ส่องไฟรักษาทารกตัวเหลืองทำได้อย่างไร คุณแม่มือใหม่ต้องรู้

06 March 2018
58060 view

ส่องไฟรักษา

ส่องไฟรักษา ภาวะตัวเหลืองในทารกแรกเกิด พ่อคุณแม่หลายท่านอาจเข้าใจผิดว่าการส่องไฟรักษา ใช้หลอดไฟธรรมดาในการรักษาภาวะตัวเหลือง แต่แท้จริงแล้วหลอดไฟที่ใช้ในการรักษาเป็นหลอดไฟชนิดพิเศษที่มีความยาวคลื่นแสงเหมาะสมกับการรักษา โดยต้องนำทารกมาเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลเท่านั้นเพราะไม่สามารถใช้หลอดไฟที่มีอยู่ตามบ้านหรือแสงแดดในการรักษาภาวะตัวเหลืองได้ Mama expert จึงนำเกร็ดความรู้เรื่องส่องไฟรักษาทารกตัวเหลืองมาฝากคุณพ่อคุณแม่ดังนี้

ส่องไฟรักษาทารกตัวเหลืองทำได้อย่างไร

เมื่อทารกตัวเหลืองถึงเกณฑ์ที่ต้องส่องไฟรักษา แพทย์จะใช้แสงไฟจากหลอดฟลูออเรสเซนต์ (Fluorescent lamp) ชนิดพิเศษ (Special blue light) ส่องไปที่ตัวทารก ซึ่งจะใช้จำนวนหลอดไฟและระยะห่างจากตัวทารกตามมาตรฐาน โดยถอดเสื้อผ้าทารกและปิดตาทารกไว้เพื่อป้อง กันภาวะแทรกซ้อนที่ตา แสงสีฟ้าที่ใช้มีความยาวคลื่นประมาณ 425 - 475 นาโนเมตร จะถูกดูดซึมโดยบิลิรูบินและจะช่วยเปลี่ยนบิลิรูบินให้เป็นชนิดที่ละลายน้ำ และถูกขับออกจากร่างกายผ่าน ทางน้ำดีออกทางอุจจาระ และผ่านไตออกทางปัสสาวะ

ข้อบ่งชี้ในการ ส่องไฟรักษา ทารกตัวเหลืองและข้อบ่งชี้ในการหยุดส่องไฟรักษา

ข้อบ่งชี้ในการใช้การรักษาด้วยการส่องไฟขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ได้แก่ ระดับของบิลิรูบินในกระแสเลือด อัตราการเพิ่มขึ้นของระดับของบิลิรูบินในกระแสเลือด อายุครรภ์ของทารก สาเหตุของการเกิดตัวเหลืองและภาวะสุขภาพของทารก โดยจะพบว่า พบว่าในระยะ 1 สัปดาห์แรกหลังคลอดทารกคลอดก่อนกำหนดมีอาการตัวเหลืองประมาณร้อยละ 60 และพบมากขึ้นร้อยละ 80 ในทารกเกิดก่อนกำหนด โดยข้อบ่งชี้ในการใช้การรักษาด้วยการส่องไฟและการหยุดส่องไฟมีดังนี้

ข้อบ่งชี้ในการส่องไฟรักษา

  1. ทารกที่มีภาวะตัวเหลืองจากสาเหตุ blood group incompatibility หรือมีภาวะ hemolysis (reticulocyte count สูงผิดปกติและทารกมี hematocrit <40%) หรือน้ำหนักแรกเกิดต่ำกว่า 2,500 กรัม ถ้าอายุน้อยกว่า 48 ชั่วโมง ส่องไฟที่ระดับของบิลิรูบิน >10 มก./มล. ถ้าอายุมากกว่า 48 ชั่วโมง ส่องไฟเมื่อระดับสูงกว่า 15 มก./มล.
  2. ในกรณีที่ไม่ใช่ blood group incompatibility และไม่มี hemolysis และไม่พบความผิดปกติอื่นๆ ที่อาจทำให้เกิดภาวะ บิลิรูบิน encephalopathy เช่น มีการติดเชื้อในเลือด, ภาวะ acidosis สำหรับทารกอายุ 48-72 ชั่วโมง ให้เริ่มส่องไฟเมื่อ บิลิรูบิน >15 มก./ดล.  สำหรับทารกอายุ >72 ชั่วโมง ให้เริ่มส่องไฟเมื่อ บิลิรูบิน >20 มก./ดล.
  3. ไม่ใช้การส่องไฟรักษา เมื่อมีข้อบ่งชี้ในการทำเปลี่ยนถ่ายเลือดหรือเป็น direct hyperbilirubinemia

ข้อบ่งชี้ในการหยุดส่องไฟรักษา

ถ้าเริ่มส่องไฟภายใน 48 ชั่วโมงแรกจากภาวะ blood group incompatibility จะหยุดส่องไฟได้เมื่อ บิลิรูบิน น้อยกว่า 12 มก./ดล. ที่อายุ 72-96 ชั่วโมง หรือน้อยกว่า 15 มก./ดล. ที่อายุมากกว่า 96 ชั่วโมงขึ้นไปและถ้าเริ่มส่องไฟเมื่ออายุมากกว่า 48 ชั่วโมง จากสาเหตุใดก็ตาม จะหยุดส่องไฟได้เมื่อ บิลิรูบิน น้อยกว่า 15 มก./ดล. ที่อายุมากกว่าหรือเท่ากับ 96 ชั่วโมง

รูปภาพที่เกี่ยวข้อง

ส่องไฟรักษาทารกตัวเหลืองมีอันตรายหรือไม่?

ส่องไฟรักษาทารกตัวเหลืองเป็นวิธีการทำกันมานานแล้วและปลอดภัย ช่วยลดการที่จะต้องเปลี่ยนถ่ายเลือดได้มาก อาการข้างเคียงจากการส่องไฟมีดังนี้

  1. ทารกอาจมีอุณหภูมิกายสูงขึ้น ดังนั้นต้องให้นมหรือให้น้ำทารกให้เพียงพอ
  2. ทารกอาจมีผื่นขึ้นตามตัว
  3. อาจมีอุจจาระเหลว
  4. ในทารกที่มีสารไดเร็คบิลิรูบินสูงอาจทำให้ผิวของทารกดูเขียวๆเหลืองๆเป็นมันเรียกว่า บรอนซ์เบบี้ (Bronze baby) แต่ไม่อันตราย
  5. ทารกอาจมีน้ำหนักตัวลดลง
  6. ถ้าไม่ได้ปิดตาทารกให้มิดชิด อาจมีการบาดเจ็บเนื่องจากถูกแสงส่องนานทำให้ตาบอดได้ ดังนั้นการดูแลทารกในช่วงที่รับการส่องไฟ ก็ควรจะปิดตาทารกให้มิดชิด

เวลาที่ดีที่สุดในการรักษาเด็กตัวเหลืองไม่ควรเกิน 2 เดือน (8 สัปดาห์) เพราะหากเด็กอายุมากแล้วจะมีการเปลี่ยนแปลงที่ตับ การทำงานของตับเสียมากขึ้นจนในที่สุดเกิดภาวะตับวาย เมื่อมีภาวะตับวายแล้วจะไม่มีทางรักษาเลย นอกจากโชคดีจะได้เปลี่ยนตับซึ่งก็ไม่ใช่สิ่งที่จะทำได้ง่ายๆ และผลการทำการเปลี่ยนตับไม่สามารถคาดการณ์ล่วงหน้าได้ ควรระลึกเสมอว่า เมื่อตับวายเด็กไม่สามารถมีชีวิตอยู่ได้ค่ะ

บทความแนะนำสำหรับคุณแม่

1. อาการของเด็กตัวเหลือง

2. เด็กกินนมแม่ตัวเหลือง

3. ภาวะบกพร่องเอนไซด์ G6PDในเด็กและอาหารที่ห้ามรับประทาน

เรียบเรียงโดย : Mamaexpert Editorial Team 

อ้างอิง

1. มหาวิทยาลัยมหิดล คณเภสัชศาสตร์.ดร.คณิสส์ เสงี่ยมสุนทร.ลูกตัวเหลือง เรื่องไม่เล็กของเด็กเปลี่ยนสี.เข้าถึงได้จาก https://goo.gl/ceEkb0 .[ค้นคว้าเมื่อ 4 มีนาคม 2561]

2. คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล.ภาควิชากุมารเวชศาสตร์. รศ.พญ.โสภาพรรณ เงินฉํา.ภาวะตัวเหลืองในทารกแรกเกิด.เข้าถึงได้จาก https://goo.gl/3tNZuu .[ค้นคว้าเมื่อ 4 มีนาคม 2561]

3. กลุ่มกระบวนวิชาการพยาบาลกุมารเวชศาสตร์ คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. รศ. พัชรี วรกิจพูนผล.การดูแลเด็กทารกที่ได้รับการรักษาด้วยการส่องไฟ.เข้าถึงได้จาก https://goo.gl/MwxGZd .[ค้นคว้าเมื่อ 4 มีนาคม 2561]