การนับอายุครรภ์ที่ถูกต้อง มีวิธีนับอย่างไร

03 December 2015
70923 view

การนับอายุครรภ์

ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ นับอายุครรภ์

อายุครรภ์ หรือ gestational age  หมายถึง ระยะเวลาของไข่ ผสมกับสเปิร์มจนกลายเป็นตัวอ่อน หรือทางการแพทย์ที่เรียกว่า เอ็มบริโอ  อายุครรภ์ทางการแพทย์ แบ่งออกเป็น 40 สัปดาห์ด้วยกัน เพื่อนัดการตรวจร่างกายของแม่ตั้งครรภ์และติดตามพัฒนาการทารกในครรภ์อย่างใกล้ชิด อายุครรภ์อย่างหยาบแบ่งออกเป็น 9 เดือน  ใน 9เดือน ยังเเบ่งออกเป็น 3 ไตรมาสด้วยกันคือ

  • ไตรมาสที่ 1 คือ อายุครรภ์ เดือนที่ 1 – 3
  •  ไตรมาสที่ 2 คือ อายุครรภ์ เดือนที่ 4 – 6
  • ไตรมาสที่ 3 คือ อายุครรภ์เดือนที่ 7 – 9

การนับอายุครรภ์ สำคัญอย่างไร

อายุครรภ์  เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์และทารกในครรภ์ เนื่องจากอายุครรภ์ที่แม่นยำ จะทำให้สามารถวินิจฉัยและตัดสินใจในการเลือกให้การรักษาอย่างเหมาะสมเมื่อเกิดภาวะแทรกซ้อนระหว่างตั้งครรภ์ได้ ทางการแพทย์มีเกณฑ์ในการคำนวณอายุครรภ์ ดังนี้

การนับอายุครรภ์ จากประจำเดือน

การนับอายุครรภ์จากประจำเดือนเพื่อดูวันกำหนดคลอด (Expected date of delivery หรือ EDD) จะใช้กฎของ Naegele (Neagele’s rule) คือ เอาวันแรกของประจำเดือนครั้งสุดท้าย บวก 7 วัน ลบด้วย 3 เดือน ก็จะเป็นวันกำหนดคลอดตัวอย่างการคำนวณ ประจำเดือนครั้งสุดท้าย คือ วันที่ 10 กันยายน 2555 กำหนดคลอด จะเป็น 17 มิถุนายน 2556 นั่นเอง

การนับอายุครรภ์กรณีรอบเดือนมาไม่สม่ำเสมอ รอบเดือนนานกว่า 28 วันหรือจำประจำเดือนครั้งสุดท้ายไม่ได้ คุณหมอจะอัลตราซาวด์เพื่อวัดขนาดของถุงการตั้งครรภ์ (gestational sac) หรือความยาวทารก (Crown rump length) ซึ่งจะแม่นยำที่สุดในช่วงไตรมาสแรก (อายุครรภ์น้อยกว่า 14 สัปดาห์) และจะแม่นยำน้อยลงเมื่ออายุครรภ์มากขึ้น เพื่อกำหนดวันกำหนดคลอด 

การนับอายุครรภ์มีประโยชน์อย่างไร

การนับอายุครรภ์ของสูติแพทย์สำคัญมาก เพื่อการตรวจพิเศษต่างๆ ที่คุณแม่แต่ละช่วงอายุครรภ์ควรจะได้รับ การตรวจพิเศษต่างๆ แต่ละเดือนแต่ละสัปดาห์แตกต่างกัน อีกทั้งการนัดตรวจครรภ์ของคุณแม่อายุครรภ์อ่อนๆ กับคุณแม่ครรภ์แก่ก็นัดต่างกันด้วย การนับอายุครรภ์ ทำให้คุณแม่ได้ทราบถึงสิ่งต่างๆที่สำคัญในการตั้ครรภ์ เช่น 

อายุครรภ์ครบกำหนด หมายถึง อายุครรภ์ 37 – 42 สัปดาห์

กำหนดคลอด ในคุณแม่คลอดธรรมชาติ แพทย์ จะนัดคลอดวันที่อายุครรภ์ครบ 40 สัปดาห์ แต่ตามความเป็นจริงคุณแม่จะคลอดไม่ตรงกับวันที่คุณหมอนัด เป็นการนัดเพื่อให้คุณแม่เตรียมตัวและหมั่นสังเกตอาการที่บ่งบอกว่าต้องมาโรงพยาบาลค่ะ  ส่วนในคุณแม่ที่ต้องผ่าตัดคลอด แพทย์จะนัดผ่าตัดเมื่ออายุครรภ์ 37 สัปดาห์ขึ้นไป ให้ถือวันนั้นเป็นกำหนดคลอด (วันผาคลอด)

ทารกคลอดครบกำหนด หมายถึง คุณแม่ที่คลอดในช่วงอายุครรภ์ 37  –  42  สัปดาห์ ช่วงเวลาดังกล่าว เป็นระยะเวลาที่ ทารกในครรภ์มีการพัฒนาการทางกายเจริญเต็มที่ พร้อมออกมาสูโลกภายนอกเพื่อหายใจเอง

ทารกคลอดก่อนกำหนด หมาถึง  คลอดก่อนอายุครรภ์ 37 สัปดาห์  อายุครรภ์ต่ำกว่า20 สัปดาห์ ทางการแพทย์เรียกว่าการแท้งบุตร

ครรภ์เกินกำหนด / อายุครรภ์เกินกำหนด หมายถึง อายุครรภ์ 42 สัปดาห์ขึ้นไป ในคุณแม่ตั้งครรภ์ที่ไม่มีอาการเจ็บครรภ์หรือสัญญาณใดๆเกี่ยวกับการคลอด สูติแพทย์จะนัดทำการเร่งคลอด และผ่าตัดคลอดในรายที่ทำการเร่งคลอดแล้วไม่ได้ผล ตามลำดับ

การนับอายุครรภ์ นับตามอัลตราซาวด์ได้หรือไม่

ในคุณแม่ตั้งครรภ์ที่ จดจำรอบเดือนได้อย่างแม่นยำ สูติแพทย์จะยึดอายุครรภ์ตามรอบเดือน ยกเว้นในรายที่รอบเดือนไม่ปกติ และจดจำรอบเดือนไม่ได้ สูติแพทย์จะทำอัลตราซาวด์และยึดอายุครรภ์ตามการทำอัลตราซาวด์  อายุครรภ์จากรอบเดือนและจากการทำอัลตราซาวด์ จะแตกต่างกันไม่เกิน 14 วัน ( ตามปกติ) แต่หากพบว่า อายุครรภ์ห่างกันเกิน 14 วัน น่าจะเกิดจาก การจดจำรอบเดือนคลาดเคลื่อนมากกว่า การทำอัลตราซาวด์เพื่อประเมินอายุครรภ์ต้องทำผ่านช่องคลอดถึงจะแม่นยำสูง การทำอัลตราซาวด์ผ่านทางหน้าท้อง พบมีคามคลาดเคลื่อนจากหลายปัจจัยเช่น ผนังหน้าท้องหนา  มีพังผืดเยอะ

ทำอย่างไรเมื่อนับอายุครรภ์จากอัลตราซาวด์และนับอายุครรภ์จากรอบเดือนไม่ตรงกัน

คุณแม่ตั้งครรภ์กลุ่มนี้พบได้บ่อย วิตกกังวลกับอายุครรภ์ ว่าไม่ตรงกันระหว่างทำอัลตราซาวด์และ นับรอบเดือน เมื่ออายุครรภ์ เข้าสู่ไตรมาสสุดท้าย ให้หมั่นสังเกตอาการผิดปกติ เช่น การดิ้นของลูก อาการท้องแข็งถี่ น้ำเดิน การเจ็บครรภ์ เพราะสิ่งเหล่านี้จะเป็นการเตื่อนสัญญาณเตรี่ยมตัวคลอดได้อย่างแม่นยำมากกว่าอายุครรภ์  อย่ามุ่งเน้นแค่อายุครรภ์เพียงอย่างเดียว การสังเกตการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นระหว่างตั้งครรภ์ เป็นการเตรียมความพร้อมและชัวร์ที่สุดค่ะ

บทความแนะนำสำหรับคุณแม่ 

  1. เทคนิคการเลือกสถานที่ ฝากครรภ์
    1. การเปลี่ยนแปลงขณะตั้งครรภ์ ที่แม่ท้องต้องรู้
    2. ฝากครรภ์ฟรี ปี60 สิทธิประโยชน์ดีๆแม่ท้องรู้หรือยัง ?

    เรียบเรียงโดย : Mamaexpert Editorial Team