เด็กออทิสติกสังเกตได้ตั้งแต่แบเบาะ

23 May 2014
12068 view

เด็กออทิสติก

ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ เด็กออทิสติก

โรคออทิสติกอยู่ในกลุ่ม พีดีดี (Pervasive Developmental Disorders; PDDs) หรือ ความบกพร่องของพัฒนาการแบบรอบด้าน ซึ่งแสดงอาการอย่างชัดเจนในวัยเด็ก ทำให้พัฒนาการทางด้านทางสังคมและภาษาบกพร่อง ไม่เป็นไปตามปกติ มีพฤติกรรม ความสนใจ และกิจกรรมที่ผิดไปจากปกติ ซึ่งความบกพร่องของพัฒนาการแบบรอบด้าน หรือ พีดีดี หรือ ออทิสติก สเป็กตรัม (Autistic Spectrum Disorder) สามารถแบ่งออกเป็น 5 กลุ่ม ดังนี้

ประเภทของเด็กออทิสติก

  1. ออทิสติก (Autistic Disorder)
  2. เร็ทท์ (Rett’s Disorder)
  3. ซีดีดี (Childhood Disintegrative Disorder)
  4. แอสเพอร์เกอร์ (Asperger’s Disorder)
  5. พีดีดี เอ็นโอเอส (Pervasive Developmental Disorder Not Otherwise Specified; PDD-NOS)

นอกจากนี้ ยังมีชื่อเรียกอื่นอีก เช่น ออทิสติก (Autistic Disorder) และ ออทิสซึม (Autism) ในปี พ.ศ. 2556 จะใช้ชื่อทางการในระดับสากลเหมือนกันทั่วโลก คือ Autism Spectrum Disorder ส่วนชื่อเรียกในภาษาไทย คือ ออทิสติก

สาเหตุการเกิดโรคออทิสติก(เด็กออทิสติก)

โรคนี้เป็นกลุ่มของโรคที่มีสาเหตุจากความผิดปกติของสมอง แต่ไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นสมองส่วนใด ที่ทำให้เกิดความบกพร่องของพัฒนาการด้านภาษาและสังคม โดยความรุนแรงของแต่ละโรคในกลุ่มแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับพัฒนาการทางภาษา ไอคิว (Intelligence Quotient) และความผิดปกติอื่นๆที่พบร่วมด้วย จากการสำรวจพบว่าเด็กเป็นออทิสติกมีแนวโน้มสูงขึ้นในทุกประเทศทั่วโลก และพบในเพศชายมากกว่าเพศหญิง ในผลสำรวจเด็กที่ป่วยพบว่า กลุ่มเสี่ยง จะอยู่กลุ่มที่แม่มีปัญหาในระหว่างตั้งครรภ์ มีปัญหาระหว่างคลอด หรือหลังคลอด อย่างเช่น สมองของลูกทำงานผิดปกติเนื่องจากการติดเชื้อ อุบัติเหตุ หรือได้รับสารพิษ เช่น สารตะกั่ว หลังคลอดเป็นต้น แต่ไม่ได้หมายความว่าเด็กกลุ่มเสี่ยงจะเป็นเด็กพิเศษทุกคน และเด็กที่ไม่ได้อยู่ในกลุ่มเสี่ยงก็อาจเป็นออกทิสติกได้เช่นกัน

ข้อสังเกตและอาการบ่งชี้ของเด็กออทิสติก

ออทิสติกไม่ได้เกิดจากความผิดปกติจากการเลี้ยงดู แต่เกิดจากความผิดปกติในสมองของเด็กเอง เด็กมีพฤติกรรม ความสนใจและการกระทำซ้ำๆ และจำกัด ซึ่งพ่อแม่หรือผู้เลี้ยงดูควรสังเกตเด็กใน 2 ระยะคือ

เด็กออทิสติก ตั้งแต่วัยเล็ก วัยแบเบาะ

เด็กไม่สบตาพ่อแม่หรือคนที่อุ้ม ร้องไห้มาก งอแงแต่เล็ก ไม่ยิ้ม ไม่เล่นกับเสียง ขาดความสนใจร่วมกับผู้อื่น หรืออื่นๆ

เด็กออทิสติก อายุ 1 ปีครึ่ง – 2 ปี

แสดงอาการก่อนอายุ 3 ปี มักพบในช่วง 2 ขวบปีแรก หรือเด็กในวัยที่ควรจะพูดได้แล้ว แต่กลับไม่พูดหรือพูดด้วยภาษาของตัวเองแบบที่ไม่มีใครเข้าใจ เป็นเด็กที่มีพฤติกรรม อยู่ในโลกของตัวเอง เล่นคนเดียว เรียกไม่ฟัง ทำอะไรซ้ำๆ ไม่สบตา ชอบอะไรที่เคลื่อนไหว เช่น ชอบดูน้ำไหล แต่ถ้าไม่มีอะไรเคลื่อนไหวก็จะเคลื่อนไหวตัวเอง เช่น นั่งโยกตัวไปมา เป็นต้น

ธรรมชาติของเด็กออทิสติก

  1. อาการจะครบเกณฑ์การวินิจฉัย ในช่วงอายุ 3 ปี (Pre – school age)
  2. ในวัยเรียนจะมีพัฒนาการด้านภาษาและสังคมดีขึ้น แต่จะพบปัญหาพฤติกรรมและการกระตุ้นตัวเอง หรือมีพฤติกรรมซ้ำๆ เช่น เล่นเสียง เล่นมือ รวมถึงพฤติกรรมทำร้ายตัวเองด้วย
  3. ช่วงวัยรุ่น จะเป็นช่วงที่มีปัญหามากที่สุด เช่น ชัก อยู่ไม่นิ่งหรือกระสับกระส่าย เฉื่อยชา พฤติกรรมก้าวร้าว ปัญหาพฤติกรรมทางเพศ
  4. ช่วงวัยรุ่นในรายที่เกิดการสูญเสียทักษะต่างๆที่เคยทำได้ เช่น ทักษะทางสังคม การสื่อสาร และพัฒนาการด้านอื่นๆ ซึ่งพบได้ประมาณ 10% ซึ่งพัฒนาการที่สูญ เสียไปมักจะไม่กลับคืนมาเหมือนปกติ 

หากคุณพ่อคุณแม่สงสัยว่าลูกรักเข้าข่ายเด็กออทิสติก แนะนำพาลูกปรึกษาจิตแพทย์เด็กใกล้บ้านด่วน เพื่อวินิจฉัยกลุ่มอาการและรับการรักษาอย่างถูกต้องเหมาะสม

บทความแนะนำเพิ่มเติมสำหรับคุณแม่

1. 5 โรคอันตรายในเด็กที่ต้องเฝ้าระวัง

2. โรคตุ่มน้ำพองใสในเด็ก

3. โรคร้ายที่พบในเด็กแต่ละช่วงวัย ที่แม่ควรรู้

เรียบเรียงโดย  : Mamaexpert Editorial Team