11 องค์กรพันธมิตรลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเกี่ยวกับ โรคไข้เลือดออก Dengue-Zero เดินหน้าวางแผนงาน 5 ปี เพื่อร่วมผลักดันประเทศไทย สู่สังคมปลอดไข้เลือดออก

25 January 2022
812 view

.

การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อภาพรวมของระบบสาธารณสุข ชีวิตของผู้ป่วยและครอบครัว อย่างไรก็ตาม อีกหนึ่งโรคที่ไม่สามารถมองข้ามไปได้คือ ไข้เลือดออก โรคที่เกิดจากพาหะนำโรคอย่างยุงลาย ที่มีการระบาดในประเทศเขตร้อนอย่างประเทศไทย ซึ่งการติดเชื้อไข้เลือดออกอาจทำให้อาการรุนแรงและหากมีอาการแทรกซ้อนอาจทำให้ถึงขั้นเสียชีวิตได้ ความรู้ ความเข้าใจในตัวโรคในภาคประชาชนและบุคลากรด้านสาธารณสุข และความตระหนักรู้ในการป้องกันโรค จะช่วยลดอุบัติการณ์เกิดโรค ความรุนแรงของโรค และการเสียชีวิตจากโรคนี้ได้

ในระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา การระบาดของไข้เลือดออกในประเทศไทยนั้นสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง มีจำนวนผู้คนกว่า 350,000 รายที่ต้องเจ็บป่วยจากโรคนี้ โดยในปี พ.ศ. 2562 มีจำนวนผู้ป่วยพุ่งสูงกว่า 130,000 ราย ซึ่งเป็นตัวเลขที่น่ากังวล และหากเป็นการระบาดร่วมกับโรคอื่น ๆ จะยิ่งนำพามาซึ่งภาระทั้งตัวผู้ป่วย ครอบครัว และระบบสาธารณสุขของประเทศ

ด้วยตระหนักถึงความรุนแรงหากเกิดการระบาดของไข้เลือดออกซึ่งมียุงเป็นพาหะ การส่งเสริมให้เกิดองค์ความรู้เกี่ยวกับไข้เลือดออกที่เป็นประโยชน์แก่ชุมชน การพัฒนาและต่อยอดระบบการป้องกันที่มีประสิทธิภาพเพื่อควบคุมการระบาดและพาประเทศไทยเข้าสู่สังคมปลอดไข้เลือดออก จึงเป็นที่มาของความร่วมมือจากภาคีเครือข่ายองค์กรภาครัฐและเอกชนจำนวน 11 องค์กร ได้แก่ แพทยสมาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข  กรุงเทพมหานคร คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล  สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย  สมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทย สมาคมโรงพยาบาลเอกชน สมาคมนักบริหารโรงพยาบาลแห่งประเทศไทย และบริษัท ทาเคดา (ประเทศไทย) จำกัด ภายใต้บันทึกความเข้าใจ Dengue-Zero

ภายใต้กรอบการทำงานร่วมกันนี้ ได้ตั้งเป้าหมายหลัก 3 ประการ ได้แก่ 1) ลดอัตราการป่วยจากไข้เลือดออกลงให้ได้ร้อยละ 25 หรือให้ไม่เกิน 60,000 รายต่อปี 2) ลดอัตราการเสียชีวิตให้ต่ำกว่า 1:10,000 ราย 3) ควบคุมแหล่งลูกน้ำยุงลายในชุมชนให้ต่ำกว่า 5 หลังคาเรือน จากการสำรวจ 100 หลังคาเรือน โดยพันธกิจร่วมนี้จะต้องลุล่วงภายใต้กรอบการทำงานระยะเวลา 5 ปี (พ.ศ. 2569) ซึ่งองค์กรพันธมิตรดังกล่าวจะร่วมกันผลักดันให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันไข้เลือดออกผนึกกำลังป้องกันและลดความเสี่ยงต่อไข้เลือดออก รวมทั้งส่งเสริมให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนการป้องกันและควบคุมโรค ตลอดจนสนับสนุนนโยบายต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการควบคุมไข้เลือดออก

.

.

ศ. เกียรติคุณ นพ. อมร ลีลารัศมี นายกแพทยสมาคมแห่งประเทศไทยฯ กล่าวว่า “ไข้เลือดออกส่งผลกระทบทั้งต่อตัวผู้ป่วยและครอบครัว รวมทั้งสร้างภาระทางสังคมและเศรษฐกิจในระดับประเทศ การไม่สามารถเข้าถึงการรักษา ประกอบกับการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศของโลกทำให้ไข้เลือดออกกลายมาเป็นปัญหาด้านสาธารณสุขมากขึ้นเรื่อย ๆ การสร้างความตระหนักในความสำคัญของการป้องกันและควบคุมโรคเป็นกุญแจสำคัญที่จะต่อสู้กับโรคนี้ โดยพันธมิตรทั้ง 11 องค์กรที่ได้ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจนี้ จะร่วมมือกันทำงานเพื่อรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับผู้ป่วยทั้งจากสถานพยาบาลของรัฐและเอกชน จัดทำการคาดการณ์พื้นที่ความเสี่ยงสูง สื่อสารกับสังคมผ่านโซเชียลมีเดีย และพัฒนาโครงการให้ความรู้สำหรับอาสาสมัครและเจ้าหน้าที่สาธารณสุขเพื่อเพิ่มประสิทธิผลในการดูแลผู้ป่วย วัตถุประสงค์หลักของการดำเนินการต่าง ๆ เหล่านี้ คือ การเปิดให้ชุมชนมีส่วนร่วม และมีการดำเนินการอย่างมีกลยุทธ์เพื่อให้บรรลุเป้าหมายเดียวกัน คือ การกำจัดไข้เลือดออกให้ได้อย่างเด็ดขาดและยั่งยืน”

.

.

มร. ปีเตอร์ สตรีบัล กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทาเคดา (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า “ไข้เลือดออกมีการแพร่ระบาดอย่างรวดเร็ว ในแต่ละปี มีประชากรทั่วโลกติดเชื้อ 390 ล้านคน โดยจำนวนผู้ป่วยกว่า 96 ล้านคนมีอาการป่วยอย่างรุนแรง[1] ในประเทศไทยเองพบว่าอัตราการติดเชื้อนั้นมีมาอย่างต่อเนื่อง แสดงให้เห็นว่าโรคนี้ไม่เคยหายไปจากเรา และสร้างความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพยากรมากมาย จึงเป็นโอกาสที่พวกเราจะรวมพลังกันต่อสู้กับไข้เลือดออก การจะเอาชนะโรคนี้ได้นั้น ไม่สามารถทำได้ด้วยหน่วยงานหรือใครเพียงคนเดียว แต่ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่ายที่มีความมุ่งมั่นเดียวกันในการป้องกันและควบคุมไข้เลือดออก ทาเคดา มีความยินดีอย่างยิ่งที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือภายใต้บันทึกความเข้าใจ Dengue-Zero นี้ โดยเป็นการตอกย้ำความมุ่งมั่นของทาเคดาในการมอบสุขภาพที่ดีกว่าให้แก่คนไทย และเราพร้อมสนับสนุนทุกความร่วมมือเพื่อบรรลุเป้าหมายไปด้วยกัน”

ไข้เลือดออกเป็นโรคที่ระบาดตลอดปี และพบการระบาดสูงสุดในช่วงฤดูฝน โดยเกิดจากการติดเชื้อไวรัสเดงกีที่มียุงลายเป็นพาหะ เป็นแล้วเป็นซ้ำอีกได้ เนื่องจากเชื้อไวรัสเดงกีมีถึง 4 สายพันธุ์ แหล่งเพาะพันธุ์ยุงที่พบมากได้แก่ กระถางต้นไม้ จานรองกระถางต้นไม้ ท่อระบายน้ำ ซึ่งเป็นที่วางไข่ของยุงลาย ผู้ที่ติดเชื้อมักมีอาการไข้ขึ้นสูง ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อและข้อ ปวดศีรษะอย่างรุนแรง ปวดตา คลื่นไส้ อาเจียน และเกิดผื่นที่ผิวหนัง อย่างไรก็ดี สำหรับกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการรุนแรง อาจจะมีภาวะเกล็ดเลือดต่ำ มีเลือดออกในทางเดินอาหาร ซึมหรือกระสับกระส่าย มือเท้าเย็น หากผู้ป่วยมีอาการเหล่านี้ควรได้รับการรักษาในโรงพยาบาลทันที การรักษาเป็นแบบประคับประคองตามอาการ เนื่องจากโรคนี้ยังไม่มียารักษาจำเพาะ