เด็กหัวเบี้ยว แก้อย่างไรให้ลูกหัวสวย

13 February 2018
84362 view

เด็กหัวเบี้ยว

เด็กหัวเบี้ยว แบ่งแยกได้ 3 แบบ

1.เด็กหัวเบี้ยวแบบแรกเกิดตั้งแต่แรกคลอด

ใหม่ลักษณะศีรษะของลูกจะผิดปกติ ผิดรูปไปตั้งแต่แรกคลอดเลย สามารถสังเกตเห็นได้ตั้งแต่แรกเกิด หรือหลังคลอดใหม่ๆ  เป็นความผิดปกติตั้งแต่ในครรภ์มารดา จากการกดทับของมดลูกต่อกะโหลกส่วนท้ายทอยของลูกเป็นเวลานาน จะพบได้ในรายที่แม่มีมดลูกเล็ก กดรัดมาก หรือในรายที่มีลูกแฝด หรืออาจพบหลังคลอดใหม่ๆ จากการใช้อุปกรณ์ของสูตินรีแพทย์ เช่น การใช้คีมหรือเครื่องสุญญากาศช่วยคลอดในรายที่มีปัญหาคลอดยากก็เป็นได้ ในเด็กที่คลอดก่อนกำหนดจะพบได้บ่อยกว่าเด็กทารกครบกำหนด เนื่องจากกะโหลกศีรษะของเด็กไม่แข็งเท่ากับผู้ใหญ่ คือจะไม่แตกร้าวแต่จะกดแล้วบุ๋มได้เหมือนลูกปิงปอง

2.เด็กหัวเบี้ยวแบบที่สองจะเกิดขึ้นภายหลัง

คือเมื่อแรกคลอดจะปกติดีแต่ต่อมา หัวจะเริ่มผิดปกติ หรือเริ่มเบี้ยว ส่วนใหญ่เกิดจากการนอนอยู่ในท่าใดท่าหนึ่งนานๆ กะโหลกที่มีลักษณะรูปวงรีสวยงามจะเบี้ยวไปโดยเฉพาะบริเวณท้ายทอย และมักจะเบี้ยวด้านใดด้านหนึ่ง ถ้านอนด้านนั้นนานมาก หรืออาจจะมีท้ายทอยแบนราบ ถ้านอนหงายเป็นเวลานานครับ เราเรียกหัวเบี้ยวแบบนี้ว่า “Positional skull deformities” 

3.ภาวะอื่นที่ทำให้เด็กหัวเบี้ยว

เด็กปกติทุกคนเวลานอนหงายไม่จำเป็นจะต้องมีหัวเบี้ยวทุกรายครับ ตัวเลขดังกล่าวข้างต้น ดงไม่ต้องตื่นตกใจมากนัก บางรายเท่านั้นที่มีปัญหา เด็กปกติสามารถหันคอไปมาได้เอง หรือสลับซ้ายทีขวาที ในเด็กบางคนที่เป็นโรคบางชนิด กะโหลกศีรษะนุ่มกว่าปกติ หรือเด็กคลอดก่อนกำหนด หรือในเด็กบางรายจะมีความผิดปกติของคอ คือมีภาวะคอเอียงตลอดเวลา

ป้องกันเด็กหัวเบี้ยวทำอย่างไร

1. ในระยะแรกคลอดหรือ 2 - 3 สัปดาห์แรกหลังคลอดเป็นช่วงเวลาที่สำคัญที่สุดเนื่องจากกะโหลกศีรษะจะอ่อนและเกิดความผิดปกติได้ง่าย ด้วยวิธีการง่ายๆ คือ ขณะที่ลูกน้อยนอนหงายเวลาหลับ คุณพ่อคุณแม่อาจต้องคอยช่วยจับศีรษะลูกสลับด้านที่นอนกดทับพลิกไปมาเป็นระยะๆ สลับกันไป และเมื่อเวลาลูกตื่นนอน มีความจำเป็นมากครับที่ต้องพยายามให้ลูกนอนคว่ำ

2. ต้องคอยจับลูกนอนคว่ำหน้าในขณะตื่น การนอนคว่ำหน้าในเด็กจะทำเฉพาะตอนตื่นนอนเท่านั้น เวลาตื่นนอนเราจะเรียกว่า Tummy time  นอกเหนือจากจะช่วยให้ลูกได้มีโอกาสบริหารกล้ามเนื้อคอ และไหล่เพื่อกระตุ้นพัฒนาการของเด็กในด้านต่างๆ ได้ด้วยแล้ว ขณะเดียวกันก็ป้องกันศีรษะเบี้ยวได้อีกด้วย

ในต่างประเทศ หรือพ่อแม่คนไทยบางราย เวลาลูกตื่นนอนมักจะให้ลูกนอนอยู่ในที่นอนเด็ก หรือ car seat ที่จะมีลักษณะกึ่งนั่งกึ่งนอน เด็กจะอยู่ในท่านอนหงายตลอดเวลาแม้เวลาตื่นนอน การทำเช่นนี้อันตรายส่งผลต่อรูศีรษะของเด็กด้วย  การจัดตำแหน่งของศีรษะลูกบนเตียงนอนอาจช่วยได้ ในกรณีเด็กที่มีความจำเป็นต้องนอนหงายแล้วหันคออยู่ท่าใดท่าหนึ่งตลอดเวลา เช่น อาจเกิดภาวะคอบิด ดังกล่าวข้างต้น การหันศีรษะลูกเพื่อให้มองเห็นกิจกรรมของพ่อแม่ หรือคนเลี้ยงอาจช่วยให้เด็กมีความพยายามที่จะไม่อยู่ในท่าใดท่าหนึ่งตลอดไปได้

การรักษาเด็กหัวเบี้ยว

1.ในรายที่มีภาวะศีรษะเบี้ยวตั้งแต่แรกคลอด แต่ภายหลังจากคลอด 2 - 3 เดือน ก็จะเริ่มดีขึ้นเรื่อยๆ แต่หากเด็กเหล่านี้ยังนอนหงายโดยใช้บริเวณท้ายทอยที่แบนราบสัมผัสพื้นต่อไป ภาวะดังกล่าวจะยังคงอยู่ครับ และอาจแย่ลงได้ด้วย การแย่ลงนั้นเกิดจากผิวหนังของศีรษะกดทับบริเวณท้ายทอย

2.ในรายที่เกิดมีภาวะหัวเบี้ยวแล้ว อาจใช้วิธีนอนคว่ำเวลาตื่นดังกล่าวข้างต้นหรือใช้วิธีการจัดเตียงแทน โดยให้เด็กนอนหงายนอกเหนือจากนอนคว่ำ แต่จัดท่าให้นอนหงายในท่าที่เด็กไม่ค่อยหันมองออกด้านนอก อาจหันเข้าหากลางห้อง เพื่อให้เด็กมีความพยายามที่จะเปลี่ยนท่านอนตนเอง การทำดังกล่าวจะช่วยได้แก้ปัญหาหัวเบี้ยวได้ แต่จะใช้เวลาประมาณ 2 - 3 เดือน



ในรายที่ทำตามคำแนะนำดังกล่าวแล้วไม่ดีขึ้นอาจต้องพบแพทย์เฉพาะทางด้านสมอง การรักษาจะได้ผลดี หากมาพบแพทย์ในช่วงอายุของลูกประมาณ 4 - 12 เดือน เนื่องจากเป็นช่วงที่กะโหลกศีรษะของลูกยังมีความอ่อน สามารถจะปรับเข้ารูปได้ง่ายๆ ในรายที่ไม่ได้ผลอาจต้องลงเอยด้วยวิธีการใส่หมวกคล้ายหมวกกันน็อก  ส่วนการผ่าตัดเป็นทางเลือกสุดท้ายและจะทำในรายที่ไม่ได้ผลจริงๆ หรือมีปัญหาอื่น ซึ่งจะพิจารณาทำน้อยรายมาก

เรียบเรียงโดย : Mamaexpert Editorial Team