อาหารที่เด็กแพ้… คุณแม่ควรสังเกตการแพ้อาหารในเด็กให้เป็น

04 December 2017
103962 view

อาหารที่เด็กแพ้

การแพ้อาหารถือเป็นหนึ่งอาการภูมิแพ้ในเด็ก ที่คุณพ่อคุณแม่ควรให้ความใส่ใจและเฝ้าระวังให้กับลูกไม่น้อยไปกว่าเรื่องอื่น เนื่องด้วยการแพ้อาหารมักพบได้มากในเด็ก เพราะระบบทางเดินอาหารและระบบการย่อยอาหารของเด็กเล็กที่มีอายุต่ำกว่า 12 เดือน ยังทำงานได้ไม่สมบูรณ์นัก ส่งผลให้เมื่อได้รับประทานอาหารเข้าไปแล้ว สารอาหารอาจจะผ่านเข้าไปในกระแสเลือดแล้วกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย ทำให้เกิดโรคภูมิแพ้ขึ้นได้ คุณพ่อคุณแม่มาทำความรู้จักกับการแพ้อาหารในเด็กกันค่ะ



อาหารที่เด็กแพ้เกิดจากอะไร

เกิดได้ทั้งจากการถ่ายทอดกรรมพันธุ์และสิ่งเเวดล้อม หากคุณพ่อคุณแม่มีอาการภูมิแพ้อยู่แล้ว ลูกที่เกิดมามีโอกาสในการเป็นภูมิแพ้เพิ่มมากขึ้นถึง 60% หรือในอีกกรณี หากพ่อแม่พี่น้องไม่ได้เป็นโรคภูมิแพ้ ก็เป็นไปได้ที่เมื่อเด็กได้รับอาหารประเภทโปรตีน แล้วโปรตีนเกิดรั่วเข้าสู่กระแสเลือดไปกระตุ้นภูมิคุ้มกัน หรือได้รับอาหารแบบเดิมซ้ำๆ ก็อาจเป็นปัจจัยกระตุ้นให้เกิดการแพ้ได้

อาหารที่เด็กแพ้มีอะไรบ้าง คุณแม่ควรสังเกตดังต่อไปนี้

1.นมวัว

การแพ้โปรตีนนมวัวในเด็กเล็ก เป็นภาวะที่พบบ่อยขึ้นในปัจจุบัน ซึ่งอาจจะเกิดจากปัจจัยหลายด้าน ทั้งพันธุกรรม และจากการให้อาหารเสริมทารกที่เร็วขึ้น โดยเฉพาะเมื่อสังคมมีความเปลี่ยนแปลง รูปแบบการดำรงชีวิตเปลี่ยนไป ครอบครัวคนเมืองโดยเฉพาะคุณแม่ อาจไม่สะดวกให้นมแม่ จำเป็นต้องเสริมนมผสมให้ลูกเร็วขึ้น
ด้วยเหตุนี้จึงพบว่า เด็กวัยแรกเกิด- 4 เดือนที่ได้รับนมผสมที่มีโปรตีนนมวัวเป็นส่วนผสม มีโอกาสเกิดอาการแพ้โปรตีนนมวัว และมีข้อสังเกตที่พบว่า คุณแม่ที่ดื่มนมมากกว่าปกติระหว่างตั้งครรภ์และระหว่างให้นมแม่ ลูกจะ  มีโอกาสเกิดการแพ้โปรตีนนมวัวได้

2.ถั่ว

ในประเทศทางตะวันตก พบว่า ถั่วลิสงเป็นสาเหตุ อันดับต้นๆ ที่ทำให้เด็กเล็กเกิดอาการแพ้ คาดว่าเป็นจากวิธีการนำถั่วมาเตรียมอาหาร ที่ส่งผลให้โปรตีนในถั่วสามารถกระตุ้นให้เกิดการแพ้ ตลอดจนปัจจัยทางเชื้อชาติ โดยประเทศไทยหรือเชื้อชาติแถบเอเชียจะพบว่า มีเด็กน้อยราย ที่เกิดอาการแพ้ถั่วลิสงเมื่อเทียบกับทางตะวันตก
ส่วนถั่วอีกชนิดหนึ่งที่เด็กแพ้ได้คือ ถั่วเหลือง พบว่า เด็กมีอาการแพ้โปรตีนในถั่วเหลือง เพราะรูปแบบการ กินอาหารของคุณแม่ในช่วงตั้งครรภ์หรือให้นมลูก เช่น กินนมถั่วเหลืองมากเป็นพิเศษ ก็มีส่วนส่งเสริมให้ลูกมีอาการแพ้

3. แป้งสาลี

ปัญหาการแพ้อาหารประเภทแป้ง เท่าที่พบ ส่วนใหญ่เป็นการแพ้แป้งสาลีในอาหารประเภทขนมปัง หรือสปาเกตตี มะกะโรนี ซึ่งมีสารโปรตีนของแป้งสาลีอยู่ค่อนข้างมาก ฉะนั้น เมื่อเด็กกินอาหารประเภทนี้ จึงมีโอกาสที่จะกระตุ้นให้เกิดอาการแพ้ ได้ง่ายขึ้น

4.อาหารทะเล

มีข้อสังเกตที่ตรงกันทั้งในต่างประเทศและในบ้านเราว่า กลุ่มอาหารทะเล โดยเฉพาะสัตว์ที่มีกาบหรือกระดอง เช่น กุ้ง ปู หรือปลาทะเล เป็นกลุ่มที่มีส่วนกระตุ้นให้เกิดอาการแพ้ได้มากกว่าปลาหรือสัตว์น้ำจืด อาหารทะเลจึงเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เด็ก  แพ้ได้ ดังนั้น การเริ่มกินเนื้อสัตว์ประเภทเนื้อปลา ควรเริ่มจากปลาน้ำจืด เช่น ปลาช่อน ปลาดุก เพื่อลดความเสี่ยงต่อการแพ้

5.ไข่ขาว 

ไข่ เป็นอาหารที่มีสารอาหารสำคัญ คือโปรตีน มีกรดอะมิโนที่จำเป็น (Essential amino acids) อยู่ครบถ้วน ทั้งในไข่ขาวและไข่แดง แต่ในไข่ขาวมีโปรตีนชนิดที่ชื่อว่า โอวัลบูมิน (ovalbumin) เป็นโปรตีนที่กระตุ้นให้เกิดอาการแพ้ได้ช่วงเริ่มอาหารเสริม คุณหมอจึงแนะนำให้คุณแม่เริ่มให้ไข่แดงก่อน และเริ่มให้ลูก กินไข่ขาวได้เมื่ออายุ 6 เดือนไปแล้ว เพื่อลดโอกาสการเกิดอาการแพ้โปรตีนไข่ขาว



6. อาหารแปรรูป

เมื่อลูกโตขึ้นเมนูอาหารอาจหลากหลายตามช่วงวัย บางครั้งคุณพ่อคุณแม่อาจมองหาผลิตภัณฑ์แปรรูป เป็นเมนูทางเลือกของลูกมาประกอบอาหาร ทั้งนี้ ผลิตภัณฑ์แปรรูปต่างๆ อาจมีส่วนผสมของสารกระตุ้นทำให้เกิดอาการแพ้

อาการอาหารที่เด็กแพ้เป็นอย่างไร

  • ทางผิวหนัง เป็นอาการที่พบได้บ่อยที่สุด เช่น มีผื่นขึ้นบริเวณใบหน้า แก้ม แขน ขา คนโบราณมักเรียกผื่นชนิดนี้ว่า ‘กลากน้ำนม’ ขอให้คุณแม่ตั้งข้อสังเกตกับอาการว่า นอกจากมีผื่นเกิดขึ้นแล้ว ลูกน้อยมีอาการคันร่วมด้วยหรือไม่ เช่น มีอาการหงุดหงิดไม่สบายตัว เอาหน้าถูไถไปมากับที่นอน โดยเฉพาะในรายที่มีอาการแพ้รุนแรง ผื่นจะมีลักษณะนูนแดง คล้ายกับผื่นลมพิษ แม้พบไม่บ่อยแต่ก็ต้องระวังและคอยสังเกตอาการ
  • ทางระบบทางเดินอาหาร โดยทั่วไปเบื้องต้นลูกอาจแสดงอาการหงุดหงิด เพราะรู้สึกไม่สบายท้อง อาเจียน หรือถ่ายเหลวบ่อยครั้ง โดยเฉพาะการแพ้โปรตีนนมวัวนั้น อาจมีอาการถ่าย หลายครั้ง ตั้งแต่ถ่ายเล็กน้อย จนถึงอาการถ่ายเรื้อรัง แม้ว่าจะได้รับการรักษาแล้ว หรือในรายที่มีอาการแพ้มาก อาจถ่ายเหลวบ่อยครั้งต่อวัน หรือถ่ายเป็นเลือดปนออกมาด้วย ซึ่งควรพาลูกไปพบแพทย์ทันที
  • ทางระบบทางเดินหายใจ ลูกมีอาการหายใจ เสียงดังครืดคราด หายใจไม่สะดวก มักมีอาการเรื้อรังไม่หาย ในรายที่มีอาการแพ้รุนแรง อาจพบอาการของโรคหืดร่วมด้วย แต่ก็พบได้ไม่บ่อย[/color]

าหารที่เด็กแพ้มีวิธีการป้องกันอย่างไร


วิธีที่ดีที่สุดก็คือ ให้ลูกได้รับสารอาหารครบถ้วน ช่วยส่งเสริม การเจริญเติบโต ซึ่งก็คือนมแม่ตั้งแต่แรกเกิด เพื่อลดโอกาสเสี่ยงต่อการแพ้โปรตีนในนมวัว และอาหารต่างๆ

  • เมื่อคุณพ่อคุณแม่สงสัยหรือทราบว่าลูกมีอาการแพ้อาหาร ควรพาลูกน้อยไปพบกุมารแพทย์ เพื่อทำการวินิจฉัยและขอคำแนะนำ ที่เหมาะสม
  • ช่วงเริ่มอาหารเสริม การให้อาหารแต่ละชนิดแต่ละครั้งควรเริ่มให้ครั้งละน้อยๆ ถ้าไม่มีอาการแพ้ จึงค่อยๆ เพิ่มอาหารชนิดอื่น จะช่วยป้องกัน ลดโอกาสเสี่ยงที่ลูกจะเกิดอาการแพ้จากอาหารที่กินเข้าไปได้
  •  หลีกเลี่ยงอาหารที่ก่อให้เกิดอาการแพ้ โดยเฉพาะเด็กที่มีปัญหาแพ้โปรตีนนมวัว ควรเลี่ยงนมที่มีส่วนผสมของนมวัว
  • ลดปัญหาอาการแพ้อาหาร ด้วยการปรุงอาหารให้ลูกกินเอง หากต้องเลือกซื้ออาหารโดยเฉพาะผลิตภัณฑ์แปรรูป ควรเลือกผลิตภัณฑ์ ที่มีคุณภาพ มีการระบุข้อมูลทางโภชนาการที่ชัดเจน สามารถสอบถามข้อมูลหรือขอรายละเอียดจากผู้ผลิตในกรณีที่เกิดปัญหาได้

การดูแลเมื่อลูกแพ้อาหาร  

กรณีที่เกิดอาการแพ้แล้วนั้น คุณพ่อคุณแม่ควรดูแลตามอาการ เช่น

  •  มีการอาเจียน ถ่ายบ่อย ควรเลี่ยงอาหารนั้นๆ ควรระมัดระวังภาวะขาดน้ำ ให้ลูกดื่มน้ำเกลือแร่
  • ถ้าเป็นลักษณะของผื่น อาการคัน อาจใช้ผ้าสะอาดชุบน้ำเช็ดบริเวณที่มีอาการ และเลี่ยงการอยู่ในที่ๆ มีอากาศร้อน เพราะมีส่วนต่อการกระตุ้นให้เกิดอาการคัน หากเกิดเป็นแผลอาจทำให้มีอาการ แทรกซ้อนอื่นๆ ตามมา
  • ส่วนอาการทางระบบทางเดินหายใจ คุณแม่อาจใช้น้ำเกลือล้างหรือเช็ดบริเวณจมูก เพื่อให้ลูกหายใจได้สะดวกขึ้น

แม้ว่าการแพ้อาหารในเด็กเกิดจากปัจจัยใหญ่ๆ 2 อย่าง ได้แก่ พันธุกรรม เช่น พ่อ แม่ หรือมีลูกคนก่อนในครอบครัว เป็นโรคภูมิแพ้ ก็อาจทำให้ลูกน้อยมีโอกาสเกิดการแพ้อาหาร ได้มากกว่าเด็กคนอื่นๆ และประการต่อมา เกิดจากอาหารที่เป็นสิ่งกระตุ้นก่อให้เกิดอาการแพ้ หากอาการแพ้อาหารแต่ละชนิด ที่กล่าวมานั้น เมื่อลูกโตขึ้นอาการแพ้จะค่อยๆ หายไปด้วยเพราะระบบการย่อยอาหาร เซลล์เยื่อบุลำไส้ทำงานได้สมบูรณ์ มีความสามารถในการยับยั้งสารอาหารที่เป็นตัวกระตุ้นการแพ้ได้ ทำให้เกิดปัญหาน้อยลง แต่อาหารบางประเภท เช่น อาหาร-ทะเล หรือถั่วลิสง ยังทำให้เกิดอาการแพ้ไปได้ตลอดชีวิต จึงควรหลีกเลี่ยงอาหารที่แพ้เหล่านี้ค่ะ

Mamaexpert Tips :
โรคภูมิแพ้สามารถเกิดขึ้นได้ตั้งแต่ขวบปีแรก โดยเฉพาะการแพ้โปรตีนนมวัวที่มีโอกาสเกิดขึ้นได้มากที่สุดซึ่งอาการแพ้นั้นแสดงออกมาได้หลายทางเช่นผื่นแพ้ผิวหนังหรือถ่ายเป็นมูกเลือด ดังนั้นคุณแม่ควรให้นมแม่อย่างน้อย 6 เดือนเพราะมีโปรตีนรูปแบบเฉพาะที่ไม่ไปกระตุ้นการเกิดภูมิแพ้และยังมีพรีไบโอติกที่ช่วยเสริมภูมิต้านทาน ซึ่งเป็นการปกป้อง 2 ระดับ กรณีที่ไม่สามารถให้นมแม่ได้ควรปรึกษาแพทย์ในการเลือกใช้นมสูตร HA ที่มีการเติมพรีไบโอติก ลองอ่านข้อมูลเพิ่มเพื่อสามารถรับมือกับภูมิแพ้

เรียบเรียงโดย : Mamaexpert Editorail Team