ลูกท้องเสียเพราะยืดตัว หรือ ลูกท้องเสียเพราะติดเชื้อกันแน่!!! แม่ต้องอ่าน

23 November 2017
152781 view

ลูกท้องเสีย

ท้องเสียหรืออุจจาระร่วง เป็นโรคที่พบได้บ่อยในเด็ก ที่เจอบ่อยก็คือ เด็กที่อายุต่ำกว่า 1 ปี สาเหตุส่วนใหญ่อาจเกิดจากาการปนเปื้อนของเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรียที่อยู่ในอาหารหรือน้ำที่รับประทาน หรือจากมือไม่สะอาด หรือจากอาหารเป็นพิษค่ะ โดยทั่วไปสามารถหายได้เองค่ะ หากเด็กได้รับการดูแลรักษาที่ไม่เหมาะสม อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพของเด็ก และอาจทำให้เสียชีวิตได้

อย่างไรเรียกว่าลูกท้องเสีย

อาการที่บอกว่าลูกน้อยของคุณแม่ท้องเสียนั้น ก็คือ การที่ลูกน้อยถ่ายอุจจาระเหลวตั้งแต่ 3 ครั้งขึ้นไป หรือถ่ายเป็นน้ำมากกว่า 1 ครั้งต่อวัน หรือถ่ายมีมูกเลือดปน 1 ครั้งขึ้นไป เด็กที่มีอาการท้องเสียอาจมีอาการอื่นๆร่วมด้วย เช่น มีไข้ หรืออาเจียน ค่ะ

ลูกท้องเสียเพราะกำลังยืดตัวจริงเท็จแค่ไหน

คุณพ่อคุณแม่มักสงสัยว่าเวลาที่ทารกท้องเสีย คือท้องเสียเกิดจากการยืดตัวใช่หรือไม่ คุณพ่อคุณแม่เองยังมองว่าเป็นเรื่องธรรมชาติของเด็กวัยนี้ซึ่งสามารถหายได้เอง แต่จริงแล้วเด็กวัยขวบปีแรกจะมีพัฒนาการของร่างกายจากนอนหงายเป็นนอนคว่ำ,คืบ,นั่ง,ยืน,เดิน ซึ่งไม่มีความเกี่ยวข้องกับเรื่องท้องเสียเลย ดังนั้นความเชื่อที่ว่า การยืดตัวทำให้เกิดปัญหาท้องเสีย จึงไม่เป็นความจริง มาดูสาเหตุที่แท้จริงที่ทำให้ลูกน้อยท้องเสียกันเลยจ้า

สาเหตุที่ทำให้ลูกท้องเสีย

ในเด็กเล็กโดยเฉพาะอย่างยิ่งอายุไม่เกิน 1 ปี ส่วนมากพบได้จากการได้รับเชื้อโรคเข้าไปในร่างกาย ซึ่งมักเข้าทางปากโดยการกินอาหารหรือดื่มนมที่ปนเปื้อนเชื้อโรค หรือการหยิบจับของเล่นเข้าปากหรือแม้กระทั่งเวลาเด็กคลานเล่น มือของเด็กก็สัมผัสกับสิ่งที่สกปรกมีเชื้อโรคและเอาเชื้อโรคเข้าปากตัวเองเป็นต้น โรคนี้จึงเป็นปัญหาที่พบในเด็กมากกว่าผู้ใหญ่ เพราะเด็กมีโอกาสได้รับเชื้อโรคมากกว่า รวมทั้งภูมิต้านทานโรคต่ำ โดยภูมิต้านทายส่วนหนึ่งได้มาจากนมแม่ลากการได้รับวัคซีนและอีกส่วนคือการที่ร่างกายสร้างขึ้นได้เองค่ะ

อาการลูกท้องเสียที่ต้องรีบพบแพทย์ทันที

คุณพ่อคุณแม่ควรพาลูกน้อยไปพบแพทย์เมื่อมีอาหารดังต่อไปนี้

  1. ถ่ายอุจจาระเป็นมูก หรือมูกเลือด
  2. อุจาระมีลักษณะเป็นน้ำซาวข้าว
  3. อุจจาระมีกลิ่นเหม็นเน่าเหม็นคาว
  4. มีอาการไข้สูงหรือชักร่วมด้วย
  5. อาเจียนบ่อย
  6. ท้องอืด
  7. หอบลึก
  8. ไม่ยอมดื่มสารละลายน้ำตาลเกลือแร่ทุกชนิดและ/หรือไม่ยอมดื่มหรือกินอาหาร
  9. ดื่มสารละลายน้ำตาลเกลือแร่แล้วแต่เด็กยังดูเพลีย, ซึม
  10. ถ่ายอุจจาระเป็นน้ำบ่อย หรือมากกว่า 10 ครั้งต่อวัน

คุณพ่อคุณแม่ควรรีบพาลูกน้อยไปพบแพทย์ทันที เพื่อจะได้ตรวจร่างกายโดยละเอียดหรือส่งตรวจเกี่ยวกับช่องท้องและอุจจาระเพิ่มเติมค่ะ หรืออาจจะต้องให้ยาปฏิชีวนะตามความจำเป็นค่ะ

การรักษาเมื่อลูกท้องเสีย

การรักษาท้องเสีย เบื้องต้นสามารถทำการเริ่มต้นทดแทนการสูญเสียน้ำและเกลือแร่อย่างรวดเร็ว และทันทีในปริมาณที่เหมาะสมด้วยสารละลายน้ำตาลเกลือแร่ โดยผสม 1 ซองต่อน้ำต้มสุกที่เย็นแล้ว 1 แก้วน้ำหรือ 1 ขวดนม (8 ออนซ์) ถ้าไม่มีสารละลายน้ำตาลเกลือแร่สำเร็จรูป คุณแม่สามารถทำเองได้โดยใช้น้ำตาลทราย 2 ช้อนโต๊ะ + เกลือป่นครึ่งช้อนชา + น้ำสะอาด 3 แก้ว หรือ 3 ขวดนม (ขวดละ 8 ออนซ์) หรือน้ำข้าว 1 แก้ว (ขวดละ 8 ออนซ์) + เกลือประมาณ 2 หยิบนิ้วมือหรือเค็มพอรับประทานได้ หรือน้ำมะพร้าวอ่อน 1 แก้ว (ขวดละ 8 ออนซ์) + เกลือ 2 หยิบนิ้วมือ (เค็มพอรับประทานได้) ในเด็กเล็กให้ใช้ช้อนตักป้อนทีละน้อย บ่อยๆ ในเด็กโต ใช้จิบทีละน้อยบ่อยๆ ในเด็กโตที่เริ่มกินข้าวแล้วอาจให้เพิ่มอีก 1 มื้อเป็นอาหารอ่อน เช่น ข้าวต้ม, โจ๊ก ถ้าไม่มีอะไรจริงๆ ใช้น้ำซุป, น้ำแกงจืดหรือน้ำผลไม้เติมเกลือเล็กน้อยก็พอใช้ได้ค่ะ

อาหารที่ต้องเลี่ยงเมื่อลูกท้องเสีย

หากเด็กท้องเสีย จากการแพ้อาหารหรือนม ควรหลีกเลี่ยงการให้อาหารนั้นและถ้าจำเป็นแพทย์อาจแนะนำให้เปลี่ยนนมให้เด็ก โดยอาหารที่ควรเลี่ยงจะอยู่ในจำพวกอาหารรสเปรี้ยว รสเผ็ด อาหารมัน กะทิ

การให้นมเมื่อลูกท้องเสีย

เด็กที่เลี้ยงด้วยนมแม่ คุณแม่สามารถให้นมต่อไปได้ค่ะ แต่ให้เด็กดูดนมบ่อยขึ้นกว่าปกติ ในรายที่เป็นมาก มีอุจจาระเป็นฟอง ผายลมบ่อย ท้องอืด อาจแก้ไขโดยบีบน้ำนมแม่ส่วนต้นของเต้านมที่เด็กจะดูดทิ้งไปประมาณ 20-30 มิลลิลิตร เพื่อให้เด็กได้ดูดนมแม่ส่วนหลังซึ่งจะมีปริมาณไขมันมากกว่าน้ำนมแม่ส่วนต้น ทำให้เด็กอิ่มนานไม่หิวง่ายไม่ต้องดูดนมบ่อย และระยะเวลาที่นมผ่านออกจากกระเพาะอาหารลงไปที่ลำไส้ช้าลง ช่วยลดการกระตุ้นการบีบตัวของลำไล้ ทำให้เด็กหลับนานและ การถ่ายจะห่างขึ้น

เด็กที่เลี้ยงด้วยนมผสม เมื่อคุณแม่ให้นมผสมแล้วถ้าอาการถ่ายไม่ดีขึ้นหลัง 3 วัน อาจจะต้องเปลี่ยนเป็นนมที่มีน้ำตาลแล็คโตสต่ำ เช่น นมวัวที่ไม่มีแล็คโตส คือ โอแล็ค อัลมิรอน หรือถ้าจำเป็นก็อาจเจือจางนมลงเท่าตัว แต่ไม่ควรให้นมที่เจือจางนานติดต่อกันเกินหนึ่งหรือสองวันเพราะจะทำให้เด็กขาดอาหารได้ค่ะ

อาหารที่เหมาะกับลูกท้องเสีย

เด็กโตให้อาหารอ่อนที่ย่อยง่ายเป็นข้าวต้ม, โจ๊ก ซุป แกงจืด โดยอาจเพิ่มมื้ออาหารให้บ่อยกว่าปกติ ถ้าเด็กสามารถดื่มสารละลายน้ำตาลเกลือแร่และกินอาหารและนมได้ถึงแม้จะยังถ่ายอยู่แต่เด็กไม่อ่อนเพลีย ดูสดใสขึ้น แสดงว่าทดแทนการสูญเสียน้ำและเกลือแร่ด้วยสารละลายน้ำตาลเกลือแร่ทัน และพอเพียงก็ให้ดื่มต่อไปจนกว่าจะหยุดถ่าย แต่ถ้าอาการไม่ดีขึ้นใน 2-3 วัน หรือมีข้อบ่งชี้อื่นๆ ควรพบแพทย์เพื่อให้การรักษา

คุณแม่แชร์ประสบการณ์ลูกท้องเสีย

สมาชิกเฟซบุ๊ก “สุธาทิย์ หามูลใต้” โพสต์เฟซบุ๊ก เหตุการณ์หลังเกิดเหตุหลานชายป่วย ท้องเสียอย่างหนักและเข้าไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่ง โดยแพทย์ให้น้ำเกลือ แต่ปรากฎว่าหลานชายเกิดช็อก ทางทีมแพทย์ได้ปั๊มหัวใจถึง 2 รอบ แต่ไม่เป็นผล หลานชายเสียชีวิตลงในที่สุด ซึ่งตัวเธอบอกต่อว่า ทางแพทย์ระบุว่าน้ำเกลือแร่ขึ้นสมอง ไตวาย ไตทำงานหนัก จึงเสียชีวิต ซึ่งตัวเธอและญาติต่างสงสัยกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แค่ท้องเสียทำไมถึงกับต้องเสียชีวิต

การป้องกันโรคท้องเสียได้ดีที่สุดคือ การให้ลูกน้อยได้รับนมแม่โดยเฉพาะในช่วงอายุ 6 เดือนแรกค่ะ ควรให้นมแม่เพียงอย่างเดียว เพราะว่า นมของแม่นั้น ทั้ง สะดวก สะอาด ประหยัด และปลอดภัย ลูกน้อยของคุณแม่ก็จะได้รับภูมิต้านทานโรคต่างๆ ที่มีในเฉพาะในนมแม่ นอกจากนั้นยังเป็นการสร้างเสริมและเพิ่มความรักความอบอุ่นและความผูกพันระหว่างคุณแม่และลูกน้อยอีกด้วยค่ะ Mama Expert สนับสนุนให้คุณแม่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ค่ะ

บทความแนะนำสำหรับคุณแม่

1.วิธีป้องกัน เด็กท้องอืด

2.เด็กท้องผูก อุจจาระแข็ง อุจจาระไม่ออก

3.ทานนมแม่อย่างเดียว ทำไมถึงถ่ายหลากสี

เรียบเรียงโดย : Mamaexpert Editorial Team

อ้างอิง 

1.สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี. พศ.พญ. นิยะดา วิทยาศัย.กลุ่มงานกุมารเวชศาสตร์.โรคท้องเสียในเด็ก.เข้าถึงได้จาก http://www.thaipediatrics.org/Media/media-20161218145400.pdf .[ค้นคว้าเมื่อ 23 พฤศจิกายน 2560]

2.Pobpad. พญ.นงนภัส เก้าเอี้ยน.ท้องเสียในเด็ก ไม่มีไข้.เข้าถึงได้จาก https://goo.gl/RaVn5S .[ค้นคว้าเมื่อ 23 พฤศจิกายน 2560]

3.MGR Online.แก้ปัญหาท้องเสียในลูกน้อย.เข้าถึงได้จาก https://manager.co.th/qol/viewnews.aspx?NewsID=9560000055372 .[ค้นคว้าเมื่อ 23 พฤศจิกายน 2560]