คำศัพท์และสิ่งที่คุณแม่ควรรู้เกี่ยวกับการคลอดธรรมชาติ

08 December 2011
16292 view

คำศัพท์ที่คุณแม่คลอดธรรมชาติควรรู้

ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ คลอดธรรมชาติ

คุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์ ส่วนใหญ่ปรารถนาที่จะคลอดเอง แต่ทั้งหมดทั้งปวงต้องขึ้นอยู่กับ ปัจจัยด้านสุขภาพครรภ์ในการท้องครั้งนี้ด้วย การคลอดธรรมชาติมีข้อดีอยู่หลายข้อ สำหรับคุณแม่ที่ตั้งใจคลอดธรรมชาติ จำเป็นต้องมีความรู้เกี่ยวกับคำศัพท์ทางการแพทย์ เผื่อวันนั้นมาถึง จะได้เข้าใจง่ายขึ้นค่ะ

คำศัพท์ที่คุณแม่คลอดธรรมชาติควรรู้

คลอดธรรมชาติ ขบวนการคลอดเป็นขบวนการธรรมชาติ ที่ร่างพร้อมที่จะคลอดเด็กออกมา เริ่มต้นด้วยการที่มดลูกบีบตัว ไล่เด็กลงมาช่องคลอด ปากมดลูกจะบางตัว และเปิดขยาย คุณแม่มีลมเบ่ง เเละขับเคลื่อนทารกออกมาตามกลไกธรรมชาติร่วมกับการออกเเรงเบ่งของแม่

ท้องปั้น ท้องแข็ง เป็นอาการที่พบในคุณแม่ใกล้คลอด สามารถพบได้ตั้งแต่ อายุครรภ์ประมาณ 28 สัปดาห์ขึ้นไป ซึ่งจะมีอาการท้องแข็งเมื่อเอามือจับดูจะรู้สึกได้ว่าเป็นก้อน ๆ ตึงสลับกันเป็นระยะแบบเป็น ๆ หาย ๆ ในบางรายอาจมีการแข็งมาก-น้อยแตกต่างกันออกไป  หรือปวดเกร็งเสียวช่วงท้องน้อยด้วย โดยทั่วไปแล้วจะมีอาการท้องแข็งตั้ง 10 นาทีหรือเป็นหาย ๆ นานนับชั่วโมง

การเจ็บครรภ์เตือน  เมื่อมดลูกเริ่มมีการบีบตัวใหม่ๆคุณแม่อาจจะไม่รู้สึกอะไร อาจจะรู้สึกบีบๆเล็กน้อย แต่เมื่อคลำบริเวณมดลูดจะรู้สึกว่าแข็งตัว แต่เมื่อใกล้คลอดการบีบตัวจะแรงขึ้น หน้าท้องจะแข็งขึ้น ปกติอาการเจ็บท้องเตือนจะเจ็บนานประมาณ 1-2 นาที แต่บางทีก็อาจจะเจ็บนาน 5 นาที อาการเจ็บจะไม่สม่ำเสมอ

การเจ็บครรภ์จริง เกิดขึ้นสม่ำเสมอ ระยะห่าง ถี่ขึ้นเรื่อยๆความแรง เพิ่มขึ้นเรื่อยๆรู้สึกปวดบริเวณหลังและท้องไม่สามารถบรรเทาการปวดด้วยยาแก้ปวด มีการเปิดขยายของปากมดลูก มักเกิดขึ้นก่อนคลอดไม่นานนัก หากแม่ตั้งครรภ์มีอาการดังกล่าวควรรีบไปโรงพยาบาล

การเปิดขยายของปากมดลูก คือ ปากมดลูกเริ่มเปิดขยาย เมื่อแม่ตั้งครรภ์เริ่มมีอาการท้องแข็ง หรืออาการหดรัดตัวของช่องคลอด ในครรภ์แรก ช่องคลอดจะเปิดขยายได้ช้ากว่าครรภ์หลัง ครรภ์เเรกเฉลี่ยชั่วโมงละ ครึ่งเชนติเมตร ครรภ์หลังเฉลี่ย ชั่วโมงละ 1 เซนติเมตร ปาดมดลูกเปิดครบ 10 เซนติเมตรทารกถึงจะคลอดออกมาได้

การบางตัวของปากมดลูก คือ ส่วนที่เป็นระยะห่างระหว่างปากมดลูกด้านในถ้าปากมดลูก ต้องบางตัวมากที่สุดถึง 100% การคลอดจะราบรื่นและง่าย หากปากมดลูดบางตัวน้อยอาจทำให้คลอดยากได้

การกระตุ้นคลอด คือ การที่คุณแม่ยังไม่มีอาการเจ็บท้อง แต่แพทย์ตรวจวินิจฉัยพบว่าต้องคลอดเด็กออกมาก่อนที่จะรอการเจ็บตามธรรมชาติ ส่วนใหญ่ทำโดยสูติแพทย์(หรือพยาบาลผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางห้องคลอด)จะใช้นิ้วมือกระตุ้นปากมดลูกตอนตรวจภายในไม่มีผลข้างเคียงนอกจากคุณแม่อาจจะรู้สึกไม่สบายตัวตอนตรวจบ้าง
หรือแพทย์อาจยามีทั้งชนิดเหน็บและชนิดให้ทางสายน้ำเกลือ ยาจะทำให้ปากมดลูกนุ่มขึ้น ช่วยมดลูกบีบตัวมากขึ้น

การเร่งคลอด จะเกิดขึ้นเมื่อคุณแม่เริ่มเจ็บครรภ์คลอดบ้างแล้ว แต่การบีบตัวของมดลูกยังไม่ดี ไม่สม่ำเสมอ ทำให้ปากมดลูกเปิดช้ากว่าที่ควรจะเป็นสูติแพทย์อาจจะพิจารณาให้ยาเร่งทางน้ำเกลือ เพื่อไม่ให้การคลอดดำเนินเนิ่นนานจนเกินไปซึ่งยาที่ใช้ เป็นชนิดเดียวกับยากระตุ้นคลอด

ระยะของการคลอด กว่าจะคลอดได้ คุณแม่ต้องผ่้านการคลอด 3 ระยะ 

  • ระยะที่1เริ่มตั้งแต่ปากมดลูกเริ่มเปิดจนกระทั่งเปิดเต็มที่
  • ระยะที่2 เริ่มตั้งแต่เบ่งจนกระทั่งเด็กคลอดออกมาระยะนี้ใช้เวลา 2-3 ชั่วโมงขึ้นกับตำแหน่งตัวเด็ก ขนาดตัวเด็ก และขนาดของทางคลอด
  • ระยะที่3 เริ่มตั้งแต่เด็กคลอดออกมาจนกระทั่งรกคลอดออกมาหมดระยะนี้ใช้เวลาประมาณ 30 นาที

ลมเบ่ง  เป็นแรงดันธรรมชาติที่เกิดขึ้นภายในมดลูก การมีลมเบ่งก็คล้ายๆ กับเราอยากจะถ่ายอุจจาระ เพียงแต่ว่าก้อนที่ต้องเบ่งออกมามันก้อนใหญ่กว่ามากทีเดียว แถมต้องเบ่งออกมาทีเดียวให้หมดเสียด้วย จะเบ่งออกมาทีละนิดทีละหน่อยเหมือนอุจจาระก็ไม่ได้ ว่าที่คุณแม่หลายๆ คนที่ยังไม่มีประสบการณ์การคลอดมาก่อน ไม่รู้ว่าลมเบ่งเป็นยังไง ลองนึกภาพตอนท้องผูกมากๆ ต้องใช้กำลังภายในเยอะๆ เบ่งลงก้น ถ้าเบ่งขึ้นหน้าจะผิดทันที

ฝีเย็บ คือ กล้ามเนื้อระหว่างทวารหนักถึงช่องคลอด ระหว่างการคลอด หากปากทารกไม่สามารถคลอดศีรษะออกมาได้ หรือแพทย์ประเมินแล้วว่า หนทางคลอดแคบไป ต้องทำการตัดฝีเย็บเพื่อให้ทารกคลอดออกมาได้ หลังคลอดแพทย์จะเย็บซ่อมแซมให้กลับสู่สภาพเดิ มโดยใช้ไหมละลาย และกลายเป็นแผลฝีเย็บ

แผลฝีเย็บ คือ แผลที่เกิดจากการตัดฝีเย็บขณะคลอด หลังคลอดเเพทย์ใช้ไหมละลายเย็บให้เรียบร้อย แผลจะหายไปเองภายใน 14 วัน ส่วนมาก 4 – 5 วันแผลจะแห้งและสนิทดีแล้ว

ล้างแผลฝีเย็บ คุณแม่หลังคลอด หากฟื้นตัวดีแล้ว สามารถลุกเข้าห้องน้ำ อาบน้ำทำความสะอาดแผลฝีเย็บด้วยน้ำสะอาด ได้ตามปกติ คุณแม่บางคนที่แผลบวมมาก หรือแผลไม่ดี แพทย์จะทำการล้างแผลบริเวณดังกล่าวด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ เมื่อแผลดีขึ้นแล้ว คุณแม่สามารถอาบน้ำได้ตามปกติ แผลสามารถโดนน้ำได้

ตกเลือดหลังคลอด คือ หลังจากคลอดผ้านทางช่องคลอดเรียบร้อยแล้วหากมีการเสียเลือดหรือมีเลือดออกจากการคลอดครั้งนี้เกินกว่า 500 มิลลิลิตร ทางการแพทย์วินิจฉันว่ามีภาวะตกเลือดหลังคลอด ซึ่งอาจจะไม่เกิดขึ้นหลังคลอดทันที อาจจะเกิดขึ้นภายใน 72 ชั่วโมงหลังคลอดบุตร

มดลูกเข้าอู่ คือ การคืนกลับสู่สภาวะปกติของมดลูก กล่าวคือมดลูกจะยุบลง จากที่เคยยืดขยายตามขนาดของทารกในครรภ์ฺ มดลูกของคุณแม่จะกลับคืนสู่สภาพเดิมตามธรรมชาติในช่วง 4 – 6 สัปดาห์หลังคลอด จึงเรียกภาวะดังกล่าวนี้ว่า มดลูกเข้าอู่เป็นภาษาโบราณและใช้ต่อเนื่องกันมาจนถึงปัจจุบัน

น้ำคาวปลา (Lochia ) เป็นสิ่งที่ออกมาจากโพรงมดลูกหลังการคลอดผ่านพ้นไปแล้ว น้ำคาวปลาจะถูกขับออกมาทางช่องคลอดด้วยกระบวนการธรรมชาติของร่างกาย ซึ่งระยะ 3 วันแรกหลังคลอด น้ำคาวปลาจะมีสีแดง
ระยะ 4 – 10 วันหลังคลอด สีของน้ำคาวปลาจะเป็นสีแดงจางลง หลังจากนั้น น้ำคาวปลาจะเป็นสีขาวซึ่งอาจจะมีอยู่นานถึง 4 – 6 สัปดาห์ หากนานเกินกว่าระยะเวลาดังกล่าว ควรปรึกษาแพทย์

อาการผิดปกติหลังคลอด หลังจากที่คุณแม่กลับบ้านแล้ว หากมีอาการไข้สูง ปวดท้องน้อย น้ำคาวปลามีกลิ่นเหม็น มีเลือดออกจากช่องคลอด ( หลัง 5วันน้ำคาวปลาควรจางลง) ให้รีบไปโรงพยาบาล ดูรายละเอียดเพิ่ม ที่ 13 อาการผิดปกติหลังคลอด ที่ต้องรีบพบแพทย์

ตรวจหลังคลอด  คือวันที่แพทย์นัดมาดูอาการ และความผิดปกติต่างๆที่อาจจะเกิดขึ้นหลังจากคลอดบุตรผ่านไปนาน 6 สัปดาห์ แพทย์จะทำการตรวจร่างกาย ได้แก่ ตรวจภายในดูแผลฝีเย็บและตรวจมะเร็งปากมดลูกไปด้วย ตรวจมดลูกเข้าอู่หรือยัง ตรวจเต้านม  แนะนำการคุมกำเนิดที่เหมาะสม

Mamaexpert สนับสนุนให้คุณแม่คลอดเองด้วยวิธีธรรมชาติจะดีที่สุดค่ะ ขอให้คุณแม่ที่กำลังจะคลอดในเร็ววันนี้ คลอดง่ายๆ สุขภาพแข็งแรงทั้งคุณแม่และลูกน้อยนะคะ ด้วยรักและห่วงใยค่ะ

บทความแนะนำเพิ่มเติมสำหรับคุณแม่

1. 6 อาการเตือน 4 โรคอันตรายระหว่างตั้งครรภ์
2. รวมความรู้การตั้งครรภ์เดือนที่ 1 – 9
3. ลูกฉลาดได้ ตั้งแต่อยู่ในครรภ์ คุณก็ปั้นได้

เรียบเรียงโดย :  Mamaexpert  Editorial Team