การคลอดก่อนกำหนด
อายุครรภ์เฉลี่ยของคุณแม่ตั้งครรภ์ที่คลอดบุตรในประเทศไทยคือ ช่วงอายุครรภ์ 38 - 40 สัปดาห์ อายุครรภ์ดังกล่าว เป็นการคลอดปกติ ครบกำหนด นอกจากนั้นยังพบว่าสถิติการคลอดก่อนกำหนดก็มีอัตราที่สูงเช่นเดียวกัน การคลอดก่อนกำหนด หมายถึงทารกคลอดออกมาก่อนอายุครรภ์ 37 สัปดาห์เต็ม โดยนับเริ่มต้นจากวันแรกของการมีประจำเดือนครั้งสุดท้ายก่อนตั้งครรภ์ เป็นวันที่ 1 (สำหรับคนที่มีประจำเดือนมาสม่ำเสมอทุก 28 วัน) และไม่น้อยกว่า20 สัปดาห์ถึงจะถือว่าคลอดก่อนกำหนด หากอายุครรภ์น้อยกว่า20 สัปดาห์ทางการแพทย์ ถือว่าเป็นการแท้งบุตร
คลอดก่อนกำหนด ทารกมีโอกาสรอดเป็นอย่างไร
อายุครรภ์ 22-23 สัปดาห์ ทารกมีโอกาสเลี้ยงรอดชีวิตประมาณ 17 %
อายุครรภ์ 24-25 สัปดาห์ ทารกมีโอกาสเลี้ยงรอดชีวิตประมาณ 40-50 %
อายุครรภ์ 26-28 สัปดาห์ ทารกมีโอกาสเลี้ยงรอดชีวิตประมาณ 80-90 %
อายุครรภ์ 29-31 สัปดาห์ ทารกมีโอกาสเลี้ยงรอดชีวิตประมาณ 90-95%
อายุครรภ์ 32-33 สัปดาห์ ทารกมีโอกาสเลี้ยงรอดชีวิตประมาณ 95 %
อายุครรภ์ตั้งแต่ 34 สัปดาห์ ทารกมีโอกาสเลี้ยงรอดชีวิตเหมือนทารกคลอดครบกำหนด คือประมาณ 95-98%
คลอดก่อนกำหนด ส่งผลในเรื่องใดบ้าง
ทารกคลอดก่อนกำหนด มีปัญหาตามมามากมายทั้งค่าใช้จ่าย และเรื่องสุขภาพ ทารกคลอดก่อนกำหนด จะประสบปัญหาระบบการหายใจ เสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ง่าย ตัวเหลือง และน้ำหนักตัวน้อย
- น้ำหนักทารกปกติที่คลอดในช่วงอายุครรภ์ที่ 38-40 สัปดาห์ น้ำหนักโดยเฉลี่ย 2,500 – 3,000 กรัม
- ทารกคลอดก่อน 37 สัปดาห์พบว่าจะมีน้ำหนักน้อยกว่า 2,500 กรัม เรียกว่า “ทารกน้ำหนักน้อย”
- ทารกคลอดก่อน 30-32 สัปดาห์พบว่าจะมีน้ำหนักน้อยกว่า 1,500 กรัม เรียกว่า “ทารกน้ำหนักน้อยมาก”
คลอดก่อนกำหนดและคุณแม่กลุ่มเสี่ยง
- ภาวะ ถุงน้ำคร่ำแตกก่อนกำหนด
- คุณแม่ครรภ์แฝด ยิ่งแฝดมาก ยิ่งคลอดก่อนกำหนดมาก
- ภาวะรกเกาะต่ำ
- เกิดการอักเสบ หรือ ผ่าตัดในช่องท้อง เช่น มีภาวะไส้ติ่งอักเสบขณะตั้งครรภ์หรือมีไส้ติ่งอักเสบเฉียบพลัน
- มีปริมาณน้ำคร่ำมาก หรือน้อยเกินไป
- แม่ตั้งครรภ์มีมดลูกรูปร่างผิดปกติแต่กำเนิด เนื้องอกมดลูก
- ภาวะ รกลอกตัวก่อนกำหนดคลอด
- มารดาสูบบุหรี่ เสพย์สารเสพติด ภาวะทุโภชนาการ
- ช่วงอายุของคุณแม่ตั้งครรภ์ (น้อยกว่า 18 ปี หรือ มากกว่า 35 ปี)
- การเจริญเติบดตของระยะตัวอ่อนผิดปกติ
คลอดก่อนกำหนด มีวิธีป้องกันอย่างไร
- ฝากครรภ์ตั้งแต่ทราบว่าตั้งครรภ์
- ไปตามนัดและปฏิบัติตัวตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด
- พักผ่อนนอนหลับให้เพียงพอ 8 ชั่วโมงในตอนกลางคือ และ 1 งีบในตอนกลางวัน
- ออกกำลังกายไม่หักโหม ไม่ยกของหนัก ไม่เดินทางไกล
- ไม่เครียด ทำจิตใจผ่อนคลายอยู่เสมอ
- เรียนรู้ความรู้สึกของมดลูกบีบตัวแต่เนิ่น ๆ เพื่อการสังเกตตัวเอง
- ลดหรืองดการกระตุ้นที่หัวนม
- ลด หรือ งดการมีเพศสัมพันธ์ในไตรมาสสุดท้าย ( บางรายแพทย์อาจกำหนด )
การปฏิบัติตัวเมื่อคุณแม่มีอาการเจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนด
อาการที่แสดงว่าคุณแม่ตั้งครรภ์อาจเจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนด คือ มีการบีบตัวของมดลูกอย่างสม่ำเสมอ จนทำให้เกิดการบางตัวและการเปิดของปากมดลูกก่อนอายุครรภ์ 37 สัปดาห์ ถ้ามีการบีบตัวดังกล่าว แต่ไม่ทำให้ปากมดลูกบางตัว เราเรียกว่า การเจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนดคุกคาม ควรไปพบแพทย์ทันที การตรวจที่คุณแม่ตั้งครรภ์จะได้รับในลำดับต่อมาคือ
- คุณแม่ตั้งครรภ์ต้องนอนโรงพยาบาล เมื่อตรวจแล้วพบว่าเป็นจริง และจะมีการติดตามการบีบตัวของมดลูกและการเปลี่ยนแปลงของปากมดลูกอย่างต่อเนื่อง
- แพทย์จะจำกัดกิจกรรมบางอย่างโดยให้คุณแม่นอนบนเตียงตลอดเวลา เพื่อความผ่อนคลายของร่างกาย
- ตรวจเลือด ปัสสาวะ และให้น้ำเกลือที่มียาฉีดให้มดลูกลดการบีบตัวในระยะแรก และให้ยารับประทานเมื่ออาการสงบลง
- ตรวจอัลตราซาวนด์ และการตรวจพิเศษเพื่อดูสุขภาพ
- หากตรวจพบว่าต้องทำการคลอด คุณแม่ตั้งครรภ์อาจได้รับการทำคลอดด้วยวิธีการผ่าตัดทางหน้าท้อง ในกรณีเร่งด่วน หรือคลอดวิธีธรรมชาติในคุณแม่บางราย สำหรับคุณแม่ที่ตรวจพบว่าไม่มีความเสี่ยงที่จะคลอดก่อนกำหนด แพทย์จะให้กลับบ้านหลังจากร่างกายอยู่ในเกณฑ์ปกติดีแล้ว
คุณแม่ตั้งครรภ์ควรใส่ใจต่อสุขภาพตัวเอง และการฝากครรภ์ให้มาก เนื่องจากการดูแลครรภ์เป็นการดูแลทั้ง สองชีวิตควบคู่กันไป การดูแลครรภ์แต่ละวันแต่ละเดือนนั้น ควรได้รับการดูแลอย่างถูกต้องเหมาะสม และควรอยู่ภายใต้การดูแลของทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ หากพบความผิดปกติควรปรึกษาแพทย์โดยด่วนนะคะ เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่อาจจะเกิดขึ้นค่ะ
บทความแนะนำสำหรับแม่ตั้งครรภ์
3. 11 สาเหตุที่ทำให้คลอดก่อนกำหนด แม่ท้องต้องระวัง!!!
เรียบเรียงโดย : Mamaexpert Editorial Team