคซีนควรจะ มีประโยชน์ ในผู้ที่ไม่เคยติดเชื้อมาก่อน ความเป็นจริง ประชากรทั่วไป ไม่ทราบว่า ติดเชื้อมาก่อน หรือยัง ส่วนใหญ่มีภูมิ ก็ไม่ทราบว่า เป็นการติดเชื้อมาแล้ว ครั้งแรก หรือครั้งที่ 2 ในทางกลับกัน วัคซีนไข้เลือดออก กับมีประโยชน์ใน ผู้ที่เคยติดเชื้อมาก่อน และอายุมากกว่า 9 ปี
  23. โดยทั่วไปของวัคซีนไข้เลือดออก​ ควรจะป้องกันได้ดี ในผู้ที่ยังไม่เคยติดเชื้อมาก่อนเลย และได้รับวัคซีนแล้วป้องกันไม่ให้เป็นโรค เช่นไวรัส บี ไวรัส เอ การตรวจหาภูมิต้านทานก่อนฉีด จะเป็นตัวบอกว่าควรฉีด หรือไม่ควรฉีด แต่วัคซินไข้เลือดออก กลับ ตรงกันข้าม
  24. การฉีดวัคซีนไวรัสตับอักเสบ บี เราจะฉีดให้ในคนที่ตรวจแล้ว ไม่เคยติดเชื้อไวรัส บี มาก่อน และ มีประสิทธิภาพสูงมาก กว่าร้อยละ 90 กลไกการเกิดไข้เลือดออก ไม่เหมือนกัน การตรวจว่ามีภูมิ หรือไม่มีภูมิ ไข้เลือดออก จะไม่สามารถแยกได้ ว่า เป็นการติดเชื้อครั้งแรก หรือครั้งที่ 2 จึงเป็นปัญหามาก อย่างไรก็ตาม ผลของวัคซีน ควรติดตามระยะยาว ในประชากรหมู่มาก โดยเฉพาะหลังฉีดแล้ว มีการระบาดใหญ่ของไข้เลือดออก อย่างน้อย 2 ครั้ง โดยไข้เลือดออกจะระบาด ปีเว้นปี หรือปี เว้น 2 ปี ระยะเวลาที่ยาวนานมากพอ ที่จะเห็นผล จึงน่าจะเป็นอย่างน้อย 6 ปี และจำนวนประชากรที่ศึกษา ต้องมากพอ
  25. จากประสบการณ์ การให้วัคซีนหมู่มาก เช่น วัคซีน ไวรัส บี ไข้หวัดใหญ่ ประสิทธิภาพ ที่ใช้จริง ในภาคสนามหมู่มาก ประสิทธิภาพจะต่ำกว่าประสิทธิภาพที่ได้ จากการศึกษาวิจัย ประมาณเกือบ 10 % เช่นตับอักเสบ บี และไข้หวัดใหญ่ วัคซีนไข้เลือดออก ในเด็กโต มีประสิทธิภาพ การป้องกันโรค ในการศึกษาวิจัย แบบเป็นระบบ อยู่ที่ 65 % ในเด็กโต โดยไม่คำนึงถึงการติดเชื้อ หรือมีภูมิมาก่อน ส่วน ในเด็กเล็ก (น้อยกว่า 9 ปี) อยู่ที่ 45% จึงยังไม่อนุญาตให้ในเด็กเล็ก
  26. วัคซีนไข้เลือดออกเป็นวัคซีนใหม่ การติดตามความปลอดภัยของยาใหม่ (Safety Monitoring Program : SMP ) หลังขึ้นทะเบียน อย จะจัดให้วัคซีนอยู่ภายใต้ การเฝ้าระวัง สำรวจ อาการข้างเคียง หรือเรียกว่า "ติดสามเหลี่ยม" SMP อย่างน้อย 2 ปี จึงไม่แนะนำ ไปฉีดในโรงเรียน หมู่มาก เพื่อการค้านะครับ เพราะยังติดสามเหลี่ยมอยู่
  27. โรคทุกโรคที่ป้องกันได้และพิสูจน์ได้ว่าวัคซีนไม่มีอาการข้างเคียง ปลอดภัย และมั่นใจ ป้องกันโรคได้แน่ และอยากให้พ้น การติดสามเหลี่ยมเร็วเร็ว

โดยสรุป ในฉลากยา ไม่มีการกล่าวถึงประสิทธิภาพในการป้องกันโรค มีแต่บอกว่าใช้ป้องกันโรคไข้เลือดออก ฉีดแล้วไม่ได้กันได้ทั้งหมด ฉีดแล้วก็ยังมีโอกาศเป็นโรค โดยเฉพาะผู้ที่ยังไม่เคยมีภูมิมาก่อน บอกคนไข้ให้ดีนะครับ เดี๋ยวคนไข้ฉีดแล้ว เป็นโรคมา จะฟ้องร้องนะครับ การป้องกันด้วยการไม่ให้ยุงกัด หรือให้ถูกกัดให้น้อยที่สุด ก็เป็นการป้องกันที่ดี ส่วนผู้อายุมากแล้วส่วนใหญ่ เป็นมามากกว่า 2 ครั้ง ภูมิจะกันได้ครบทั้ง 4 สายพันธ์อยู่แล้วนะ หวังว่าเป็นอย่างนั้น

บทความแนะนำเพิ่มเติม

1. ป้องกันโรคร้ายจากยุงด้วยการฉีดวัคซีนป้องกันไข้เลือดออก

2. โรคไข้เลือดออกไม่ถึงตาย หากรู้อาการ และป้องกันตั้งแต่เริ่มต้น

เรียบเรียงโดย : Mamaexpert Editorial Team

ขอบคุณข้อมูล  :  ศาสตราจารย์ นายแพทย์ ยง ภู่วรวรรณ