อาหารสมุนไพรและยาเพิ่มน้ำนมแม่
การเพิ่มน้ำนมแม่ ต้องทั้งแม่และลูกน้อย ร่วมด้วยช่วยกันค่ะ คือ ลูกต้องดูดบ่อย ดูดดี ดูดถูกวิธีและดูดเกลี้ยงเต้า น้ำนมแม่ถึงจะพุ่งพวด รวมถึงตัวแม่เองต้องนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ รับประทานอาหารครบ 5 หมู่เพียงพอไม่อด ไม่ลดหุ่นมากเกินไป ไม่เครียด น้ำนมจะคงอยู่ไม่ลดลง ถ้าในกรณีที่ต้องการตัวช่วยในการเพิ่มน้ำนมแม่ก็อาจจัดหาอาหาร สมุนไพรหรือยาที่ช่วยเพิ่มปริมาณน้ำนมมาทานเสริมได้ โดย Mamaexpert มีอาหาร สมุนไพรและยาเพิ่มน้ำนมแม่ที่ปลอดภัยมาฝากแม่ๆ ดังนี้
อาหารสมุนไพรและยาเพิ่มน้ำนมแม่ที่ปลอดภัย
อาหารสมุนไพรเพิ่มน้ำนมแม่ที่ปลอดภัย
- หัวปลี ยำปลีกุ้งสด ยำปลีปลากระป๋อง ปลาช่อนยำปลี ทอดมันปลีกล้วย ห่อหมกปลีกล้วย แกงเลียงปลีปลาช่อนใส่ใบแมงลักและใบตำลึง แกงไก่ใส่ปลี ( แต่อย่าทานบ่อยนะคะ เพราะอาหารรสฝาดจะทำให้เด็กท้องผูกได้ค่ะ)
- ดอกแค ใช้ทำดอกแคชุบไข่ทอด ดอกแคชุบแป้งทอด แกงส้มดอกแค แกงส้มใส่ปลา หรือกินลวกจิ้มน้ำพริกคู่กับขมิ้นขาวและใบมะรุมอ่อน หรือยำดอกแคปลาหมึกกุ้งสด (ลวกยำหรือชุบแป้งทอดยำก็ได้ค่ะ)
- ฟักทอง ผัดฟักทองใส่ไข่ใส่หมู แกงเลียงฟักทอง ฟักทองนึ่งกินกับน้ำพริก บวดฟักทอง
- กระเพรา ผัดกระเพราหมู-ไก่-กุ้ง-ปาหมึก ผัดกระเพราตับ กระเพราทอดกินปลาสามรส ทูน่า-แซลมอนผัดกระเพราะ
- ขิง น้ำขิง ขิงผัดไก่-หมู ไข่หวานต้มน้ำขิง เต้าฮวยน้ำขิง ยำขิงไข่เค็ม
- ขมิ้นขาว ฝานบาง ๆ ทานสดจิ้มน้ำพริก(น้ำนมมาเยอะจริงๆค่ะ) หรือใส่ในยำ เช่น ยำไข่เค็ม ยำปลาดุกฟู แกงพะแนงหมู
- กุยช่าย ใบและต้นสดใส่ในแกงเลียง ใช้ทั้งต้น ทำผัดผัก กุยช่ายผัดไข่ กุยช่ายผัดตับ กุยช่ายผัดเห็ด กุยช่ายผัดหมู กุยช่ายผัดไข่เค็ม ขนมกุยช่าย(นึ่งหรือทอด)
- มะละกอ รับประทานเป็นผลไม้ หรือใส่ในแกงส้ม แกงส้มมะละกอปลา แกงจืดมะละกอหมูบะช่อ มะละกอผัดไข่ มะละกอสุก แกงอ่อมมะละกอใส่ผักชีลาว(ไก่) ส่วนรากใช้ต้มน้ำดื่มบำรุงน้ำนม
- ใบแปะตำปึง (ชื่ออื่น จินจิเหมาเยี่ย ผักพันปี ผักกระชับ Cockblur) ผัด น้ำมันหอย ใส่แกงเลียง ทานสดกับน้ำพริก ( ทานกับขมิ้น ใบมะรุมอ่อน ฟักทอง ดอกแค ถั่วพู ล้วนแต่ช่วยเพิ่มน้ำนมได้ค่ะ) ทานสดๆกับลาบ ส้มตำ หลน สาคูใส้หมูหรือเมี่ยง
- พริกไทย จะเป็นพริกไทยอ่อนผัดกับหมู ตับ ไก่ หรือกุ้งแล้วแต่ชอบ หรือเป็นพริกไทยผงแบบขวดๆใส่กับต้มเลือดหมูก็ได้
- ใบมะลิอ่อนสด 10-15 ใบต้มน้ำใช้สำหรับดื่มเป็นน้ำชาใบมะลิ หรือจะใช้ชงน้ำขิงสำหรับดื่ม คุณแม่บางท่านเอาไปต้มเป็นแกงจืดทานก็หอมอร่อยดีค่ะ
- กานพลู ดอกตูมแห้ง 5-8 ดอก ชงน้ำเดือดสำหรับดื่มเฉพาะ หรือใช้เคี้ยว
- เขยตาย ใช้รากต้มน้ำดื่ม
- ชบาดอกแดง ใช้ดอกสด 10-15 ดอกใส่แกงเลียงรับประทานติดต่อกัน 5-6 มื้อ
- ไทรย้อยใบแหลม ใช้รากนำมาทำเป็นยาบำรุงน้ำนม
- ต้นนมวัว ใช้รากต้มน้ำดื่ม
- นมนาง ใช้เปลือกหรือราก ต้มน้ำดื่ม
- น้ำนมราชสีห์ ใช้ต้นสด 1 กำมือต้มน้ำดื่ม
- ผักกาดหอม ใช้เมล็ดตากแห้ง 5 กรัมชงน้ำร้อน 1 ถ้วยกาแฟ ดื่มก่อนอาหารเช้า-เย็น
- ผักโขมหนาม ใช้ต้นสด 1 กำมือต้มกับน้ำ 3 ถ้วยให้เหลือ 1 1/2 ถ้วย ดื่มเช้า-เย็น
- ผักชีลาว ส่วนใบทำให้มีน้ำนมมาก ทานคู่กับลาบ
- ผักเป็ดแดง ใช้ทั้งต้น รับประทานเป็นผัก ช่วยขับน้ำนม
- มะรุม ใบอ่อนมีสรรพคุณในการขับน้ำนม
ยาเพิ่มน้ำนมแม่ที่ปลอดภัย
- ดอมเพอริโดน (Domperidone หรือ Motilium)
เป็นยารักษาอาการผิดปกติในระบบทางเดินอาหารแต่ … เป็นยาที่มีผลข้างเคียงช่วยกระตุ้นการสร้างน้ำนม ซึ่งอาจจะเป็นผลมาจากการเพิ่มปริมาณฮอร์โมนโปรแลคติน (Prolactin) ที่ต่อมใต้สมองผลิตขึ้น โปรแลคตินเป็นฮอร์โมนที่ช่วยกระตุ้นให้เซลล์ในเต้านมของแม่ผลิตน้ำนม ดอมเพอริโดนมีส่วนช่วยเพิ่มฮอร์โมนโปรแลคตินทางอ้อม โดยเข้าไปขัดขวางกระบวนการทำงานของโดพามีน (Dopamine) ซึ่งเป็นสารที่มีผลยับยั้งการผลิตโปรแลคตินของต่อมใต้สมอง จึงได้มีผลการศึกษาหลายแห่งที่สนับสนุนว่ามันช่วยกระตุ้นการสร้างน้ำนม และเป็นยาที่มีความปลอดภัยเพียงพอ ปัจจุบันจึงนิยมใช้กันอย่างแพร่หลาย - ยาประสระน้ำนม เป็นยาแผนโบราณ ซึ่งมีจำหน่ายในรูปของซอง แม่หลายคนใช้แล้วได้ผลดี เภสัชกรหญิง ดร.สุภา ชวเดช ผู้เชี่ยวชาญด้านยาสมุนไพร เปิดเผยว่า สูตรของยาประสระน้ำนมในปัจจุบันยังคงเป็นสูตรของเดิมแต่โบราณ แต่ว่าผู้ผลิตหลายรายได้มีการนำวิทยาการที่ทันสมัย เช่น การวิเคราะห์คุณภาพ การตรวจการปนเปื้อนของเชื้อจุลินทรีย์ หรือโลหะหนัก มาใช้ร่วมด้วย เพื่อให้การผลิตมีคุณภาพมากขึ้น ส่วนประกอบหลักของยาได้แก่ โกฐจุฬาลัมพา ขิง และพริกไท
ทั้งหมดนี้เป็นอาหารสมุนไพรและยาเพิ่มน้ำนมแม่ที่ปลอดภัย ที่ Mamaexpert นำมาฝากคุณแม่มือใหม่ และคุณแม่ที่มีปัญหาน้ำนมน้อย คุณแม่ลองรับประทานอาหารสมุนไพรและยาเพิ่มน้ำนมแม่ที่เราแนะนำดูนะคะ เพราะมีคุณสมบัติช่วยบำรุงน้ำนมได้เป็นอย่างดี รับรองว่าคุณแม่จะมีน้ำนมมากพอที่จะทำให้ลูกดูดแทบไม่ทันเลยทีเดียวค่ะ
บทความแนะนำเพิ่มเติมสำหรับคุณแม่
1.การใช้ยา ดอมเพอริโดน เพื่อกระตุ้นน้ำนม
2.เพิ่มน้ำนมด้วยสมุนไพรที่ปลอดภัย
3.นมแม่และนมผสม แตกต่างกันอย่างไร
เรียบเรียงโดย : Mamaexpert Editorial Team