ซึมเศร้าหลังคลอด ปล่อยไว้นานอาจนำไปสู่โรคจิตเภท

28 September 2019
6860 view

ซึมเศร้าหลังคลอด

ซึมเศร้าหลังคลอดเป็นภาวะที่แม่ลูกอ่อนส่วนใหญ่ต้องเจอ ความทรมานที่คนรอบข้างมักไม่เข้าใจ เป็นภาวะที่เกิดจากฮอร์โมนแม่ มีผลต่อจิตใจ ไม่เพียงในแม่หลังคลอดเท่านั้น โรคซึมเศร้าเป็นโรคที่ต้องการความเข้าใจ และจำเป็นต้องเยียวยา หรือรักษาอย่างถูกต้อง และในวันนี้ Mamaexpert นำเรื่องราวของคุณแม่ที่มีภาวะซึมเศร้ามาแชร์กัน ตามมาเลยค่ะ

ซึมเศร้าหลังคลอด เรื่องราวจากแฟนเพจ “เรื่องเด็กๆ by หมอแอม” โดย พญ.พรนิภา ศรีประเสริฐ ที่อธิบายถึงธรรมชาติของภาวะซึมเศร้าหลังคลอด และวิธีรับมือที่ถูกต้อง ไปศึกษาพร้อมกันเลยค่ะ

ซึมเศร้าหลังคลอด เกิดขึ้นได้อย่างไร?

ซึมเศร้าหลังคลอด เป็นภาวะที่เกิดจากฮอร์โมนแม่ที่พลุ่งพล่านตลอดระยะเวลาการตั้งครรภ์ แต่ฮอร์โมนดังกล่าวจะลดฮวบลงทันทีหลังคลอด 3-4 วัน หรืออาการคล้ายกับวัยทองนั่นเอง โดยปกติซึมเศร้าหลังคลอดจะดีขึ้นภายใน 2 สัปดาห์ ซึ่งเป็นช่วงที่ร่างกายแม่อยู่ในระยะปรับตัว ทั้งการกิน เวลานอน การให้นม ปั๊มนม หรือรวมไปถึงอาการผมร่วง  สภาพร่างกายที่เปลี่ยนไป และในระยะนี้เองคุณพ่อ หรือคนรอบตัวต้องทำความเข้าใจ และเลี่ยงคำพูดที่อาจกระทบจิตใจ เลี่ยงการวิจารณ์ที่ไม่สร้างสรรค์ เพราะมันไม่ตลกสำหรับคุณแม่ เช่น “ท้องยังไม่ยุบอีกหรอ” “น้ำนมมารึยัง?” แล้วจะรู้ได้อย่างไร? ว่าคุณแม่กำลังประสบกับภาวะซึมเศร้าหลังคลอดอยู่ ไปเช็กอาการในหัวข้อถัดไปเลยค่ะ

ซึมเศร้าหลังคลอด เช็กได้ตามอาการดังนี้

1.รู้สึกหดหู่ ร้องไห้คนเดียว
2.เบื่ออาหาร หรืออยากอาหารตลอดเวลา (สุดโต่งไปอย่างใดอย่างหนึ่ง)
3.เหนื่อยล้า ไม่อยากทำอะไร หรือบางคนอยากนอนแล้วไม่อยากตื่นขึ้นมาอีกเลย
4.อะไรที่เคยชอบ ก็กลายเป็นไม่ชอบ
5.รู้สึกง่วงตลอดเวลา แต่พอจะนอนก็นอนไม่หลับ กระสับกระส่าย
6.รู้สึกว่าตัวเองไร้ค่า เป็นแม่ที่ไม่ได้เรื่อง
7.มีความคิดที่อยากทำร้ายตัวเอง และลูก
หากแม่ๆมีอาการดังกล่าวเกิน 2 สัปดาห์ ไปพบจิตแพทย์ด่วนๆเลยค่ะ เพื่อช่วยเยียวยา และรักษาอย่างถูกต้อง แต่รู้หรือไม่คะ? ว่าแท้จริงแล้วคุณพ่อก็มีภาวะซึมเศร้าหลังคลอดได้เช่นกัน เกิดจากอะไร ตามมาเลยค่ะ

ซึมเศร้าหลังคลอด คุณพ่อก็เป็นได้!

หลายคนก็อาจจะไม่รู้มาก่อนว่าคุณพ่อ ก็เป็นซึมเศร้าหลังคลอดได้ หรือในทางการแพทย์เรียกภาวะนี้ว่า “paternal depression” เป็นภาวะที่เกิดจากปัจจัยการกินที่เปลี่ยนไป เวลาของการนอนที่ไม่เหมือนเดิม การมีส่วนร่วมในการเลี้ยงลูก ซึ่งจะนำไปสู่การอ่อนเพลีย ซึมเศร้า ไม่มีแรง เบื่ออาหาร รู้สึกไม่อยากทำอะไร สิ่งที่เคยชอบก็ไม่ชอบแล้ว อาการส่วนใหญ่จะคล้ายกับอาการของคุณแม่ และจำเป็นที่คุณพ่อต้องไปพบจิตแพทย์ด้วยเช่นกันค่ะ 

ในสองหัวข้อข้างต้นเป็นอาการทั่วไป ที่สามารถดีขึ้นได้หลังจาก 2 สัปดาห์ แต่!!! อย่าชะล่าใจไปค่ะ เพราะหากอาการซึมเศร้าหลังคลอดไม่ดีขึ้น อาจนำไปสู่โรคจิตเภทได้

ซึมเศร้าหลังคลอด นำไปสู่โรคจจิตเภทได้อย่างไร?

ซึมเศร้าหลังคลอด แม้จะเป็นภาวะที่แม่ลูกอ่อนต้องเจอ หลายคนอาจคิดว่าเดี๋ยวก็คงหาย แต่หากปล่อยให้อาการหนักขึ้น เป็นระยะเวลานาน จะนำไปสู่โรคจิตเภทได้ไม่ยาก โรคจิตเภท หรือ  postpartum psychosis ในระยะแรกเริ่มจะมีอาการดังนี้
-สับสน กระวนกระวาย
-นอนไม่หลับ
-หูแว่วได้ยินเสียงแปลก หรือเหมือนมีคนสั่งให้ทำร้ายลูก
-เห็นภาพหลอน
-หลงผิด คิดว่าเด็กไม่ใช่ลูกของตัวเอง
-หวาดระแวง
-และที่อันตรายที่สุดคือ อยากทำร้ายตัวเอง และลูก

อาการข้างตนแม้จะเจอได้ไม่บ่อยนัก แต่ถือเป็นภาวะที่รุนแรง และจำเป็นที่จะต้องพบจิตแพทย์ด่วนที่สุด อ๊ะ! อ๊ะ! แล้วแม่ที่สุขภาพแข็งแรงล่ะ จะมีโอกาสเป็นซึมเศร้าหลังคลอดได้ไหม? คำตอบคือ แม่ทุกคนมีโอกาสที่จะประสบกับภาวะนี้ แม้จะดูแข็งแรง สตรองแค่ไหนก็ตาม การวางแผนก่อนคลอดจึงเป็นเรื่องสำคัญ เพื่อรับมือกับภาวะนี้ได้อย่างรู้เท่าทัน

ซึมเศร้าหลังคลอดรับมือได้ แค่วางแผนก่อนคลอด

การวางแผนก่อนคลอดสำคัญขนาดนั้นเลยหรือ? แท้จริงแล้วการวางแผนเป็นอีกหนึ่งวิธีที่ช่วยให้เราเตรียมใจ ที่จะรับมือหลังจากวันคลอด กับสิ่งที่จะเปลี่ยนไปจากเดิม คุณพ่อ-คุณแม่ และญาติๆ ต้องตกลงหน้าที่กันไว้ก่อน ไม่ว่าจะเป็น จะเลี้ยงลูกสไตล์ไหน ตกลงเวรดูแลลูก อุปกรณ์ที่ต้องใช้ เตรียมรับมือความเชื่อผิดๆของย่า/ยาย เตรียมใจไว้ก่อนหากไม่มีน้ำนม พยายามแค่ไหนน้ำนมก็ไม่มาก็อย่านอยด์ เลี้ยงนมผงก็ไม่ใช่เรื่องแย่เสมอไป 

เมื่อเช็กอาการซึมเศร้าหลังคลอดกันเรียบร้อยแล้ว ก็เตรียมรับมือกับภาวะซึมเศร้าหลังคลอด และรู้เท่าทันเพื่อลดความรุนแรง พยายามหาอะไรทำให้ตัวเองรีแล็กซ์ ช้อปปิ้งบ้าง ออกไปข้างนอกบ้าง ให้จิตใจแม่รู้สึกสบาย ด้วยความห่วงใยจาก Mamaexpert 

บทความแนะนำเพิ่มเติม
1.9 สัญญาณบอกเหตุว่าคุณอาจเป็นโรคซึมเศร้า เช็คด่วน
2.รับมือภาวะ Baby Blue ปัญหาซึมเศร้าหลังคลอดอย่างมืออาชีพ
3.ภาวะซึมเศร้าหลังคลอด รับมืออย่างไรดี คุณพ่อมือใหม่เตรียวตัวให้ดีกับปัญหานี้!!

เรียบเรียงโดย : Mamaexpert Editorial Team

ขอบคุณข้อมูล : พญ.พรนิภา ศรีประเสริฐ (กุมารแพทย์) แฟนเพจ “เรื่องเด็กๆ by หมอแอม

ติดตามเรื่องเด็กๆ by หมอแอม ตอบทุกปัญหาเกี่ยวกับเด็ก 
โดย พญ.พรนิภา ศรีประเสริฐ (กุมารแพทย์)
ในรูปแบบ VDO "ทุกวันพฤหัสบดี" ได้ที่ youtube : Mamaexpert official