เด็กท้องผูก อุจจาระแข็ง อุจาระไม่ออก แก้ได้ไม่ยาก

18 November 2017
189052 view

เด็กท้องผูก

ปัญหาลูกท้องผูกพบได้ทุกช่วงวัย โดยเฉพาะเด็กที่ดื่มนมผสมจะพบปัญหานี้บ่อยกว่าเด็กที่ดื่มนมแม่ การแก้ปัญหาของคุณแม่ส่วนใหญ่จะแก้ที่ปลายเหตุ ด้วยวิธีรับประทานยาหรือวิธีสวนทวารหนัก จึงทำให้เกิดปัญหาเดิมๆ ซ้ำๆ อยู่เรื่อยไป เด็กขับถ่ายไม่ปกติทุกวัน ท้องผูกเรื้อรัง ส่งผลต่อจิตใจและพฤติกรรมของเด็กอย่างไม่น่าเชื่อ เด็กที่มีอาการท้องผูกมากๆเป็นเวลานานไม่ได้รับการแก้ไข อาจทำให้เกิดผลต่อสุขภาพทั้งร่างกาย จิตใจและอารมณ์ได้

เพราะอึ สามารถบอกอาการ และอาจส่งผลต่ออารมณ์ของลูกน้อย หากการขับถ่ายของลูกผิดปกติ เราจะได้หาวิธีแก้ไขได้ทันที แค่ 3 ขั้นตอนง่ายๆ เช็กได้ทุกวัน มาเช็กกันเลย

เด็กท้องผูกคืออะไร?

เด็กท้องผูก หมายถึง การถ่ายอุจจาระที่มีลักษณะแข็ง แห้งหรือเหนียว และมีการถ่ายลำบากร่วมอยู่ด้วย จำนวนครั้งที่ถ่ายมีความสำคัญน้อยกว่าลักษณะอุจจาระ บางคนถ่าย 2 – 3 วันต่อครั้ง ถ้าอุจจาระนิ่ม ถ่ายไม่ลำบากก็ถือว่าเป็นการถ่ายที่ปกติ ถ้าอาการท้องผูกเป็นเรื้อรังอยู่นาน จะทำให้ลำไส้ใหญ่ยืดตัวออก ขยายใหญ่มากขึ้น การบีบตัวของลำไส้จะน้อยลง  พร้อมกับความรู้สึกอยากถ่ายจะน้อยลง  อุจจาระจะแข็งขึ้น เพราะน้ำในอุจจาระถูกดูดซึมกลับไปหมด ทำให้ถ่ายอุจจาระลำบาก ขณะถ่ายความแข็งของอุจจาระจะบาดเยื่อรูทวารหนัก ทำให้เป็นแผล เด็กจะรู้สึกเจ็บ และพยายามกลั้นอุจจาระ ทำให้อาการท้องผูกมีมากขึ้น อุจจาระอาจมีเลือดปนได้ เนื่องจากมีบาดแผลที่ทวารหนัก บางครั้งอุจจาระที่ยังค้างอยู่ถูกแบคทีเรียในลำไส้ย่อยสลายเป็นของเหลวทำให้ ถ่ายออกมาทีละน้อยกะปริบกะปรอยโดยไม่รู้ตัว

7 สาเหตุที่ทำให้เด็กท้องผูก

สาเหตุที่ทำให้เกิดความผิดปกติในการขับถ่าย หรือ  เด็กท้องผูก มีดังนี้

  1. ความผิดปกติบริเวณทวารหนัก เช่น รูทวารหนักตีบ แผลที่ปากทวารหนัก
  2. วามผิดปกติของประสาทที่ควบคุมการขับถ่ายอุจจาระ เช่น การที่มีประสาทไปเลี้ยงลำไส้ใหญ่ส่วนปลายน้อยลง หรือไม่มี
  3. ความผิดปกติของประสาทไขสันหลังส่วนปลาย ซึ่งควบคุมการถ่ายอุจจาระ หรือความผิดปกติของประสาท หรือกล้ามเนื้อของลำไส้ ทำให้การเคลื่อนไหวของลำไส้น้อยลง มีอาการคล้ายลำไส้อุดตัน
  4. ได้รับยาบางชนิด  ยาที่มีฤทธิ์ยับยั้งระบบประสาทที่ควบคุมการเคลื่อนไหวของลำไส้  ยาระงับประสาท และยารักษาโรคมะเร็งบางชนิด เป็นต้น
  5. โรคทางเมตาบอลิค  เช่น โรคต่อมไธรอยด์ทำงานน้อยกว่าปกติ  หรือโรคที่ทำให้มีระดับแคลเซี่ยมสูงในเลือด เป็นต้น
  6. ท้องผูกโดยไม่มีความผิดปกติทางกายภาพ  มักจะมี ประวัติท้องผูกในครอบครัวร่วมด้วย นอกจากนี้การรับประทานอาหารที่ไม่มีกากและเส้นใย หรือได้รับน้ำน้อยและได้อาหารโปรตีนและแคลเซี่ยมมากไป การขับถ่ายไม่เป็นเวลา หรือกลั้นอุจจาระบ่อยๆ อุจจาระจะค้างในลำไส้นานทำให้แข็ง ถ่ายลำบาก มีอาการท้องผูกและทำให้เป็นแผลบริเวณก้น
  7. ความผิดปกติทางจิตใจ  การฝึกขับถ่ายแก่เด็กไม่ถูก ต้อง เช่น ฝึกให้เด็กนั่งกระโถนเร็วเกินไป โดยเด็กยังไม่พร้อม เด็กอาจกลัวการนั่งกระโถน และพยายามกลั้นอุจจาระ การเปลี่ยนแปลงในครอบครัว หรือสิ่งแวดล้อมก็อาจมีผลต่อการขับถ่ายได้ เช่น การมีสมาชิกใหม่ในครอบครัว หรือการเริ่มไปโรงเรียน เป็นต้น
    เมื่อมีท้องผูกอยู่นาน อุจจาระที่ค้างอยู่ในลำไส้จะไหลออกมาโดยไม่รู้ตัว ทำให้มีการถ่ายรดกางเกงมีกลิ่นเหม็นเป็นที่น่ารังเกียจของผู้ใกล้ชิดและเพื่อนนักเรียน ทำให้เพิ่มปัญหาทางจิตใจแก่เด็กได้

เด็กท้องผูก มีอาการอย่างไร?

  1. ถ่ายอุจจาระน้อยกว่า 2 ครั้ง ต่อสัปดาห์ เป็นเวลามากกว่า 2 สัปดาห์ขึ้นไป
  2. ถ่ายอุจจาระลำบาก ต้องเบ่งนาน
  3. อุจจาระแข็ง เป็นก้อนเล็กก้อนน้อยเหมือนขึ้แพะ
  4. อารมีอาการปวดบริเวณทวารหนัก ทำให้ลูกน้อยงอแงเวลาปวดอึ
  5. อาจมีเลือดปนออกมากเวลาขับถ่ายอุจจาระ

การป้องกันเด็กท้องผูกอย่างได้ผล

การป้องปัญหาเด็กท้องผูกแบบฉบับคุณแม่มืออาชีพ ตามนี้เลยจ้า..

1.การป้องกันเด็กท้องผูกด้วยการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ให้นานที่สุด

นมแม่มีโปรตีนขนาดเล็กที่สุดเมื่อเทียบกับนมชนิดอื่นๆ ง่ายต่อการย่อยและดูดซึม เด็กที่ดื่มนมแม่ล้วน จึงไม่ค่อยพบปัญหาท้องผูก คุณแม่หลายคนเข้าใจผิดว่าลูกดื่มนมแม่ล้วนไม่ถ่ายหลายวัน คืออาการท้องผูก พยายามหาวิธีให้ลูกขับถ่ายให้ได้ กรณีลูกกินนมแม่ล้วนแต่ไม่ถ่ายหลายวันไม่ได้หมายถึงลูกท้องผูกแต่อย่างใด แต่เกิดจากนมแม่ย่อยและดูดซึมง่ายจึงไม่เหลือเป็นกากให้ขับถ่ายออกมาในแต่ะวัน ไม่ถ่ายหลายวัน ไม่ได้หมายถึงลูกท้องผูก ต้องดูอาการแสดงอย่างอื่นร่วมด้วย

2.การป้องกันเด็กท้องผูกด้วยการ ฝึกให้ลูกขับถ่ายให้เป็นเวลา

ฝึกการขับถ่ายเริ่มได้ตั้งแต่ในช่วง 2 ขวบปีแรกและควรฝึกเมื่อลูกพร้อม ให้ลองสังเกตว่าลูกมีปัญหาเรื่องการขับถ่ายหรือไม่ เช่น อุจจาระแข็ง ชอบกลั้นอุจจาระ ชอบหนีไปซ่อนหรือร้องไห้ หากมีปัญหาเหล่านี้ ให้คุณพ่อคุณแม่ลองปรับเปลี่ยนอาหารที่ให้ลูกรับประทานก่อน โดยหลีกเลี่ยงอาหารที่ทำให้อุจจาระแข็ง เช่น ข้าวกล้อง กล้วย ช็อกโกแลต ชีส เมื่อลูกถ่ายได้ดีแล้วและไม่ต่อต้าน จึงค่อยเริ่มฝึกการขับถ่ายให้กับลูกต่อไป

3.การป้องกันเด็กท้องผูกด้วยการเสริมเมนูผักและผลไม้เป็นเมนูประจำทุกวัน

เมนูอาหารสำคัญต่อการขับถ่าย การทำซุปผักและน้ำผลไม้ให้ลูกรับประทาน ช่วยให้ลูกขับถ่ายง่ายขึ้น และยังเป็นผลดีให้การฝึกขับถ่ายทำได้ง่ายขึ้นด้วย นอกจากนี้ยังเป็นการฝึกให้ลูกได้ชิมรสชาติและคุ้นเคยกับกลิ่นรสของผักและผลไม้ ไม่ต่อต้านการรับประทานอาหารเหล่านี้เมื่อโตขึ้น
 

4.การป้องกันเด็กท้องผูกด้วยการดื่มน้ำให้เพียงพอ  

วัย6เดือนแรก ลูกรักอาจไม่ต้องการน้ำ เพราะในน้ำนมมีน้ำเป็นส่วนผสมในอัตราส่วนที่เพียงพอกับความต้องการของร่างกายอยู่แล้ว แต่หลังจาก 6 เดือน ลูกได้รับอาหารเสริม น้ำจึงเป็นส่วนสำคัญในย่อยและการดูดซึมสารอาหารต่างๆในร่างกาย ลูกแต่ละช่วงวัยควรดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอ

5.การป้องกันเด็กท้องผูกด้วยการนวดกระตุ้นระบบการย่อยอาหารของลูก 

นวดท้องให้ลูกอย่างนุ่มนวล โดยนวดตามเข็มนาฬิกา พร้อมกับยกขาทั้งสองข้างหมุนไปมา การนวดช่วยกระตุ้นการทำงานของลำไส้ หากลำไส้เคลื่อนไหวดี การย่อยและการดูดซึมก็ดีตามไปด้วย นวดกระตุ้นการย่อยอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง

6.การป้องกันเด็กท้องผูกด้วยการเลือกนมที่ย่อยง่ายสำหรับลูก

นอกจากนมแม่แล้ว พบว่า นมแพะมีคุณสมบัติเหมือนกับนมแม่ตั้งแต่ระบบการการสร้างและหลั่งน้ำนมแบบ อะโพไครน์ รวมถึงสารอาหารต่างๆจากนมแพะยังเป็นเป็นนมที่มีความเป็นธรรมชาติสูง หรือ Bioactive Componentsใกล้เคียงกับนมแม่มาก  นมแพะมีแอลฟา เอสวันเคซีนซึ่งย่อยยากในปริมาณที่ต่ำกว่านมวัวถึง 8 เท่า ทำให้โปรตีนของนมแพะ เกาะกันเป็นก้อนโปรตีนที่นุ่ม ทำให้ร่างกายย่อยได้ง่ายและรวดเร็วกว่า นมแพะประกอบไปด้วย ไขมันห่วงโซ่ขนาดกลาง ( MCT Oil ) ในปริมาณสูงที่ร่างกายสามารถย่อย และนำไปใช้ได้รวดเร็ว  นมแพะมีปริมาณ โปรตีนก่อแพ้หรือเบต้าแลคโตกลอบบูลิน น้อยกว่าถึง 3 เท่า ที่สำคัญโปรตีนที่ได้จากน้ำนมแพะยังเป็นโปรตีนคุณภาพดี เรียกว่า CPP (casein phosphopeptide) ซึ่งเป็นโปรตีนที่นุ่ม ช่วยให้ ร่างกายดูดซึมแคลเซียม เหล็ก และ แร่ ธาตุ ต่างๆได้ดีขึ้นด้วย  นมแพะนับเป็นทางเลือกที่ดี เพื่อปกป้องลูกจากปัญหาท้องผูก และยังได้สารอาหารที่ครบถ้วนในการบำรุงร่ายกายและสมองของลูก เสมือนดื่มนมแม่

การรักษาเด็กท้องผูก

  1. ในวัยทารก เด็กที่ดื่มแม่อย่างเดียวส่วนใหญ่ไม่มีอาการท้องผูก ยกเว้นกรณีคุณแม่ดื่มนมหรือรับประทานผลิตภัณฑ์จากนมเป้นประจำ
  2. ในเด็กที่ดื่มนมผสมให้นมที่มีส่วนผสมใกล้เคียงกับนมมารดา และดื่มน้ำให้มากขึ้น แนะนำให้น้ำผลไม้ เช่น น้ำลูกพรุน น้ำส้ม เพิ่มอาหารที่มีกากและเส้นใย เช่น ผัก ผลไม้ และธัญพืช
  3. การช่วยบริหารกล้ามเนื้อหน้าท้อง เช่น การนวดท้อง โยคะทารกโดยยกขาเด็กขึ้นลงจะทำให้การขับถ่ายดีขึ้น
  4. ในเด็กวัยโตนอกจากแนะนำอาหารที่มีกากและเส้นใย  ฝึกนิสัยในการขับถ่ายแล้ว ยังอาจใช้ยาระบายได้เป็นครั้งคราว เพื่อขับอุจจาระที่คั่งค้างออกมา
  5. ในกรณีที่มีอาการท้องผูกเรื้องรัง และมีลำไส้ขยายโตขึ้น หรือมีการถ่ายอุจจาระรดกางเกง หรือถ่ายอุจจาระไม่เป็นที่  ต้องให้การดูแลรักษาเป็นขั้นตอน และรักษาติดต่อเป็นระยะนานโดยแพทย์ผู้ชำนาญเฉพาะทาง

ปัญหาท้องผูกในเด็กเป็นเรื่องที่คุณแม่ต้องติดตามและแก้ไข หากพบว่าลูกยังมีอาการท้องผูกต่อเนื่อง คุณแม่ควรรีบพาลูกน้อยพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยอย่างละเอียดค่ะ

บทความแนะนำสำหรับคุณแม่ :

1. รับมืออย่างไรเมื่อลูกน้อยถ่ายยาก

2. การขับถ่ายของลูก

3. วิธีป้องกันเด็กท้องอืด

เรียบเรียงโดย : Mamaexpert Editorial Team 

อ้างอิง :

1. งานพยาบาลป้องกันโรคและส่งเสริมสุขภาพ.คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล.เด็กท้องผูก.เข้าถึงได้จาก https://med.mahidol.ac.th/healthpromo/sites/default/files/public/download/b2.pdf .[ค้นคว้าเมื่อ 20 พฤศจิกายน 2560]

2. Constipation in babies.เข้าถึงได้จาก https://www.babycenter.com/0_constipation-in-babies_79.bc .[ค้นคว้าเมื่อ 20 พฤศจิกายน 2560]