ตรวจสุขภาพก่อนแต่งงาน จำเป็นแค่ไหน มาดูเหตุผลที่ควรตรวจ

14 September 2022
625 view

ตรวจสุขภาพก่อนแต่งงาน

.

.

เมื่อความรักสุกงอมจนถึงช่วงเวลาที่คนรักทั้งสองตกลงปลงใจที่จะใช้ชีวิตคู่ร่วมกัน ย่อมเป็นเรื่องที่น่ายินดีอย่างยิ่งของครอบครัวทั้งสองฝ่าย การตัดสินใจแต่งงาน หรือใช้ชีวิตคู่ร่วมกันในแบบคู่ชีวิตมีเรื่องต่าง ๆ ที่ต้องคำนึงถึงมากมายทั้งนิสัยใจคอ สถานะครอบครัวของทั้งสองฝ่าย การเข้ากันได้ของครอบครัวทั้งสองฝ่าย การเงิน วิถีการดำเนินชีวิต ยิ่งไปกว่านั้นก็คือเรื่องของสุขภาพ โดยเฉพาะคู่ชีวิตที่วางแผนจะมีเจ้าตัวน้อยก็ยิ่งต้องตรวจสุขภาพก่อน โดยเริ่มตั้งแต่การตรวจสุขภาพก่อนแต่งงาน ซึ่งมีความจำเป็นมากแค่ไหนมาดูกันเลย

ทำไมต้อง ตรวจสุขภาพก่อนแต่งงาน

เริ่มจากคำถามของหลายคู่ที่คิดจะแต่งงานหรือเริ่มต้นการใช้ชีวิตคู่กันว่าทำไมต้องตรวจสุขภาพก่อนแต่งงานหรือตรวจสุขภาพก่อนตั้งครรภ์ทั้ง ๆ ที่รุ่นคุณพ่อคุณแม่คุณปู่คุณย่าหรือคุณตาคุณยายยังไม่ต้องตรวจสุขภาพก่อนแต่งงานกันเลย เราจึงจะมาตอบให้หายสงสัยกันค่ะ

  • ข้อแรกเลยก็คือการตรวจเพื่อเช็คความพร้อมของร่างกายคู่แต่งงานทั้งสอง ว่ามีความพร้อมเพียงใดสำหรับการมีลูกน้อย
  • ข้อสองคือการตรวจภาวะโรคแฝงต่าง ๆ ที่อาจถ่ายทอดทางพันธุกรรมจากพ่อแม่ไปสู่ลูกน้อยได้ คู่แต่งงานบางคู่มีความแข็งแรงมากในส่วนของตนโดยที่ไม่ทราบมาก่อนเลยว่าตนมีโรคแฝงหรือตนเป็นพาหะที่สามารถถ่ายทอดโรคทางพันธุกรรมไปสู่ลูกน้อยของตนได้ การ ตรวจสุขภาพก่อนแต่งงาน นี้ก็จะช่วยป้องกัน และเป็นข้อมูลเพื่อให้คู่แต่งงานใช้ในการตัดสินใจร่วมกันหากมีลูกน้อย หรือ ลูกน้อยเกิดโรคนั้น ๆ ขึ้น
  • ข้อสามคือการหาความเข้ากันได้ของหมู่เลือด โดยเป็นการตรวจจากหมู่เลือดและชนิดของหมู่เลือด (Rh ของเลือด) เผื่อกรณีฉุกเฉินที่มีการผ่าตัด หรือ การเสียเลือดมาก แล้วต้องการเลือดจะได้มีข้อมูลเบื้องต้นที่เพียงพอสำหรับการรักษาของทีมแพทย์ทั้งส่วนของว่าที่คุณแม่ ว่าที่คุณพ่อและเจ้าตัวน้อยเองด้วย
  • ข้อสี่เป็นข้อที่ประมาทและละเลยไม่ได้เลย นั่นก็คือ เพื่อให้ทราบถึงโรคประจำตัว หรือ โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่สามารถถ่ายทอดจากฝ่ายหนึ่งไปหาอีกฝ่ายหนึ่งได้

ต้องตรวจสุขภาพอะไรบ้าง

การ ตรวจสุขภาพก่อนแต่งงาน จัดเป็นการตรวจสุขภาพที่มีทั้งความคล้ายคลึงและความแตกต่างจากการตรวจสุขภาพโดยทั่วไป เราไปพบกับลิสต์การตรวจสุขภาพก่อนแต่งงานว่าตรวจอะไรบ้างพร้อม ๆ กันเลย

  1. การซักประวัติโดยทั่วไป เพื่อค้นหาปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ หรือ การประเมินพฤติกรรมการใช้ชีวิต เช่น การสูบบุหรี่ การดื่มสุรา การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เป็นต้น นอกจากนี้ก็จะเป็นการช่วยให้คู่แต่งงานเกิดความเข้าใจและสามารถเตรียมความพร้อมก่อนการตั้งครรภ์หรือก่อนการแต่งงานได้ เช่น การใช้ผลิตภัณฑ์กันแดดที่มีส่วนผสมของอะโวเบนโซน หรือ การใช้ผลิตภัณฑ์ยาบางประเภท (ยารักษาโรคลมชัก หรือ ยารักษาสิวที่มีส่วนผสมของเรติโนอิก เอซิด) จะทำให้ลูกน้อยเกิดความพิการตั้งแต่อยู่ในครรภ์ได้ หากว่าที่คู่แต่งงานวางแผนจะมีลูกน้อยหลังแต่งงานก็ต้องปรึกษาเรื่องเหล่านี้กับทีมแพทย์ด้วย
  2. การตรวจวัดความสูง การชั่งน้ำหนัก การวัดความดัน และการวัดชีพจร เพื่อใช้ประเมินปัจจัยความสมบูรณ์ของร่างกาย
  3. การตรวจหมู่เลือดและชนิดของหมู่เลือด เพื่อคาดคะเนหมู่เลือดที่สามารถเป็นไปได้ของเจ้าตัวน้อย รวมถึงการมีข้อมูลเบื้องต้นเพื่อใช้ประกอบการพิจารณารักษาอาการต่าง ๆ ที่อาจเกิดกับเจ้าตัวน้อยได้ เช่น กรณีที่เป็นหมู่ลือดและชนิดของหมู่เลือดที่หาได้ค่อนข้างยาก ว่าที่คุณพ่อคุณแม่จะได้วางแผนหรือหาข้อมูลล่วงหน้าได้ว่าหมู่เลือดและชนิดของหมู่เลือดนั้น ๆ มีที่โรงพยาบาลใดบ้าง หรือ ทำให้ทราบได้ว่าว่าที่คุณพ่อหรือว่าที่คุณแม่ที่สามารถบริจาคเลือดให้แก่เจ้าตัวน้อยได้บ้างในกรณีที่จำเป็น
  4. การตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือดทั้งความเข้มของเกล็ดเลือด การตรวจความสมบูรณ์ของฮีโมโกลบิน การตรวจระดับเม็ดเลือดขาว และการวัดการซีดจางของเลือด เป็นต้น
  5. การตรวจหาภูมิคุ้มกันโรคต่าง ๆ เช่น โรคไวรัสตับอักเสบเอ โรคไวรัสตับอักเสบบี หรือ โรคหัดเยอรมัน เป็นต้น
  6. การตรวจโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์เพื่อลดและป้องกันการติดโรคจากฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด เช่น การตรวจหาเชื้อซิฟิลิส หรือ การตรวจหาไวรัสเอชไอวี ที่ต้องตรวจโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ก่อนแต่งงานก็เพราะโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์บางโรคสามารถรักษาให้หายได้ ดังนั้นการตรวจพบก่อน รักษาหายก่อน แล้วค่อยมีเพศสัมพันธ์เพื่อเจ้าตัวน้อยย่อมเป็นหนทางที่ดีของคู่แต่งงานอย่างแน่นอน
  7. การตรวจสุขภาพเฉพาะของฝ่ายหญิงอันประกอบไปด้วยการตรวจภายใน การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก การอัลตร้าซาวน์ช่องท้องและอวัยวะภายใน เป็นต้น

การตรวจสุขภาพก่อนแต่งงานมักเป็นการตรวจสุขภาพที่ถูกละเลยและลืมพูดถึงในสังคม แต่มักข้ามขั้นไปตรวจสุขภาพก่อนตั้งครรภ์เลย ซึ่งการตรวจสุขภาพทั้งสองจะมีการตรวจที่ค่อนข้างคล้ายคลึงกัน แต่มีช่วงเวลาในการตรวจที่แตกต่างกันออกไป การตรวจสุขภาพก่อนแต่งงานก็เหมือนการเตรียมความพร้อมหรือการสร้างเรือนหอที่มั่นคงและอบอุ่นให้กับเจ้าตัวน้อยก่อนที่จะตัดสินใจมีเจ้าตัวน้อย ว่าที่คู่แต่งงานทั้งหลายก็ต้องอาศัยอยู่กันสองคนก่อน ต้องทำความรู้จักความคุ้นเคยปรับการใช้ชีวิตในการอยู่ร่วมกันก่อนเหมือนที่ต้องทราบสภาวะสุขภาพของตนและว่าที่เจ้าบ่าวหรือว่าที่เจ้าสาวก่อน ไม่ใช่เพื่อความระแวง แต่เพื่อความสบายใจ เพื่อการมีข้อมูลที่เพียงพอสำหรับการตัดสินใจต่าง ๆ ในอนาคตนั่นเอง

เรียบเรียงโดย : Mamaexpert Editorial Team