เทคนิคเร่งคลอดธรรมชาติด้วยตัวเอง อย่างปลอดภัยต่อแม่และลูกน้อยในครรภ์

08 September 2015
88636 view

เร่งคลอด

สำหรับคุณแม่ที่ตั้งครรภ์มาถึงสัปดาห์ที่ 40 แล้ว แต่ยังไม่มีอาการเตือนว่าจะคลอด อาจมีความกังวลใจเพราะอยากเห็นหน้าเจ้าตัวน้อยเต็มทีแล้ว วันนี้ Mama Expert รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับการเร่งคลอดอย่างปลอดภัยด้วยวิธีธรรมชาติมาฝากค่ะ วิธีเร่งคลอดโดยธรรมชาติ (ต้องทำด้วยความ ระมัดระวัง ) คุณแม่อาจเคยได้ยินมาบ้างเกี่ยวกับวิธีการต่างๆ ที่จะช่วยให้คุณแม่เจ็บท้องคลอดเร็วขึ้น อย่างไรก็ตาม ก่อนจะลองเทคนิคเหล่านี้ คุณแม่ต้องแน่ใจว่าสุขภาพของตนเองปกติ ไม่มีภาวะเเทรกซ้อนใดๆ ในคุณแม่ที่มีภาวะแทรกซ้อนขณะตั้งครรภ์ควรปรึกษาสูติแพทย์ก่อนทุกครั้ง

5 เทคนิคเร่งคลอดด้วยวิธีธรรมชาติ

  1. เร่งคลอดธรรมชาติด้วยการเดิน การเดิน จะช่วยให้คุณแม่เจ็บท้องคลอดเร็วขึ้น เพราะการเคลื่อนไหวร่างกายของคุณแม่จะเป็นการทำให้ตำแหน่งของทารกเคลื่อนต่ำลงมาอยู่ในตำแหน่งการคลอดโดยมีศีรษะเป็นส่วนนำ คุณแม่ควรเดินช้าๆ อย่างผ่อนคลาย และควรมีใครเดินเล่นเป็นเพื่อนหรือเดินเล่นบริเวณรอบๆ บ้านเผื่อในกรณีฉุกเฉิน

  2. เร่งคลอดธรรมชาติด้วยการเล่นลูกบอล คุณแม่ที่ต้องการเร่งคลอดวิธีนี้ ต้องมีอุปกรณ์เสริมค่ะ แนะนำให้ซื้อลูกบอลขนาดใหญ่ ซึ่งประโยชน์ ของลูกบอลนี้จะช่วยยืดกล้ามเนื่อ คล้ายๆกับทำโยคะ  ให้คุณแม่นั่งบนลูกบอลโยกตัวไปมาเบาๆ ท่าดังกล่าวช่วยให้ทารกมีการเคลื่อนไหวลงสู่ช่องเชิงกรานได้เร็วขึ้น

  3. เร่งคลอดธรรมชาติด้วยเซ็กส์ การมีเพศสัมพันธ์  อย่างนุ่มนวล ในท่าที่ปลอดภัย   การมีเพศสัมพันธ์ ช่วยให้กล้ามเนื้อช่องคลอดมีการหดรัดตัวดี มดลูกหดรัดตัวดี เป็นการเร่งคลอดที่ได้ผลดีเยี่ยม

  4. เร่งคลอดธรรมชาติด้วยการกระตุ้นเต้านม กระตุ้นบริเวณหัวนม  นมนมเมื่อถูกกระตุ้น จะทำให้มีการหดตัวของมดลูกได้ วิธีทำคุณแม่ควรใช้ฝ่ามือนวดบริเวณลานนมอย่างอ่อนโยนสัก 15-20 นาทีทุกๆ ชั่วโมง วันละหลายๆ ครั้งเพื่อให้มีการหลั่งฮอร์โมนออกซีโตซิน ซึ่งมีผลต่อการเร่งการเจ็บท้องคลอดของครรภ์ที่เกินกำหนด

  5. เร่งคลอดธรรมชาติด้วยการ รับประทานรสเผ็ด ตามข้อเท็จจริงแล้วไม่มีหลักฐานที่บ่งบอกว่าการรับประทานอาหารรสจัด สามารถช่วยให้เจ็บท้องคลอดเร็วขึ้นได้ ที่มาของความเชื่อนี้ก็คือบริเวณคอมดลูกและระบบย่อยอาหารของคนเรามีการเชื่อมต่อกันอย่างใกล้ชิดผ่านระบบประสาท ดังนั้น การกระตุ้นระบบใดระบบหนึ่งอาจทำให้อีกระบบได้รับผลกระทบไปด้วยหากคุณแม่ชอบทานอาหารรสจัดอยู่แล้ว จะลองใช้วิธีนี้ก็ไม่เสียหายอะไร เพียงแต่ควรระวังผลข้างเคียง เช่น อาการแสบร้อนยอดอก อาหารไม่ย่อย หรือท้องเสีย

การเร่งคลอดไม่สามารถทำได้ในคุณแม่ทุกคน เพราะทางการแพทย์มีข้อจำกัดในการเร่งคลอดคุณแม่ตั้งครรภ์ที่มีปัญหาภาวะสุขภาพระหว่างตั้งครรภ์ หากเร่งคลอดอาจส่งผลกระทบต่อแม่และลูกน้อยในครรภ์ 

8 ข้อห้ามที่คุณแม่ตั้งครรภ์ไม่ควรเร่งคลอด 

  1. ตรวจพบว่า ทารกอยู่ในท่าขวาง และ ท่าก้น ต้องผ่าตัดคลอดเท่านั้น
  2. ตรวจพบมีรกเกาะต่ำระดับ2ขึ้นไป (Placenta previa) เพราะรกอาจกีดขวางการคลอดได้
  3. ตรวจพบมีสายสะดือพาดผ่านปากมดลูกและติดกับถุงน้ำคร่ำ (Vasa previa)
  4. ตรวจพบสายสะดือย้อย (Umbilical cord prolapse)
  5. คุณแม่เป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์ และคาดคะเนน้ำหนักทารกในครรภ์ตัวโตเกินไป (มากกว่า3500กรัม )ควรผ่าคลอด ทารกที่มีขนาดโตมากจะทำให้คลอดลำบาก ทารกบอบช้ำจากการคลอด และอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนอื่นๆตามมาได้
  6. คุณแม่ตั้งครรภ์เป็นมะเร็งปากมดลูกร่วมด้วย การเร่งคลอดจะทำให้มดลูกบีบตัวแรง ปากมดลูกขยายตัว และอาจทำให้มะเร็งแพร่กระจายได้
  7. คุณแม่ตั้งครรภ์ที่เคยผ่าตัดคลอดในท้องแรกมาก่อน ครั้งที่ 2 -3 ต้องผ่าตัดคลอดเช่นกัน การเร่งคลอดเพื่อคลอดมีความเส่ยงสูงที่แผลผ่าตัดคลอดครั้งที่แล้วอาจปริมดลูกแตกได้
  8. คุณแม่ตั้งครรภ์ที่เคยผ่าตัดมะเร็งปากมดลูก เพราะการผ่าตัดมะเร็งปากมดลูกจะทำให้มดลูกบางเสี่ยงต่อแผลฉีกขาดจากการเร่งคลอดได้

คุณแม่ที่มีอายุครรภ์ครบ 40 สัปดาห์แล้ว แต่ไม่มีอาการเตือนใดๆ ลองทำตามคำแนะนำข้างต้นดูนะคะ  ปกติแล้ว ลำดับการกระตุ้นเพื่อให้คลอดหรือเร่งคลอด สูติแพทย์จะเริ่มด้วยการกระตุ้นปากมดลูก โดยคล้ายๆกับการตรวจภายใน  หลังกระตุ้นแล้ว 7 วันหากไม่มีอาการเจ็บครรภ์คลอด สูติแพทย์ จะนัดให้ยาเพื่อเร่งคลอดอีกที อาจทำในสัปดาห์ที่ 41 – 42  กรณีไม่ได้ผล ต้องผ่าตัดคลอดเป็นลำดับต่อไปค่ะ

บทความแนะนำสำหรับคุณแม่

1. ความแตกต่างระหว่างเจ็บครรภ์เตือนและเจ็บครรภ์จริง
2. 5 สัญญาณเตือนว่าใกล้คลอดแล้ว
3. เจ็บหัวหน่าวขณะตั้งครรภ์ รักษาอย่างไรดี

เรียบเรียงโดย : Mamaexpert Editorial Team