วัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ใครบ้างต้องฉีด?

14 December 2017
5608 view

วัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า

“โรคพิษสุนัขบ้า” “โรคกลัวน้ำ”หรือ “โรคหมาว้อ”(ในภาษาอีสาน) เป็นโรคติดเชื้อที่มีสาเหตุมาจาก Rabies virusซึ่งเป็นเชื้อไวรัสก่อโรคในสัตว์เลือดอุ่นเลี้ยงลูกด้วยนมทุกชนิด เช่น สุนัข แมว วัว ควาย ลิง ชะนี กระรอก กระแต เสือ หมี หนู ค้างคาว รวมถึงคนด้วย ซึ่งในประเทศไทยพบมากที่สุดในสุนัข (96% ของจำนวนที่พบเชื้อจากการวินิจฉัยในห้องปฏิบัติการ) รองลงมา คือ แมว คุณพ่อคุณควรศึกษาเรื่องการฉีดวัคซีนนี้ไว้ เนื่องจากลูกน้อยของคุณพ่อคุณแม่ อาจถูกสุนัขหรือสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่ไม่ใช่สุนัขกัด ก็มีโอกาสที่จะติดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าได้ มาดูกันเลยจ้า..  

รูปภาพที่เกี่ยวข้อง

วัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าคืออะไร

วัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าได้จากการนำเชื้อ Rabies virus ที่เกิดจากการเพาะเลี้ยงโดยวิธีการเฉพาะ ซึ่งเชื้อจะถูกทำให้ตายก่อนที่จะนำมาฉีดเพื่อกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัสชนิดนี้ การฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าสามารถทำได้ 2 แบบ คือ ฉีดเข้ากล้ามเนื้อ (Intramuscular; IM)และฉีดเข้าในผิวหนัง (Intradermal; ID)

วัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าที่มีจำหน่ายในประเทศไทยมีอยู่

1. Lyssavac N® (Purified Duck Embryo Cell Rabies Vaccine; PDEV) เป็นวัคซีนที่ได้จากการเพาะเลี้ยงไวรัสในตัวอ่อนไข่เป็ดที่ฟักแล้ว (embryonated duck eggs)แนะนำให้ฉีดแบบ IM เท่านั้นมีลักษณะเป็นวัคซีนผงแห้งพร้อมน้ำสำหรับทำละลาย (sterile water for injection) เมื่อละลายแล้วมีลักษณะเป็นสารแขวนตะกอนสีขาว ขุ่นเล็กน้อย เนื่องจากมี thimerosal เป็นสารกันเสีย ปริมาตรรวม 1 ml
2. SII Rabivax® (Human Diploid Cell Rabies Vaccine; HDCV) เป็นวัคซีนที่ได้จากการเพาะเลี้ยงไวรัสในhuman diploid cellแนะนำให้ฉีดแบบ IM เท่านั้นมีลักษณะเป็นวัคซีนผงแห้งพร้อมน้ำสำหรับทำละลาย (sterile water for injection) เมื่อละลายแล้วมีลักษณะใส สีชมพู ปริมาตรรวม 1 ml
3. Rabipur® (Purified Chick Embryo Cell Rabies Vaccine; PCECV)เป็นวัคซีนที่ได้จากการเพาะเลี้ยงไวรัสใน primary chick embryo fibroblast cell สามารถฉีดได้ทั้งแบบ IM และ ID มีลักษณะเป็นวัคซีนผงแห้งพร้อมน้ำสำหรับทำละลาย (sterile water for injection) เมื่อละลายแล้วมีลักษณะใส ไม่มีสี ปริมาตรรวม 1 ml
4. Verorab® (Purified Vero Cell Rabies Vaccine; PVRV)เป็นวัคซีนที่ได้จากการเพาะเลี้ยงไวรัสใน vero cells สามารถฉีดได้ทั้งแบบ IM และ ID มีลักษณะเป็นวัคซีนผงแห้งพร้อมน้ำเกลือสำหรับทำละลาย (solution of sodium chloride 0.4%) เมื่อละลายแล้วมีลักษณะใส ไม่มีสี ปริมาตรรวม 0.5 ml
วัคซีนทั้ง 4 ชนิดมีชื่อเรียกรวมๆ ว่า วัคซีนเซลล์เพาะเลี้ยง ซึ่งจะมีความปลอดภัยและมีความบริสุทธิ์มากกว่าวัคซีนแบบเก่าที่ผลิตจากการนำเชื้อ Rabies virus จากสมองสัตว์ที่เป็นโรคพิษสุนัขบ้ามาใช้ ซึ่งในปัจจุบัน ประเทศไทยไม่มีการนำวัคซีนดังกล่าวมาใช้แล้ว

วัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ใครบ้างที่ต้องฉีด

แนะนำให้ผู้มีโอกาสสูงที่จะถูกสัตว์กัด เช่น สัตวแพทย์ บุรุษไปรษณีย์ หรือเจ้าหน้าที่ที่ทำงานเกี่ยวกับเชื้อไวรัสพิษสุนัขบ้า ฉีดวัคซีนก่อนสัมผัสสัตว์หรือก่อนถูกสัตว์กัด นอกจากนั้น อาจแนะนำให้ใช้กลุ่มเด็กโดยเฉพาะหากเป็นบ้านที่มีสัตว์เลี้ยง

วัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ฉีดอย่างไร

วัคซีนนี้เป็นวัคซีนที่จะต้องฉีดภายใต้คำแนะนำของแพทย์ และต้องเข้ารับการฉีดโดยผู้ที่มีความเชี่ยวชาญเท่านั้น ซึ่งก่อนฉีดจะต้องอ่านเอกสารกำกับยาให้ชัดเจน เพื่อปริมาณการใช้ยาที่ถูกต้อง การฉีดวัคซีนพิษสุนัขบ้า ทำได้ 2 แบบคือ

  • ฉีดเพื่อป้องกันก่อนได้รับเชื้อพิษสุนัขบ้า ผู้ซึ่งสมควรได้รับวัคซีนนี้ได้แก่ผู้ที่ต้องเดินทางไปยังบริเวณที่มีการแพร่ระบาดของโรคพิษสุนัขบ้า ผู้ที่ต้องทำงานและอยู่ใกล้ชิดสัตว์ป่า ผู้ที่ทำงานในพื้นที่ปฏิบัติการที่ต้องสัมผัสเชื้อไวรัสดังกล่าว หรือผู้ที่มีความเสี่ยงจะได้รับเชื้อ เช่น บุรุษไปรษณีย์ สัตว์แพทย์ ครูฝึกสอนสัตว์เลี้ยง หรือผู้ดูแลสัตว์
  • ฉีดเพื่อป้องกันเมื่อต้องสงสัยว่าอาจได้รับเชื้อพิษสุนัขบ้า แพทย์จะพิจารณาให้รับวัคซีนนี้เมื่อถูกสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมกัด หรือข่วน ซึ่งจะต้องได้รับวัคซีนเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้เพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ

วัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า มีผลข้างเคียงอย่างไร

วัคซีนพิษสุนัขบ้ามีผลข้างเคียงเช่นเดียวกับการใช้ยา หรือวัคซีนชนิดอื่น ๆ แต่โดยส่วนใหญ่แล้วผู้ที่ได้รับวัคซีนจะไม่มีอาการข้างเคียง หรือหากมีก็จะเกิดขึ้นไม่รุนแรง ที่มักพบบ่อย คือ

  • วิงเวียนศีรษะ ปวดศีรษะ
  • บริเวณที่ฉีดวัคซีนมีอาการบวมแดงหรือรู้สึกปวด
  • เกิดอาการปวดกล้ามเนื้อ และข้อต่อ
  • คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง
  • มีอาการเหนื่อย หรืออ่อนแรงมากผิดปกติ

ใครบ้างที่ไม่สามารถฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าได้

  1. ห้ามใช้วัคซีนดังกล่าวกับผู้ที่มีประวัติแพ้วัคซีนหรือส่วนประกอบของวัคซีนพิษสุนัขบ้า
  2. ผู้ที่มีประวัติแพ้อาหารจำพวกโปรตีนไข่ ผลิตภัณฑ์จากไข่ ยานีโอไมซิน (Neomycin) ยาคลอเททราไซคลิน (Chlortetracycline) หรือยาแอมโฟเทอริซิน บี (Amphotericin B)
  3. สตรีมีครรภ์ หรือวางแผนตั้งครรภ์ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนได้รับวัคซีนดังกล่าว
  4. สตรีที่อยู่ในช่วงให้นมบุตรควรหลีกเลี่ยงการรับวัคซีนพิษสุนัขบ้าก่อนได้รับคำแนะนำจากแพทย์
  5. ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ เช่น ผู้ป่วยโรคมะเร็งที่ต้องรับการรักษาด้วยวิธีเคมีบำบัด หรือรังสีบำบัด ผู้ที่ได้รับยากดภูมิคุ้มกัน ผู้ที่ติดเชื้อเอชไอวี หรือโรคเอดส์ ควรแจ้งแพทย์ก่อนได้รับวัคซีน
  6. ผู้ป่วยกลุ่มอาการกิลแลง-บาร์เร (Guillain-Barre Syndrome: GBS) ควรปรึกษาแพทย์หากต้องได้รับวัคซีนดังกล่าว
  7. หากมีอาการไข้ ไข้หวัด อาการติดเชื้ออื่น ๆ หรือมีอาการป่วยจากสาเหตุควรแจ้งแพทย์ก่อนเข้ารับวัคซีน

ราคาวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า

ราคาของ โรงพยาบาลรัฐ (ฉีดครบ 3 อย่าง)

  1. ERIG/HRIG 700 บาท/ขวด (ฉีดกี่ขวดก็ต้องไปคำนวณตามน้ำหนัก)
  2. rabie vaccine 340 บาท/ขวด (4-5 เข็ม แล้วแต่ยี่ห้อ แล้วแต่วิธีฉีด)
  3. dT vaccine 30 บาท/เข็ม (ฉีด 3 เข็ม)

ของโรงพยาบาลรัฐ รวม ๆ ก็ประมาณหนึ่งพันกว่าบาทเป็นอย่างต่ำ แต่ถ้าเป็นเอกชน ก็เกือบ สามพันกว่าบาท ค่ะ นี่ยังไม่รวมค่าเปิดบัตร ค่าธรรมเนียมอื่น ๆ นะคะ

สำหรับวัคซีนผลิตจากเซลล์เพาะเลี้ยง ราคาประมาณเข็มละ 500 บาท วัคซีนนี้ได้ผลดี ฉีดเพียง 5-6 เข็ม โดยมีเว้นระยะกล่าวคือวัคซีนแรก วันที่ 3, 7 ,14, 30 และวันที่ 90 ค่ะ

บทความแนะนำสำหรับคุณแม่

1. วัคซีนในเด็กมีอะไรบ้าง

2.  ขั้นตอนการดูแลลูกน้อยเมื่อโดนสุนัขกัด อย่างถูกต้อง

3. อาการข้างเคียงหลังฉีดวัคซีน

เรียบเรียงโดย : Mamaexpert Editorial Team

อ้างอิง :

1. สมาคมกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย.โอฬาร พรหมาลิขิต และคณะ.“วัคซีน….น่ารู้”.วัคซีนพิษสุนัขบ้า..ฉีดก่อนปลอดภัย ช่วยให้ไม่สิ้นเปลือง;หน้า 51-54.กรุงเทพฯ.[ค้นเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2560]