ไข้เลือดออก
ปี 2562 ไข้เลือดออกระบาดหนัก กรมควบคุมโรคผยจำนวนผู้ป่วย 23,000 ราย เสียชีวิตแล้ว 30 ราย เป็นจำนวนที่สูงที่สุดในรอบ 5 ปี และมากกว่าปีที่ผ่านมาสองเท่า ในกรุงเทพฯป่วยสูงสุด 1,600 ราย ล่าสุดตรวจพบ”เดงกี”สายพันธ์ 2 ชี้เป็น 1 ใน 4 สายพันธ์ที่รุนแรงที่สุด แพทย์เตือนอย่าซื้อยาทานเอง วอนร้านยาเลี่ยงจ่ายยาเอ็นเสด หากมีไข้สูงให้รีบพบแพทย์
เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2562 ที่ผ่านมาเว็บไซต์ผู้จัดการออนไลน์ รายงานว่า นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค()คร.) กระทรวงสาธารณะสุข (สธ.) เปิดเผยว่า จำนวนผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นกว่าแสนราย ขณะนี้นับตั้งแต่ 1 มกราคม 2562 ถึงปัจจุบัน(5 มิถุนายน 2562) มีผู้ป่วยด้วยโรคไข้เลือดออกแล้ว 23,000 ราย โดยมีผู้เสียชีวิตแล้ว 30 ราย แต่อีก 13 รายในจำนวนผู้เสียชีวิต อยู่ในระหว่างตรวจสอบข้อเท็จอีกครั้งว่ามาจากสาเหตุโรคไข้เลือดออกหรือไม่ นพ.สุวรรณชัย กล่าวอีกว่า เป็นสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วง และพื้นที่ที่ต้องระวังเป็นพิเศษคือ ภาคอีสาน โดยเฉพาะอีสานใต้ อย่าง อุบลราชธานี ซึ่งมีจำนวนผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกติดกันหลายราย รวมถึงกรุงเทพฯ และเขตปริมณฑล
"จากการตรวจสอบพบว่า โรคไข้เลือดออกที่ระบาดในปีนี้ ส่วนใหญ่เป็นเชื้อไวรัสเดงกีสายพันธุ์ที่ 2 ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่มีความรุนแรงมากที่สุดใน 4 สายพันธุ์ ยิ่งหากเป็นการป่วยไข้เลือดออกครั้งที่ 2 จะยิ่งมีความสัมพันธ์กับความรุนแรงของโรคมากขึ้น ดังนั้น ขอย้ำว่า หากประชาชนมีไข้สูงลอย 2 วันแล้วไม่ลด ให้รีบไปพบแพทย์ และถึงแม้ไข้จะลดแล้วก็ต้องดูว่า สภาพร่างกายผู้ป่วยเป็นอย่างไร ซึมลง ไม่มีเรี่ยวแรงหรือไม่ หากเป็นเช่นนี้ให้รีบไปพบแพทย์ซ้ำ อย่าซื้อยากินเอง หรือคิดว่าเป็นไข้หวัดธรรมดา และขอความร่วมมือคลินิก ร้านขายยา หากเจอผู้ป่วยไข้สูง ขอให้หลีกเลี่ยงการจ่ายยากลุ่มเอ็นเสด เพราะเสี่ยงทำให้เลือดออกเสียชีวิตได้ และขอทุกฝ่ายช่วยกันทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย ป้องกันไม่ให้ยุงกัดด้วย เช่น นอนกางมุ้ง ทายากันยุง" นพ.สุวรรณชัย กล่าว
ล่าสุดจากรายงานเอกสารของกรมควบคุมโรค ข้อมูล ณ วันที่ 5 มิถุนายน 2562 พบผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกแล้วจำนวน 26,430 ราย เสียชีวิต 41 ราย เมื่อเทียบกับสถิติปีที่ผ่านมาในระยะเวลาเท่ากัน ปีนี้มีสถิตติเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่า โดยปี 2561 จำนวนผู้ป่วย 11,704 ราย เสียชีวิต 28 ราย และถือเป็นจำนวนที่สูงที่สุดในรอบ 5 ปี
สถิติการกระจายการเกิดโรคไข้เลือดออกรายภาค พบว่าภาคใต้มีอัตราการป่วยสูงที่สุด เท่ากับ 46.78 / ประชากรแสนคน รองลงมาภาคกลาง( 44.25 ) ภาคอีสาน ( 42.30 ) และภาคเหนือ( 23.23 ) ตามลำดับ และเมื่อพิจารณาผู้ป่วยตามช่วงอายุพบว่า ส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มอายุ 5-14 ปี ป่วย 10,893 ราย รองลงมา กลุ่มอายุ 15-34ปี (ป่วย 9,814 ราย) กลุ่มอายุ 35-59 ปี (ป่วย 3,163 ราย) กลุ่มอายุ 0-4 ปี (ป่วย 1,813 ราย) และกลุ่มอายุ 60 ปีขึ้นไป (ป่วย 748 ราย) ตามลำดับ
รายชื่อจังหวัดที่มีผู้ป่วยโรคไข้เลือดออก 5 ลำดับแรก ได้แก่ อุบลราชธานี 679 ราย รองลงมา นครราชสีมา (571 ราย) ตราด (226 ราย) จันทบุรี (141 ราย) และสระแก้ว ( 134 ราย ) ตามลำดับ
จากการสังเกตจำนวนตัวเลขที่เพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าจากปีที่ผ่านมา (ข้อมูล ณ วันที่ 5 มิถุนายน 2562 ) เป็นจำนวนผู้ป่วย 26,430 ราย และเสียชีวิต 41 ราย นั้น ถือเป็นสถานการณ์ฉุกเฉินที่ต้องเร่งยับยั้ง ในช่วงหน้าฝนของทุกปีโรคไข้เลือดออกจะระบาดหนัก ยิ่งในปีนี้ตรวจพบสายพันธุ์ “เดงกี”ที่มีความรุนแรงขึ้น ดังนั้นแล้วสิ่งสำคัญคือ ต้องป้องกันตนเอง และคนในครอบครัวให้ห่างจากโรคไข้เลือดออกโดยระวังอย่าให้ยุงกัด, ใช้อุปกรณ์ป้องกัน เช่น สเปรย์ไล่ยุง ยาจุดกันยุง มุ้ง อื่นๆ, ทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุง, หากป่วยให้หลีกเลี่ยงการถูกยุงกัดใน 5 วันแรกของการป่วย, และติดต่อเจ้าหน้าที่ให้เข้ามาพ่นยากำจัดยุง (ขอบคุณข้อมูลจากโรงพยาบาลบางปะกอก 1) และหากมีไข้สูงไม่ควรซื้อยาทานเอง โดยเฉพาะยาเอ็นเสด อย่างที่ นพ.สุวรรณชัย กล่าวไว้ข้างต้น ด้วยความห่วงใยจาก Mamaexpert
บทความแนะนำเพิ่มเติม
1.โรคระบาดหน้าฝน ร้ายแรงสุดๆ พ่อแม่ต้องรู้!!
2.โรคติดต่อที่มากับหน้าฝน แม่ๆ รีบเช็กด่วนๆ !!!
3.ไข้เลือดออกและ 27 ข้อควรรู้เกี่ยวกับไข้เลือดออก
เรียบเรียงโดย : Mamaexpert Editorial Team
ขอบคุณภาพ/ข้อมูลจาก : ผู้จัดการออนไลน์, กรมควบคุมโรค