เด็กไม่กินผัก
ปัญหาเด็กไม่ยอมกินผัก ส่วนหนึ่งมาจากการที่คุณแม่ไม่หัดให้กินผัก และอีกส่วนหนึ่งจากการที่คุณแม่ไม่ค่อย (หรือไม่เคย) ให้เด็กกินผักต้มเปล่าๆเป็นกับข้าว แต่ใส่ผักผสมลงในข้าวตุ๋นตลอดมา ทำให้เด็กไม่คุ้นเคยกับรสชาติของผักล้วนๆ เมื่อคุณแม่ป้อนผักจึงเอาลิ้นดุนออกมาหมด จะทำอย่างไร เริ่มอย่างไรมาดูกันค่ะ
ทำไมเด็กไม่กินผัก
ปัญหาเด็กกับการกินผัก ดูจะเป็นของคู่กันที่พ่อแม่อย่างเราไม่อยากพบเจอเลยจริงๆ คุณแม่มาลองสำรวจกันก่อนสิว่า การที่ลูกน้อยไม่ยอมกินผักมาจากสาเหตุใดบ้าง ที่เป็นชนวนปัญหาของลูกน้อยในครั้งนี้ เพื่อจะได้รู้วิธีช่วยลูกรักหันมาชื่นชอบการกินผักเสียที
สาเหตุและวิธีปัญหาเด็กไม่กินผัก
1. เด็กไม่กินผักเพราะถูกตามใจ
เชื่อว่าต้องมีกันบ้างที่เมื่อลูกเห็นผักแล้วร้องยี๊ บังคับมากไปก็ไม่ดี แต่หากตามใจ ปล่อยปละละเลยจนกลายเป็นความเคยชินก็ไม่ดีอีกเช่นกัน บางทีสาเหตุของการตามใจอาจมาจากคุณแม่หรือปู่ย่าตายายเอาอกเอาใจ ไม่บังคับหรือปล่อยไป เมื่อเห็นว่าเด็กไม่อยากกินก็ปล่อยตามใจจนเป็นเลยตามเลย และเด็กก็พลอยติดนิสัยไม่ชอบกินผักไปด้วย
วิธีแก้ปัญหา
แม้ว่าบังคับกันเกินไปจะไม่ดีก็ใช่ว่าจะปล่อยตามใจมากเช่นกัน คุณแม่ต้องค่อยๆ พูดคุยชวนเขากินด้วยคำพูดดีๆ และหลอกล่อพาเขากินพร้อมกัน
2. เด็กไม่กินผักเพราะพ่อแม่ไม่กินผัก
เด็กมักมีพฤติกรรมเลียนแบบจากสิ่งรอบตัวและคนใกล้ชิด บ้านไหนที่ครอบครัวรักการกินผัก เมื่อถึงช่วงเวลารับประทานอาหารหากลูกเห็นจานผักวางอยู่บนโต๊ะ และเห็นพ่อแม่พี่น้องของเขาชอบทานกันอย่างเอร็ดอร่อย ทำไมเขาจะไม่อยากทานแบบนี้ เพราะพฤติกรรมการทำเป็นต้นแบบจะกระตุ้นให้เขาอยากกินผัก แต่ที่เขาไม่ชอบกินก็เพราะไม่มีใครกินเลย
วิธีแก้ปัญหา
คุณพ่อคุณแม่คงต้องหัดกินผักให้ลูกน้อยเห็นกันบ่อยๆ จะได้กระตุ้นให้เขาอยากกินมากขึ้น
3. เด็กไม่กินผักเพราะถูกบังคับมากเกินไป
ช่วงเวลาแห่งความสุขในครอบครัวที่ได้อยู่พร้อมหน้าพร้อมตาคือการทานอาหารร่วมกัน พูดคุยแลกเปลี่ยนเรื่องดี ๆ ระหว่างกัน แต่หากมีสถานการณ์บีบบังคับ หรือมีเรื่องชวนให้ตึงเครียดเกิดขึ้น ความอร่อยและรอยยิ้มที่ควรจะมีบนโต๊ะอาหารก็จะเลือนหายไป กลายเป็นความรู้สึกอึดอัดและรู้สึกไม่ดีในทุก ๆ ครั้งเมื่อถึงเวลามื้ออาหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อต้องเจอบังคับให้กินผักให้หมด
วิธีแก้ปัญหา
ถ้าคุณแม่อยากให้ลูกมีนิสัยรักการกินผักก็ต้องสร้างบรรยากาศดีๆ บนโต๊ะอาหาร ชวนกันพูดคุยแต่เรื่องดีๆ ที่น่าฟัง คุณแม่อาจจะจัดผักในสัดส่วนที่พอดีไม่ใช่ตักผักในจานจนมีปริมาณล้นพูนเกินไป ทางที่ดีคุณพ่อคุณแม่ควรใช้วิธีชักชวน ค่อย ๆ ตักผักให้ลูกกินทีละน้อย สร้างแรงจูงใจให้เขาตักกินแต่ไม่ใช่ติดสินบนด้วยขนม ของเล่น หรือสิ่งของต่าง ๆ ที่ลูกต้องการ
4. เด็กไม่กินผักเพราะจัดผักไม่น่ากิน
สาเหตุหนึ่งที่ทำให้ลูกน้อยเห็นผักแล้วเมินหน้าหนีคือ จานอาหารของเขามาพรั่งพร้อมเต็มไปด้วยผักสีเขียวปี๊เต็มล้นจาน แถมยังจัดหน้าตาไม่น่ารับประทานอีก
วิธีแก้ไข
แนะนำให้คุณแม่จัดผักหลากหลายสีสันสลับเวียนกันไป ไม่ควรเต็มไปด้วยผักเขียวๆ หลายชนิด อาจจะมีแครอท กระหล่ำดอก ข้าวโพดอ่อนและบล็อกโคลี โดยใช้ผักเหล่านี้เสริมเวียนกันไปและจัดสีสันหน้าตาให้ออกมาเหมือนรูปการ์ตูนน่ารักๆ หั่นผักเป็นชิ้นเล็กๆ เท่านี้ก็ช่วยกระตุ้นให้เขาอยากกินขึ้นมาบ้างแล้วค่ะ
เด็กไม่กินผักมีผลเสียอย่างไร
1. ท้องผูก
2. ขาดวิตามิน แร่ธาตุและกรดอะมิโนจำเป็นบางชนิด
3. ปัญหาสุขภาพโรคอื่นๆตามมา เช่น เบาหวาน มะเร็งลำไส้
วิธีแก้ปัญหาเด็กไม่กินผักให้กินผักสำเร็จ
ขั้นแรกเริ่มเลย คุณแม่อาจใช้วิธีหั่นผักละเอียดๆแล้วใส่ปนลงไปในอาหารอื่นๆด้วย
- เช่น ไข่เจียวใส่ผัก หรือผสมลงในหมูสับ ทำหมูทอดใส่ผัก เป็นต้นการ สร้างความคุ้นเคยให้เด็กกินผัก
- หรืออาจเริ่มต้นด้วยน้ำซุปใสๆแล้วเพิ่มเนื้อผักนุ่มๆหวานๆลงไป เช่น ผักกาดขาว ตำลึง ฟัก ฯลฯ
- หรืออาจทำผักชุบแป้งทอดให้เด็กๆกินเล่น หรือให้กินขนมที่ทำจากผัก เช่น กล้วยบวดชี ขนมฟักทอง หรือการผัดผักหั่นชิ้นเล็กกับน้ำมันหอยให้เด็กๆกินแกล้มกับของชอบ
Trip
ปริมาณผักมื้อแรกสำหรับลูก
ครั้งแรกที่ให้เด็กกินผัก ควรเริ่มจาก 1 ช้อนชา แล้วจึงค่อยๆเพิ่มเป็น 2 ช้อนโต๊ะ แล้วเพิ่มขึ้นเรื่อยๆจนถึง 1/4 ถ้วย และควรให้อาหารผักกับเด็กในมื้อบ่ายหรือมื้อเที่ยงก่อนโดยผสมกับข้าวและ เนื้อสัตว์ต่างๆ ต่อมาจึงเพิ่มเป็นมื้อเย็นด้วยสัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง และเมื่อเด็กกินอาหารได้ครบ 3 มื้อ ก็ควรจัดตารางอาหารเป็น มื้อเช้าเป็นน้ำผลไม้ ผลไม้สด ส่วนมื้อกลางวันและมื้อเย็นควรจะให้ทั้งผักใบเขียวและผักสีเหลือง
เคล็ดลับดีๆที่ Mamaexpert นำมาฝากในวันนี้ เชื่อว่าช่วยคุณแม่ได้มากทีเดียว วันนี้เริ่มเมนูผักเลยละกันค่ะ !!!
บทความแนะนำสำหรับคุณแม่
1. ผลไม้สำหรับเด็ก 6-12 เดือน คุณแม่เตรียมให้ถูกและเลือกให้เป็น
2. ส่งเสริมพัฒนาการด้านการเคี้ยวกลืนของเด็กวัย 8-10 เดือนด้วยผลไม้
3. 10 ผลไม้ย่อยง่ายสำหรับเด็ก วัย 6 เดือนขึ้นไป
เรียบเรียงโดย : Mamaexpert Editorial Team