ภาวะอุดกั้นทางเดินหายใจในเด็ก เรื่องไม่เล็กที่คุณแม่ต้องระวัง

10 December 2013
10178 view

ภาวะอุดกั้นทางเดินหายใจในเด็ก

ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ ภาวะอุดกั้นทางเดินหายใจในเด็ก

ภาวะอุดกั้นทางเดินหายใจในเด็ก หากเอ่ยถึง “เสียงกรน” แล้ว หลายคนคงนึกรำคาญใจ บางคนก็คิดว่าเป็นเรื่องธรรมดาใกล้ตัว แท้จริงแล้ว อาการกรนของลูกเป็นสัญญาณเตือนประการหนึ่งของ “ภาวะอุดกั้นทางเดินหายใจขณะหลับในเด็ก” ซึ่งภาวะนี้จะทำให้คุณภาพการนอนหลับของเด็กต่ำลง จนกระทั่งส่งผลกระทบต่อพัฒนาการด้านร่างกาย สติปัญญา และจิตใจ อีกทั้งยังมีผลต่อคุณภาพชีวิตและปัญหาสุขภาพในระยะยาว เช่น โรคความดันโลหิตสูง และโรคหัวใจ  จึงเป็นเรื่องสำคัญที่พ่อแม่ควรใส่ใจดูแลลูกอย่างใกล้ชิด

เสียงกรนปัจจัยเสี่ยงของภาวะอุดกั้นทางเดินหายใจในเด็ก

ปัจจัยเสี่ยงของภาวะอุดกั้นทางเดินหายใจที่พบได้บ่อยคือต่อมทอนซิลหรือต่อมอะดีนอยด์ในร่างกายมีขนาดโตกว่าปกติ  ภาวะจมูกอักเสบเรื้อรังจากโรคภูมิแพ้ และภาวะอ้วนในเด็ก นอกจากนี้ยังมีปัจจัยอื่นๆ อีกได้แก่ โครงหน้าผิดปกติ เช่น ใบหน้าแคบ คางสั้นหรือเล็ก ตลอดจนโรคทางพันธุกรรม หรือโรคทางสมองและกล้ามเนื้อที่ส่งผลต่อการหายใจ เป็นต้น

การวินิจฉัย ภาวะอุดกั้นทางเดินหายใจในเด็ก 

สามารถตรวจได้ด้วยการใช้เครื่องมือเเพทย์Polysomnography (PSG) เป็นระบบวินิจฉัยภาวะอุดกั้นทางเดินหายใจที่เหมาะสมที่สุดในปัจจุบัน ซึ่งสามารถบอกรายละเอียดทั้งรูปแบบการหายใจ ลักษณะคลื่นสมอง การเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อ ระดับความอิ่มตัวของก๊าซออกซิเจนและคาร์บอนไดออกไซด์ขณะหลับ โดยนอกจากจะทำให้ทราบว่าลูกน้อยเกิดภาวะดังกล่าวหรือไม่แล้ว การตรวจ PSG ก็ยังสามารถบอกระดับความรุนแรงของโรคได้ด้วย

แนวทางการรักษาภาวะอุดกั้นทางเดินหายใจในเด็ก

แนวทางการรักษาจะขึ้นอยู่กับสาเหตุ ความรุนแรงของโรค อายุของผู้ป่วย  และความร่วมมือของผู้ป่วยเป็นสำคัญ หากไม่รุนแรงจะเน้นการดูแลสุขมัยในการนอน ควบคุมอาหาร หรือใช้ยารับประทานและยาพ่นจมูก แต่ในบางกรณีอาจพิจารณาให้มีการผ่าตัดต่อมอะดีนอยด์และต่อมทอนซิลออกตามความ จำเป็น นอกจากนี้ยังมีการรักษาแบบอื่นๆ เช่น การใช้เครื่องช่วยหายใจ ชนิด non invasive ในขณะหลับ ตลอดจนการผ่าตัดแก้ไขรูปหน้าและจมูก เป็นต้น

ภาวะอุดกั้นทางเดินหายใจในเด็ก มีอาการอย่างไร

  1. การนอนกรน นอนกระสับกระสาย หยุดหายใจขณะหลับ ตื่นนอนบ่อย
  2. ลูกมีอาการปวดหัวตอนเช้า ง่วงนอนตอนกลางวัน เหงื่อออกมาก และปัสสาวะรดที่นอนเป็นประจำ
  3. ลูกมีการเจริญเติบโตและมีพัฒนาการล่าช้า ผลการเรียนตกต่ำลง
  4. ลูกมีพฤติกรรมก้าวร้าว สมาธิสั้น ซน และปัญหาด้านพฤติกรรมอื่นๆ

หากลูกมีอาการดังที่กล่าวมา ควรพาลูกพบกุมารแพทย์ เพื่อหาแนวทางการรักษาที่ถูกต้อง

บทความแนะนำสำหรับคุณแม่

1. การนอนของเด็กแต่ละช่วงวัย 1-12 เดือนแรก

2. เด็กนอนหายใจเสียงดัง

3. เด็กควรนอนท่าไหนถึงจะปลอดภัยที่สุด

เรียบเรียงโดย : Mamaexpert Editorial Team