โรคโลหิตจางในเด็ก
โลหิตจาง หรือภาวะเลือดจาง คือภาวะที่ร่างกายมีปริมาณเม็ดเลือดแดงน้อยกว่าปกติ เนื่องจากเม็ดเลือดแดงมีหน้าที่ในการส่งออกซิเจนไปให้เซลล์และเนื้อเยื่อต่างๆทั่วร่างกาย การที่เม็ดเลือดแดงลดลงจะส่งผลทำให้เกิดความผิดปกติได้หลากหลาย โดยทำให้มีอาการซีด อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย ส่วนใหญ่ไม่มีภาวะแทรกซ้อนร้ายแรงแต่จะส่งผลต่อความสามารถในการเรียนรู้ เมื่อเด็กมีภาวะโลหิตจาง จะทำให้ภูมิต้านทานโรคต่ำ ติดเชื้อต่างๆได้ง่าย ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่จำเป็นต้องรู้แนวทางป้องกันและรักษา เพื่อสุขภาพที่ดีของลูก ดังนี้..
โรคโลหิตจางในเด็ก สาเหตุเกิดจากอะไร
สาเหตุการเกิดของโรคโลหิตจางที่พบได้บ่อย คือ ภาวะขาดธาตุเหล็ก ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการสร้างเม็ดเลือดแดงของร่างกาย และสาเหตุ การเกิดโรคโลหิตจางอื่นๆอีก ได้แก่
- เป็นโรคพยาธิลำไส้ เช่นพยาธิปากขอ พยาธิตัวตืด พยาธิใบไม้ และพยาธิไส้เดือน เป็นต้น
- ขาดสารอาหารจำพวกแร่ธาตุ โดยเฉพาะธาตุเหล็ก
- ขาดสารอาหารจำพวกวิตามิน โดยเฉพาะ วิตามินบี12 กรดโฟลิค และวิตามินซี
- ขาดสารอาหารจำพวกโปรตีน
บุคคลกลุ่มเสี่ยงที่มักจะเป็นโรคนี้ได้มาก ได้แก่ทารกที่คลอดก่อนกำหนด ทารกที่คลอดจากมารดาที่เป็นโรคโลหิตจาง หญิงมีครรภ์ แม่ลูกอ่อนและเด็กวัยรุ่น เนื่องจากบุคคลกลุ่มหลังนี้ต้องการธาตุเหล็กมากกว่าปกติ จึงมี โอกาสเป็นโรคโลหิตจางได้มากขึ้น แต่โรคโลหิตจางสามารถป้องกันและแก้ไขได้ง่ายๆ ด้วยการกินอาหารที่ถูกต้อง และการเสริมบำรุงด้วยยาที่เข้าธาตุเหล็ก หรือยาบำรุงโลหิต
โรคโลหิตจางในเด็ก มีอาการอย่างไร
อาการของโรคโลหิตจางในเด็ก สามารถสังเกตได้ ดังนี้
- ลูกเบื่ออาหาร ทานอาหารได้น้อยลง
- อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย ก็หายใจหอบ หัวใจเต้นแรงผิดปกติ
- ผิวซีด ตาซีด
- เล็บบางเปราะและซีด
เมื่อคุณพ่อคุณแม่สังเกตว่าลูกมีอาการข้างต้น ควรรีบพาลูกไปพบแพทย์เพื่อทำการตรวจหาสาเหตุให้โดยเร็วค่ะ
โรคโลหิตจางในเด็ก ต้องรักษาหรือไม่
โรคโลหิตจางในเด็กต้องรักษาหรือไม่ จำเป็นต้องรักษาค่ะ เนื่องจาก โรคโลหิตจางจะส่งผลถึงสุขภาและพัฒนาการของลูก โดยการรักษาสามารถทำได้โดยให้ลูกน้อยรับประทานอาหารให้ครบทั้ง 5 หมู่ โดยเฉพาะโปรตีนและอาหารที่มีธาตุเหล็กสูง ได้แก่ ไข่ ตับ ไต เนื้อสัตว์ เมล็ดธัญพืช เช่น ถั่ว งา เมล็ดฟักทอง ลูกเดือย และรับประทานยาตามที่แพทย์สั่ง แต่ถ้าคุณแม่สงสัยว่าลูกอาจเป็นโรคโลหิตจางหรือไม่ ควรรีบพาลูกไปตรวจยืนยันและแพทย์ต้องตรวจหาสาเหตุเสมอว่าทำไมถึงโลหิตจาง หลังจากนั้นจึงรักษาสาเหตุ แพทย์อาจให้ยาบำรุงเลือดมารับประทานค่ะ
โรคโลหิตจางในเด็ก ป้องกันได้หรือไม่
การป้องกันโรคโลหิตจาง คุณพ่อคุณแม่สามารถทำได้เลย โดยจะต้องป้องกันไม่ให้ลูกเป็นโรคพยาธิลำไส้ต่างๆ และป้องกันโดยเริ่มจากการให้ลูกรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ทั้ง ข้าว ไข่แดง เนื้อสัตว์ ผัก และผลไม้ ซึ่งอาหารที่มีธาตุเหล็กสามารถพบได้ในเนื้อแดง ไข่แดง เครื่องในสัตว์ ตับหมู เลือดหมู ผักใบเขียว ธัญพืช และนม สำหรับในเด็กแรกเกิดมักได้รับสารอาหารจากนมแม่ ซึ่งคุณแม่สามารถส่งเสริมได้โดยการกินอาหารที่มีธาตุเหล็กด้วยเช่นกัน เพียงเท่านี้ก็สามารถป้องกันลูกน้อยจากโรคหิตจางได้แล้วค่ะ
โรคโลหิตจางในเด็ก คุณแม่เลี้ยงดูอย่างไร
เมื่อลูกเป็นโรคโลหิตจางหรือเลือดจาง อันดับแรกในการดูแลลูกคือ คุณพ่อคุณแม่จะต้องพาลูกไปพบแพทย์เพื่อตรวจรับการรักษาหรือไปตามที่แพทย์นัดอย่างเสมอ และในเรื่องการดูแลสุขภาพของลูก คุณแม่จำเป็นต้องให้ความสำคัญในเรื่อง อาหารต่างๆ ที่มีส่วนในการเพิ่มธาตุเหล็กให้แก่ร่างกาย โดยให้ลูกน้อยได้รับประทานอาหารครบทั้ง 5 หมู่ และอาหารที่มีธาตุเหล็กสูง ก็เป็นการดูแลเมื่อลูกเป็นโรคโลหิตจางนั่นเองค่ะ
อาจดูเหมือนว่าโรคโลหิตจางในเด็กเป็นเรื่องที่น่ากลัว แต่จริงๆ แล้ว คุณพ่อคุณแม่สามารถป้องกันได้ง่ายๆ โดยเริ่มจากโภชนาการที่เหมาะสมตามวัยของลูกน้อย และวิธีการป้องกันภาวะโลหิตจางในเด็ก แนะนำให้คุณพ่อคุณแม่ให้พาลูกไปตรวจเลือดเฉพาะค่า "ฮีโมโกลบิน" เมื่ออายุระหว่าง 6-12 เดือน หากพบว่าเป็นโรคโลหิตจาง ให้เริ่มรักษาโดยทันที อย่าชะล่าใจในปัญหาสุขภาพของลูกน้อย เพราะทุกๆปัญหา อาจส่งผลต่อพัฒนาการของลูกในอนาคตได้ค่ะ
บทความแนะนำสำหรับคุณแม่
1.ภาวะลูกซีดสังเกตอย่างไร? พ่อแม่มือใหม่ต้องรู้
2.เด็กขาดธาตุเหล็ก ภาวะอันตรายที่พ่อแม่ป้องกันได้
เรียบเรียงโดย : Mamaexpert Editorial Team
อ้างอิง
1. ผศ.นพ.วีรศักดิ์ เมืองไพศาล.คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล.โลหิตจาง. เข้าถึงได้จาก https://goo.gl/t4FpE7 .[ค้นคว้าเมื่อ 29 มีนาคม 2561]
2. สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน.โลหิตจาง.เข้าถึงได้จาก https://goo.gl/hDKx8U .[ค้นคว้าเมื่อ 29 มีนาคม 2561]
3. Paolo hospital. ภาวะซีดหรือโลหิตจางในเด็ก ป้องกันได้ด้วยพ่อแม่.เข้าถึงได้จาก http://www.paolohospital.com/chockchai4/healtharticle/anemia-children/.[ค้นคว้าเมื่อ 29 มีนาคม 2561]
4. Anemia caused by low iron - infants and toddlers. เข้าถึงได้จาก https://medlineplus.gov/ency/article/007618.htm .[ค้นคว้าเมื่อ 28 มีนาคม 2561]