เด็กโกหก
พฤติกรรมโกหก เกิดขึ้นได้ในเด็กต่ำกว่าอายุ 3 ขวบ ซึ่งพฤติกรรมดังกล่าว เกิดจากความรู้ความเข้าใจของเด็กต่อเหตุการณ์ต่างๆยังไม่ดีพอ หรือพูดง่ายๆว่าเด็กช่วงวัยนี้ยังไม่เข้าใจโลกของความเป็นจริง คุณพ่อคุณแม่ต้องเข้าใจพัฒนาการตามช่วงวัยที่เกิดขึ้นด้วย ว่าการโกหกดังกล่าวเกิดจากความไม่เข้าใจ หรือ โกหกตามวัยเป็นเรื่องปกติ แต่หากลูกของคุณ มีพฤติกรรมโกหกในช่วงอายุมากกว่า7ปีขึ้นไป เป็นช่วงวัยที่เข้าใจโลกของความเป็นจริงแล้ว การโกหกดังกล่าวไม่ปกติแน่ๆ
เด็กโกหกเพราะอะไร
เด็กวัย7ปีขึ้นไป มีพฤติกรรมชอบโกหก มีสาเหตุมาจาก ...
1. เด็กโกหกเพื่อเอาตัวรอด หรือ เด็กโกหกเพื่อหลบเลี่ยงการถูกลงโทษเมื่อตนเองทำอะไรผิดพลาด เช่น ไม่ได้ทำการบ้าน หรือทำของเสียหาย
2. เด็กโกหกเพราะต้องการได้รับความสนใจจากพ่อแม่ หรือคนอื่นๆ ก็อาจเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เด็กสร้างเรื่องเล่าให้เหนือคนอื่น ทั้งที่จริงๆ แล้วไม่ได้เป็นเช่นนั้น
3. เด็กโกหกเพื่อหวังผลประโยชน์อะไรบางอย่าง หรือเพื่อกลั่นแกล้งผู้อื่น ซึ่งถือว่ามีความรุนแรงกว่ากรณีอื่นๆ พ่อแม่จะต้องประเมินว่าเด็กมีพฤติกรรมเกเรอื่นๆ ร่วมด้วยหรือไม่ เช่น การลักขโมย พฤติกรรมก้าวร้าว ทำร้ายผู้อื่น หรือละเมิดกฎเกณฑ์ของสังคมในรูปแบบอื่นๆ ซึ่งบ่งชี้ว่าเด็กอาจมีโรคทางจิตเวชอย่างอื่นร่วมด้วย
เด็กโกหกแก้ได้หรือไม่
เด็กโกหก สามารถปรับปรุงพฤติกรรมดังกล่าวด้วยความเข้าใจจากครอบครัว คุณพ่อคุณแม่มักจะโกรธเมื่อทราบว่าลูกโกหก คุณพ่อคุณแม่ต้องลดละความโกรธลง และพูดคุยกับอย่างใจเย็นและ พ่อแม่ก็ต้องแก้ไขให้ตรงตามความเป็นจริง เมื่อรูว่าลูกโกหกควรพูดว่า
- “สิ่งที่พ่อ(แม่)รู้มามันไม่ใช่อย่างนี้นะ” แล้วค่อยๆสื่อสารทำความเข้าใจกับลูกอย่างใจเย็น เหตุผลของการที่เด็กไม่พูดจริงอาจไม่ใช่เรื่องเลวร้ายก็เป็นได้ เช่น อาจกลัวพ่อแม่เสียใจ อาจโกหกเรื่องการใช้เงินเพราะเอาเงินไปทำเรื่องดีๆบางเรื่อง
เด็กโกหกเพราะป่วยทางจิตหรือไม่
เด็กโกหกซ้ำๆ เกิดจากความผิดปกติร่วมด้วยได้แก่
1. โรคสมาธิสั้น เด็กสมาธิสั้นอาจจะเรียนได้ไม่ดี ไม่ได้ทำการบ้านส่ง เด็กจึงอาจจะโกหกเพื่อให้พ้นความผิด
2. โรคพฤติกรรมผิดปกติ (conduct disorder) เด็กอาจจะมีพฤติกรรมลักขโมย ก้าวร้าว เช่น รังแกสัตว์ ชอบเล่นไฟหรือเล่นอะไรรุนแรง ทำร้ายผู้อื่น หนีโรงเรียน หนีออกจากบ้าน ร่วมกับมีพฤติกรรมโกหกหลอกลวง
คุณพ่อคุณแม่ที่ไม่สามารถปรับแก้พฤิกรรมโกหกของลูกให้สำเร็จได้ ควรพาลูกไปพบจิตแพทย์ เพื่อตรวจวินิจฉัยอย่างละเอียด และ เพื่อรับคำแนะนำในการปรับเปลี่ยนพฤิกรรมของลูกอย่างถูกต้องเหมาะสม
บทความแนะนำเพิ่มเติม
1. โรคดื้อ พ่อแม่ยุคปัจจุบันรู้เท่าทันโรคดื้อของลูก เช็คสิ!!!
2."โรคซึมเศร้าในเด็ก" ภัยเงียบที่พ่อแม่ไม่ควรมองข้าม..
3. สาเหตุลูกก้าวร้าวรุนแรงเกิดจากอะไร
เรียบเรียงโดย : Mamaexpert Editorial Team