โรคซึมเศร้าในเด็ก ภัยเงียบที่พ่อแม่ไม่ควรมองข้าม..

23 September 2017
5515 view

โรคซึมเศร้าในเด็ก

คุณพ่อคุณแม่หลายท่านมักจะกังวลว่าเมื่อลูกเราโตขึ้นจนกระทั่งเริ่มเข้าสู่วัยเรียน อาจมีการปรับตัวเข้าสู่สังคม การใช้ชีวิตของลูกเราจะเป็นอย่างไรบ้าง บางครั้งลูกๆ อาจพบความเครียดจนกระทั่งความเครียดสะสม จนมีพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป เริ่มเก็บตัว ไม่ค่อยพูด ก็ทำให้พ่อแม่กังวลใจไม่น้อย ด้วยความเข้าใจในความวิตกนี้ Mamaexpert จึงอยากบอกถึงเรื่องโรคซึมเศร้าในเด็ก เพื่อให้พ่อแม่สามารถสังเกตลูกตัวเองได้ เป็นการรับมือให้ทันกับอารมณ์ที่เปลี่ยนไปของลูก

โรคซึมเศร้าในเด็กคืออะไร? 

โรคซึมเศร้า (depression)  เป็นโรคทางอารมณ์ชนิดหนึ่ง ที่อารมณ์ซึมเศร้าจะมีมากกว่าปกติ คือมีอารมณ์เศร้าติดต่อกันเกือบทั้งวัน ติดต่อกันทุกวันนานเกิน  2 สัปดาห์ โรคซึมเศร้านั้นสามารถเกิดได้กับทุกเพศ ทุกวัย  คนทั่วไปมักคิดว่าโรคนี้เกิดขึ้นเฉพาะกับผู้ใหญ่ เพราะเป็นวัยทำงานต้องพบเจอกับปัญหาต่าง ๆ แต่แท้จริงแล้วโรคซึมเศร้าสามารถเกิดขึ้นในเด็กเล็ก เด็กโตและผู้สูงอายุด้วย

สาเหตุของโรคซึมเศร้าในเด็ก 

  1. โรคซึมเศร้าในเด็กจากทางชีวภาพเกิดจาก พันธุกรรม ถ้ามีประวัติโรคซึมเศร้าในครอบครัว ก็จะทำให้เด็กมีโอกาสป่วยด้วยโรคซึมเศร้า มากกว่าเด็กทั่วไป
  2. โรคซึมเศร้าในเด็กจากยาบางชนิดสามารถทำให้เป็นโรคซึมเศร้าได้ เช่น ยาลดความดัน ยาเคมีบำบัด  สารเสพติด เป็นต้น
  3. โรคซึมเศร้าในเด็กมาจากโรคบางชนิดเช่นโรคภูมิคุ้มกันทำลายตนเอง เป็นต้น
  4. โรคซึมเศร้าในเด็กจากสิ่งแวดล้อมอื่นๆประกอบไปด้วย ความเครียด ไม่ว่าจะเป็น ปัญหาในครอบครัว  การทะเลาะกับแฟน ผลการเรียนตกต่ำ การคบเพื่อน ถูกเพื่อนกลั่นแกล้งเสมอ ๆ หรือรู้สึกไม่ชอบ กลัว กังวล กับบุคคลรอบข้าง หรือ เด็กขาดความมั่นใจในตนเอง กลัวการแข่งขัน

โรคซึมเศร้าในเด็กนั้น ตรวจพบได้ยากกว่าผู้ใหญ่ เพราะว่าบางครั้งอารมณ์ซึมเศร้าอาจจะเป็นหนึ่งในพัฒนาการของเขาที่กำลังพัฒนา จึงทำให้การวินิจฉัยว่าเด็กจะเป็นโรคซึมเศร้าหรือไม่ อาจคลาดเคลื่อนไม่ชัดเจนแน่นอน ซึ่งสาเหตุที่เกิดกับเด็กนั้น นอกจากที่เป็นผลมาจากพันธุกรรมและความผิดปกติของสมอง ก็อาจเป็นผลมาจากสภาพแวดล้อมรอบตัวของเด็กด้วย

โรคซึมเศร้าในเด็ก พ่อแม่สามารถสังเกตุได้

อาการของโรคซึมเศร้าในเด็กนั้นไม่ค่อยตรงไปตรงมาเหมือนผู้ใหญ่ เพราะผู้ใหญ่จะบอกได้ว่าตัวเองรู้สึกเศร้า ไม่สบายใจ ทุกข์ใจ แต่เด็กๆ โดยเฉพาะเด็กเล็กมักบอกเราไม่ได้เพราะภาษาอาจไม่พัฒนาเพียงพอ และยังไม่เข้าใจความรู้สึกตัวเองว่าคือความเศร้า ในเด็กเล็กนั้นอาจมีอาการซึม ไม่เล่นสนุก ไม่เล่นอะไรอย่างที่เคยชอบเล่น ไม่เพลิดเพลินตามวัยที่ควรเป็น ปกติชอบวิ่งเล่นก็ไม่วิ่งเหมือนเคย เด็กบางคนไม่แสดงออกว่าเศร้าชัดเจนแต่เป็นอาการหงุดหงิด เด็กมักจะไม่บอกพ่อแม่เป็นคำพูดชัดๆ ว่า "หนูเศร้า" เพราะเด็กพูดไม่เก่งเท่าไหร่ โดยเฉพาะเรื่องอารมณ์ความรู้สึก แต่ในเด็กที่โตขึ้นมาหน่อย อาจมีอารมณ์หงุดหงิดง่าย กระฟัดกระเฟียด อดทนอะไรไม่ค่อยได้ ไม่ชอบทำอะไรอย่างที่เคยชอบทำ แยกตัวอยู่คนเดียว ไม่สนใจใคร บางคนมีอาการทางกายเช่น ปวดหัว ปวดท้อง อาเจียน คลื่นไส้ อาการต่างๆส่งผลกระทบต่อตัวเด็ก และคนรอบข้าง เด็กบางคนที่ซึมเศร้ามาก ก็อาจมีความคิดไม่อยากมีชีวิตอยู่ บางคนทำร้ายตัวเองจนถึงแก่ชีวิตก็มี เพราะฉนั้นคุณพ่อคุณแม่ ควรสังเกตอาการลูกด้วยตนเอง..ก่อนสายเกินแก้

วิธีรับมือกับโรคซึมเศร้าในเด็ก

  1. พ่อแม่ควรหมั่นพูดคุยกับลูก สังเกตพฤติกรรม สอบถามอาการสารทุกข์สุกดิบ ถามถึงความสุขของลูก เพื่อช่วยแก้ปัญหาในเบื้องต้น ก่อนที่ลูกจะตกอยู่ในภาวะซึมเศร้า
  2. การทำกิจกรรมร่วมกับลูก ไปทำกิจกรรมใหม่ๆ บรรยากาศใหม่ๆ เพื่อให้เด็กมีความสุขเพิ่มขึ้น แต่ต้องเป็นกิจกรรมที่ไม่ทำให้แย่ลงไปกว่าเดิม
  3. พูดคุยกับลูกโดยเหตุและผล ไม่ใช้อารมณ์ ให้ความเอาใจใส่และความอบอุ่นแก่ลูกอยู่เสมอ เปิดโอกาสให้ลูกได้เล่าปัญหาที่เกิดขึ้น ไม่เร่งรัด ให้บรรยากาศที่ผ่อนคลาย ไม่ตึงเครียด
  4. คอยสำรวจพฤติกรรมหรือขอความช่วยเหลือจากคุณครูให้ช่วยสอดส่องพฤติกรรมของลูก และเปิดเผยพูดคุยกับคุณครูเพื่อแลกเปลี่ยนปัญหาของลูกที่พบที่บ้านและโรงเรียน เพื่อร่วมมือกันแก้ไขปัญหาอย่างใกล้ชิด

ถ้าคุณพ่อคุณแม่สงสัยว่าลูกซึมเศร้าก็ควรพาลูกไปพบจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นเพื่อรับการดูแลรักษาโดยเร็ว เพื่อรักษาและประเมินสาเหตุที่อาจเกี่ยวข้อง หากปล่อยไว้นานไปผลกระทบที่ตามมาอาจจัดการได้ยากและมีผลกระทบตามมาภายหลัง

บทความแนะนำเพิ่มเติม

1. รับมือภาวะ Baby Blue ปัญหาซึมเศร้าหลังคลอดอย่างมืออาชีพ

2. 13 อาการผิดปกติหลังคลอด ที่ต้องรีบพบแพทย์

3. อาหาร สมุนไพรและยาเพิ่มน้ำนมแม่ที่ปลอดภัย

เรียบเรียงโดย : Mamaexpert Editorial Team

อ้างอิง :

  1. ศูนย์สุขภาพเด็ก โรงพยาบาลพญาไท 2. พญ.กมลวิสาข์  เตชะพูลผล.แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตเวชศาสตร์ สาขาจิตเวชเด็กและวัยรุ่น. “โรคซึมเศร้าในเด็ก ภัยเงียบที่พ่อแม่ไม่ควรมองข้าม”.เข้าถึงได้จาก http://www.phyathai.com/article_detail.php?id=2123 . [ค้นคว้าเมื่อ 23 กันยายน 2560]
  2. ห้องสมุด Jowkun .นายนรรัชต์ ฝันเชียร.“โรคซึมเศร้าในเด็ก สัญญาณอันตรายของชีวิต”.เข้าถึงได้จาก  http://jowkun.blogspot.com/2008/08/blog-post_5437.html . [ค้นคว้าเมื่อ 23 กันยายน 2560]
  3. คู่มือการเลี้ยงลูกเพื่อแม่สมัยใหม่ ตั้งแต่ตั้งครรภ์จนถึงลูกอายุ 9 ปี.หมอมินบานเย็น. “รู้เรื่องเด็กก็ซึมเศร้าได้ กับหมอมินบานเย็น..”.เข้าถึงได้จาก https://goo.gl/TA4SN6 . [ค้นคว้าเมื่อ 23 กันยายน 2560]
  4. Beyondblue . “What is depression?”.เข้าถึงได้จาก https://www.beyondblue.org.au/the-facts/depression . [ค้นคว้าเมื่อ 23 กันยายน 2560]
  5. U.S. Department of Health and Human Services;National Institutes of Health.Depression.“What You Need To Know” MD: U.S. Government Printing.เข้าถึงได้จาก https://goo.gl/JYrtHa. [ค้นคว้าเมื่อ 23 กันยายน 2560]