กินยาเลื่อนประจำเดือน...เลื่อนอย่างไรให้ปลอดภัย !!!!

03 October 2017
39522 view

ยาเลื่อนประจำเดือน

ยาเลื่อนประจำเดือนที่ใช้กันมากในปัจจุบัน เป็นยาเม็ดที่มีตัวยาสำคัญ คือ นอร์เอทีสเตอโรน (Norethisterone) ในขนาด 5 มิลลิกรัม ซึ่งชื่อการค้าที่คุ้นเคย คือ ปรีโมลุทเอ็น (Primolut N) ยานี้มีฤทธิ์คล้ายฮอร์โมนโพรเจสเทอโรน และมีข้อบ่งใช้ในการรักษาความผิดปกติของรอบเดือนหลายชนิด เช่น กลุ่มอาการก่อนมีประจำเดือน มักมีอาการปวดศีรษะหรืออารมณ์หงุดหงิดก่อนมีประจำเดือน

กินยาเลื่อนประจำเดือนอันตรายหรือไม่?

การที่รับประทานยาเลื่อนประจำเดือนจึงส่งผลให้ ระดับ progesterone สูง ในขณะที่รับประทานยาจึงทำให้ไม่มีรอบเดือนตรงตามที่เคยนับ และทำให้มดลูกหนาตัวขึ้นไม่เหมาะแก่การฝังตัวของตัวอ่อน เมื่อไข่ไม่ได้รับการผสม ถ้าหากหยุดรับประทานยาเลื่อนประเดือน มดลูกจะทำให้ progesterone ลดต่ำลงไปเรื่อยๆ จึงเป็นผลให้เยื่อบุมดลูกที่หนาตัวหลุดลอกสลายไป และเป็นประจำเดือนตามมาที่หลัง และจะเข้าสู่ภาวะของรอบเดือน แต่การหลุดลอกของเยื่อบุโพรงมดลูกนี้ ไม่สามารถนับรอบเดือนตามปกติได้แน่นอน จึงไม่ควรใช้ วิธีนับวันสำหรับเดือนต่อไป นอกจากนี้ยาเลื่อนประจำเดือนโดยทั่วไป อาจใช้เป็นยาคุมกำเนิดแบบธรรมดาได้ แต่ไม่นิยมใช้ป้องกันการมีบุตร เนื่องจากมีผลข้างเคียงต่อร่างกายมากกว่า เนื่องจากการใช้ยาเลื่อนประจำเดือนติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน อาจจะส่งผลให้เลือดออกกะปริบกะปรอยไม่เป็นปกติ รอบเดือนแปรปรวนไม่คงที่ จึงไม่แนะนำให้คุมกำเนิดด้วยวิธี

ยาเลื่อนประจำเดือนกินอย่างไร

การรับประทานยาเลื่อนประจำเดือนเหมาะสำหรับใช้ในผู้หญิงที่มีประจำเดือนมาตรงกันในแต่ละเดือน เพื่อที่จะสามารถคาดคะเนวันที่ประจำเดือนมาได้ใกล้เคียงที่สุด โดยควรเริ่มรับประทานยาเลื่อนประจำเดือนอย่างน้อย 3 วันล่วงหน้าก่อนวันที่คาดว่าจะเป็นวันแรกของประจำเดือน รับประทานยาเลื่อนประจำเดือนครั้งละ 1 เม็ด วันละ 2-3 ครั้ง ตามน้ำหนักตัว

  • ถ้ามีน้ำหนักตัวต่ำกว่า 60 กิโลกรัม จะรับประทาน 1 เม็ด วันละ 2 ครั้ง
  • ถ้ามีน้ำหนักตัวมากกว่า 60 กิโลกรัม จะรับประทาน 1 เม็ด วันละ 3 ครั้ง

หลังมื้ออาหาร และรับประทานยาต่อเนื่องต่อไป จนกว่าจะต้องการให้มีประจำเดือนเมื่อใด ก็หยุดรับประทานยา เมื่อหยุดรับประทานยาเลื่อนประจำเดือนแล้ว 2-3 วัน ประจำเดือนก็จะมา ไม่ควรรับประทานยาเลื่อนประจำเดือนติดต่อกันนานเกินกว่า 14 วัน

กินยาเลื่อนประจำเดือนอย่างไรให้ปลอดภัย

การกินยาเลื่อนประจำเดือนเป็นวิธีที่ปลอดภัยก็จริง แต่ก็ไม่แนะนำให้ใช้บ่อยครั้ง หรือใช้ติดต่อกันนานเกิน 10-14 วัน อาจได้รับผลข้างเคียงบางประการ ได้แก่

  • คลื่นไส้ อาเจียน
  • ปวดศีรษะ
  • มีอาการซึมเศร้า
  • ท้องอืด แน่นท้อง
  • เจ็บคัดเต้านม
  • ประจำเดือนออกกะปริบกะปรอย
  • รอบเดือนแปรปรวน มาไม่สม่ำเสมอ

โอกาสตั้งครรภ์ยากขึ้น เพราะการกินยาเลื่อนประจำเดือนเพื่อการคุมกำเนิดเป็นเวลานาน ฤทธิ์ของตัวยานอร์เอทีสเตอโรน จะทำให้เกิดเมือกเหนียวข้นบริเวณช่องคลอด เมื่อต้องการตั้งครรภ์จริงจึงมีโอกาสต่ำมาก เพราะอสุจิเคลื่อนที่ไปผสมกับไข่ยากขึ้น อีกทั้งผนังมดลูกก็ไม่เหมาะสมแก่การฝังตัวของไข่ที่ผสมแล้ว

ยาลดประจำเดือนราคาเท่าไหร่

  • PRIMOLUT N ยาเลื่อนประจำเดือน ราคาต่อกล่อง 790 บาท, ราคาต่อแผง 2 แผงราคา 158 บาท
  • Provera 10 มิลลิกรัม

ใครบ้างที่ไม่สามารถใช้ยาเลื่อนประจำเดือนได้

ยานอร์เอทีสเตอโรน ไม่สามารถใช้ได้กับทุกคน โดยห้ามใช้ยานี้ในคน 5 กลุ่ม ต่อไปนี้

  • กำลังตั้งครรภ์ เนื่องจากยาอาจทำให้ทารกในครรภ์ที่เป็นเพศหญิงมีการพัฒนาอวัยวะเพศภายนอกคล้ายกับเพศชายได้ โดยเฉพาะผู้ที่มีอายุครรภ์เดือนครึ่งเป็นต้นไป ซึ่งเป็นช่วงที่ทารกในครรภ์กำลังมีการพัฒนาของอวัยวะเพศ
  • กำลังให้นมลูกด้วยน้ำนมตัวเอง เนื่องจากยาสามารถปนออกมากับน้ำนมของแม่ จึงอาจทำให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์ต่อลูกได้
  • มีปัจจัยเสี่ยงหรือมีประวัติการเป็นโรคหลอดเลือดอุดตัน เนื่องจากการใช้ยาในกลุ่มคนเหล่านี้ จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดหลอดเลือดอุดตัน (ตัวอย่างผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยง ได้แก่ สูบบุหรี่ โรคอ้วน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง เบาหวาน โรคหัวใจ เป็นต้น)
  • เคยเป็นหรือกำลังเป็นโรคตับขั้นรุนแรง เนื่องจากยาถูกกำจัดที่ตับ หากตับทำงานไม่ดีอาจทำให้ยาสะสมในร่างกายได้ นอกจากนี้ มีรายงานการเกิดตับอักเสบจากการใช้ยานี้
  • เคยเป็นหรือกำลังเป็นมะเร็งเต้านม หรือมะเร็งที่อวัยวะเพศ ชนิดที่ไวต่อฮอร์โมน เนื่องจากยาอาจส่งเสริมการโตของเนื้อร้ายเหล่านี้

เรียบเรียงโดย : Mamaexpert Editorial Team

อ้างอิง :

  1. ภาควิชาเภสัชวิทยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. เภสัชกร สุรศักดิ์ วิชัยโย. ยาเลื่อนประจำเดือนที่นี้มีคำตอบ. เข้าถึงได้จาก https://goo.gl/yVSZmK. [ค้นคว้าเมื่อ 2 ตุลาคม 2560].
  2. สมาคมร้านขายยาแห่งประเทศไทย. การใช้ยาเลื่อนประจำเดือน. เข้าถึงได้จาก https://goo.gl/DqWsgv. [ค้นคว้าเมื่อ 2 ตุลาคม 2560].
  3. ยาเลื่อนประจำเดือน ยานอร์อิทิสเตอโรน. ภก.ทศพล เลิศวัฒนชัย. เข้าถึงได้จาก https://goo.gl/QtmkaF. [ค้นคว้าเมื่อ 2 ตุลาคม 2560].
  4. Primolut N. เข้าถึงได้จาก https://goo.gl/5KTdc7. [ค้นคว้าเมื่อ 2 ตุลาคม 2560].
  5. Norethisterone. เข้าถึงได้จาก https://goo.gl/oWbE4t. [ค้นคว้าเมื่อ 2 ตุลาคม 2560].