น้ำเดินก่อนกำหนดอันตรายต่อแม่และลูก แม่ท้องต้องระวังมากๆ

26 November 2017
93515 view

น้ำเดินก่อนกำหนด

น้ำเดินก่อนกำหนดเป็นอย่างไร

น้ำเดิน หรือน้ำคร่ำรั่ว น้ำคร่ำแตก คือสิ่งเดียวกัน คุณแม่หลายๆคนไม่รู็จักน้ำเดินแน่นอน โดยเฉพาะคุณแม่มือใหม่ เพราะภาวะน้ำเดินไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยๆ ยกเว้นกรณีคลอด แต่พบได้บ้างในคุณแม่ตั้งครรภ์ ภาวะน้ำเดินเกิดจากการที่ถุงน้ำคร่ำแตกหรือรั่วทำให้มีน้ำคร่ำไหลออกมา ส่วนใหญ่มักจะเกิดขึ้นเมื่อเริ่มเข้าสู่ระยะการคลอด แต่บางครั้งก็อาจเกิดขึ้นได้แม้ว่าอายุครรภ์ยังไม่ครบกำหนดคลอดก็ตาม ถุงน้ำคร่ำอาจจะแตกเองโดยไม่ทราบสาเหตุหรือมดลูกมีการบีบตัวที่รุนแรง เช่น การเจ็บครรภ์ การได้รับแรงกระแทกจากอุบัติเหตุหรือแม้แต่การมีเพศสัมพันธ์ในขณะใกล้คลอด

อาการของน้ำเดินก่อนกำหนด

คุณตั้งครรภ์ควรสังเกตอาการน้ำเดิน  จะมีน้ำใสๆ คล้ายน้ำปัสสาวะไหลออกมาทางช่องคลอดจำนวนมาก หากมีอาการดังกล่าวให้รีบไปพบแพทย์ทันที  และคุณแม่ควรนอนราบ เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำคร่ำไหลออกมามากเกินไป เพราะอาจทำให้น้ำคร่ำในโพรงมดลูกแห้งจนสายสะดือถูกตัวทารกกดทับ และสายสะดืออาจไหลตามน้ำคร่ำลงมาอยู่ในช่องคลอด ทำให้สายสะดือถูกส่วนนำของทารกกดทับจนทำให้ทารกเสียชีวิตได้เช่นกัน

ปัสสาวะ หรือน้ำเดินก่อนกำหนด แยกอย่างไร

ในไตรมาสสุดท้ายศีรษะของทารกจะลงมากดบริเวณกระเพาะปัสสาวะ ทำให้เกิดอาการปัสสาวะเล็ดได้ ในคุณแม่บางคน อาการปัสสาวะเล็ดทำให้เกิดความครางเเครงใจ ไม่มั่นใจ กังวล ว่า ใช่น้ำคร่ำหรือเปล่า ความแตกต่างระหว่างน้ำคร่ำ และปัสสาวะ ที่คุณแม่ต้องแยกให้ออกคือ ถ้าเป็นถุงน้ำคร่ำรั่วหรือแตกครั้งแรก อาจจะมีน้ำคร่ำออกมามากหรือน้อยก็ได้ แล้วก็จะมีน้ำคร่ำไหลออกมาเรื่อยๆ ไม่หยุดง่ายๆ ลักษณะใส ไม่มีกลิ่น แต่สำหรับปัสสาวะเล็ดแล้วมักจะออกไม่มาก ออกมาครั้งเดียวแล้วก็หยุดปัสสาวะ อาจมีสีเหลืองอ่อน  เหลืงเข้ม หรือสีใสได้ แต่ปัสสาวะต่างจากน้ำคร่ำคือมีกลิ่นฉุน หากคุณแม่แยกไม่ออก แนะนำให้ไปโรงพยาบาล ทางโรงพยาบาลมีวิะีการตรวจแยกว่า ใช่น้ำคร่ำหรือไม่  เพื่อความปลอดภัยของลูกน้อยในครรภ์ค่ะ

อันตรายของน้ำเดินก่อนกำหนด

เพื่อให้เห็นภาพ คุณแม่ลองนึกถึงลูกโป่งนะคะ ข้างในบรรจุน้ำ เมื่อมีรู หรือแผล จะเป็นทางผ่านของเชื้อโรคเข้าไปสู่ลูกของคุณแม่ได้ อันตรายที่เกิดจกน้ำเดินได้แก่

  • รกลอดตัวก่อนกำหนด
  • ติดเชื้อในโพรงมดลูก
  • ต้องผ่าตัดคลอดเรงด่วน
  • ปอดทารกไม่ขยาย อาจทำให้มีปัญหาเรื่องการหายใจเมื่อแรกคลอดได้
  • ทารกคลอดก่อนกำหนด
  • มารดาอาจมีภาวะเสียเลือดมากขณะคลอด ส่งผลต่อสัญญาณชีพของทารก

น้ำเดินก่อนกำหนดควรทำอย่างไร

หากมี น้ำเดินก่อนกำหนด คุณแม่ต้องรีบไปโรงพยาบาลโดยด่วน การที่ต้องให้คุณแม่ไปโรงพยาบาลเพราะอาจจะเกิดอันตรายดังที่กล่าวมาแล้ว และถ้าทารกอยู่ในโพรงมดลูกในท่าที่ผิดปกติ เช่น ท่าขวางหรือท่าเอาก้นลง หรือแม้จะเป็นท่าศีรษะลง แต่ศีรษะยังไม่เข้าในเชิงกรานก็จะไม่กดบริเวณปากมดลูก นอกจากน้ำคร่ำจะออกมาแล้วยังทำให้สายสะดือย้อยเข้ามาในช่องคลอดได้ หรือบางทีคุณแม่อาจจะมองเป็นสายสะดือโผล่ออกมาพ้นปากช่องคลอดก็มี กรณีนี้จะเกิดอันตรายคือขาดเลือดไปเลี้ยง ทำให้ทารกเสียชีวิตได้ภายในเวลาเพียงไม่กี่นาที นี่จึงเป็นเหตุผลว่า ทำไมพอมีน้ำเดินจึงต้องให้คุณแม่รีบไปโรงพยาบาล เพราะแพทย์จะได้รีบช่วยเหลือทันทีโดยการผ่าตัดท้องคลอด

การรักษาน้ำเดินก่อนกำหนด

 การรักษาน้ำเดินก่อนกำหนด แพทย์จะประเมินตามอายุครรภ ดังนี้

กรณีคุณแม่อายุครรภ์ครบกำหนด

  • หากคุณแม่อายุครรภ์ครบกำหนดคือ 37 สัปดาห์ขึ้นไป เเพทย์จะพิจารณาจากประวัติน้ำเดิน หากเกิดขึ้นไม่เกิน 18 ชั่วโมง เเพทย์จะพิจารณาให้คลอดบุตรในทันที อาจเป็นวิธีธรรมชาติ หรือผ่าตั้ดคลอดทางหน้าท้อง ขึ้นอยู่กับอาการและดุลยพินิจของสูติแพทย์
  • หากคุณแม่อายุครรภ์ครบกำหนดคือ 37 สัปดาห์ขึ้นไป แต่น้ำเดินเกิน 24 ชั่วโมง แพทย์อาจพิจารณาผ่าตัดคลอดบุตรพร้อมกับให้ยาปฏิชีวนะร่วมด้วย เพื่อป้องกันการติดเชื้อ  (ลูก เมื่อคลอด กุมารแพทย์อาจพิจารณาให้ได้รับยาปฏิชีวณะด้วยเช่นกัน เพื่อป้องกันการติดเชื้อ )

กรณีคุณแม่อายุครรภ์ยังไม่ครบกำหนด

แพทย์มีแนวทางในการดูแลรักษาแม่กลุ่มอายุครรภ์น้อยดังนี้

  • การณีติดเชื้อ แพทย์อาจกระตุ้นให้ลอดในทันที ไม่ว่าจะอายุครรภ์เท่าไหร่ก้ตามเพื่อรักษชีวิตแม่ไว้
  • กรณีไม่ติดเชื้อ ให้นอนพักโรงพยาบาลและติดตามเรื่องไข้หากคุณแม่มีไข้มากกว่า 38 องศาแพทย์จะเร่งให้คลอดเพราะว่านั่นหมายถึงมีการติดเชื้อของมดลูก หากมีการติดเชื้อเกิดขึ้น แพทย์จะพิจารณาให้ยาปฏิชีวนะเพื่อรักษานาน 1 สัปดาห์ และให้ยาลดการหดรัดตัวของมดลูก ดูแลจนกว่าอายุครรภ์ครบกำหนด หรือพิจารณาแล้วว่าทารกในครรภ์ปลอดภัย แพทย์จะให้ทำการคลอดตามลำดับ

สาเหตุการเกิดน้ำเดินก่อนกำหนด

  • การได้รับอุบัติเหตุระหว่างตั้งครรภ์
  • การตั้งครรภ์แฝด หรือมีเนื้องอกมดลูก
  • มีประวัติการคลอดก่อนกำหนดในครั้งก่อน
  • ติดเชื้อในช่องคลอดระหว่างตั้งครรภ์
  • มีเลือดออกผิดปกติทางช่องคลอดระหว่างตั้งครรภ์
  • มีการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะระหว่างตั้งครรภ์
  • แม่ตั้งครรภ์สูบบุหรี่ หรืออยู่ในสิ่งแวดล้อมที่มีกลิ่นควันบุหรี่ตลอดเวลา
  • คุณแม่ตั้งครรภ์น้ำหนักตัวน้อยกว่าเกณฑ์ ขาดการบำรุงครรภ์ที่ดี

วิธีป้องกันน้ำเดินก่อนกำหนด

  • ระวังการเกิดปัจจัยที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุต่างๆ เช่น การกระทบกระแทกบริเวณท้อง  การเดินทาง
  • ไม่ทำงานที่หนักเกินไป
  • รักษาสุขภาพให้แข็งแรง
  • รับประทานอาหารมีประโยชน์ 5 หมู่
  • รักษาความสะอาดของจุดซ่อนเร้น เพื่อป้องกันการติดเชื้อ
  • ดูแลสุขภาพช่องปากและฟัน เพราะฟันผุส่งผลต่อการติดเชื้อในถุงน้ำคร่ำทำให้น้ำเดินได้

การดูแลสุขภาพขณะตั้งครรภ์เป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นมาก จงทะนุถนอมลูกน้อยในครรภ์ยิ่งกว่าไข่ในหิน เพราะหากเกิดอันตรายขึ้นแล้ว ยากที่จะหาทางรักษาได้  Mama Expert สนับสนุนให้คุณแม่ไปฝากครรภ์ตามนัดหรือให้ครบตามมาตรฐานของการฝากครรภ์คือ มากกว่า 6 ครั้งตลอดการตั้งครรภ์9เดือน  เพื่อได้รับการประเมินและตรวจร่างกาย วินิจฉัยความผิดปกติจะได้ รักษา แก้ไขได้อย่างทันท่วงทีค่ะ

บทความแนะนำเพิ่มเติม

1. อาการเจ็บครรภ์เตือนและเจ็บครรภ์จริง เป็นอย่างไร?

2. เจ็บอวัยวะเพศ และ เจ็บหัวหน่าวขณะตั้งครรภ์ รักษาอย่างไรดี

3. ฝึกการหายใจขณะคลอดให้ถูกวิธี ลูกปลอดภัยไม่พร่องออกซิเจน

เรียบเรียงโดย :  Mamaexpert Editorial Team