ลูกชัก
.
อาการชักมักพบได้ในเด็กตั้งแต่อายุ 3 เดือน จนถึง 5 ปี แต่ช่วงอายุที่พบบ่อยที่สุด คือ ช่วง 6 เดือน ถึง 3 ปี เพราะสมองของเด็กยังมีการพัฒนาไม่เต็มที่ จึงมีความไวต่อการกระตุ้นจากอุณหภูมิร่างกายที่สูงขึ้น มักจะเกิดขึ้นในวันแรก หรือวันที่ 2 ของการมีไข้ เริ่มจากเด็กจะมีอาการเกร็งทั้งตัว ตาเหลือก กัดฟันและลิ้น อาจเกิดการกระตุกของแขนและขาทั้ง 2 ข้าง ซึ่งจะกินเวลาประมาณ 1–3 นาที ช่วงนั้นอาจมีอาการน้ำลายฟูมปาก ริมฝีปากและปลายมือปลายเท้ามีสีคล้ำเขียวได้
.
.
ลูกชักจากไข้สูงเป็นอย่างไร
ส่วนลักษณะของอาการชักอาจจะเป็นชักเกร็งทั้งตัวหรือชักเกร็งกระตุกทั้งตัวก็ได้ แต่จะไม่ชักเฉพาะซีกของร่างกาย หรือชักผวากระตุก ในรายที่เด็กชักเป็นเวลานาน หลังจากหยุดชักแล้วเด็กมักจะหลับ หรือมีอาการสะลึมสะลือไปชั่วครู่ แต่กรณีเด็กที่ชักนานกว่า 15 นาที อาจพบอาการผิดปกติทางระบบประสาท
ลูกชักจากไข้สูงจัดการอย่างไร
- ตั้งสติ คุณพ่อคุณแม่ต้องมีสติ เพราะถ้าพ่อแม่หรือผู้ใหญ่ในบ้านขาดสติก็จะทำให้สถานการณ์ไปกันใหญ่ และพยายามดึงสติให้กลับที่ลูกให้เร็วที่สุด เพื่อปฐมพยาบาลเบื้องต้น และรีบพาไปพบแพทย์ที่อยู่ใกล้บ้านที่สุด
- จัดท่าเพื่อความปลอดภัย คุณแม่จัดท่าดังนี้ จับลูกให้ตะแคงศีรษะไปด้านข้าง ให้ศีรษะอยู่ในระดับต่ำเล็กน้อย เพื่อทำให้ทางเดินหายใจโล่ง ให้น้ำลาย เสมหะ หรือเศษอาหารไหลออกมาได้สะดวก และป้องกันไม่ให้สำลักเข้าไปอุดตันในหลอดลม ที่สำคัญควรระวังเรื่องสภาพแวดล้อมขณะนั้น ควรอยู่บนพื้นราบ ป้องกันไม่ให้ลูกได้รับอันตรายอื่น ๆ จากการตกหรือล้มในขณะชักด้วย
- เช็ดตัวสม่ำเสมอเมื่อไข้ขึ้น เช็ดให้ถูก เช็ดให้ไว ใช้ผ้าเช็ดตัวชุบน้ำเช็ดเน้นบริเวณตามข้อพับต่างๆ ของร่างกายทั้งแขนขา และค่อย ๆ เช็ดตัวลูก โดยเช็ดในทิศทางที่ย้อนเข้าหาหัวใจ เพื่อเป็นการเปิดรูขุมขน ให้ความร้อนสามารถระบายออกได้ และควรถอดเสื้อหรือคลายให้หลวม ไม่ควรใช้น้ำเย็น หรือแอลกอฮอล์เช็ดตัวโดยเด็ดขาด
- ระวังอย่าให้ลูกกัดลิ้น
- เมื่ออาการชักสงบแล้ว รีบพาเด็กไปพบแพทย์ที่ใกล้บ้านที่สุด เพื่อให้คุณหมอทำการตรวจร่างกายของเด็กอย่างละเอียด โดยเฉพาะระบบประสาท และอาจต้องทำการตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะ หรือเอ็กซเรย์ เพื่อหาสาเหตุและทำการรักษาอย่างถูกวิธี
ข้อห้ามทำเมื่อลูกชักจากไข้สูง
- ไม่ควรเขย่าตัวเด็กขณะที่เด็กกำลังชักเกร็ง เพื่อให้เด็กตื่นหรือรู้สึกตัว เพราะจะยิ่งทำให้เด็กชักมากขึ้น
- ไม่ควรป้อนสิ่งใดๆ ในขณะที่เด็กกำลังชักเกร็งเข้าทางปากเด็กโดยเด็ดขาด แม้กระทั่งยาลดไข้ เพราะอาจทำให้สำลักได้
- อย่าพยายามงัดปากลูก หรือใช้ช้อนกดลิ้น หรือใช้เศษผ้ายัดเข้าไปในปาก เพราะอาจเกิดอันตรายได้ เช่น ฟันหลุดหรือหักและหล่นลงไปอุดหลอดลม ซึ่งจะทำให้เกิดภาวะขาดออกซิเจน
สิ่งสำคัญควรป้องกันไม่ให้ลูกไข้สูง วิธีเช็ดตัวเมื่อลูกมีไข้เป็นวิธีที่ดีที่สุดในการป้องกันไม่ให้ลูกชักเพราะไข้ อาจกินยาลดไข้ร่วมด้วยทุก 4 ชั่วโมงก็จะช่วยได้
บทความแนะนำเพิ่มเติม
1. รู้ได้ยังไงว่าลูกมีไข้ และวิธีรับมือเบื้องต้น
2. 5 วิธีลดไข้ ให้ไข้ลดลงแบบฉบับคุณแม่มืออาชีพ
3. เช็ดตัวลดไข้ด้วยน้ำอุ่นผสมมะนาว ป้องกันลูกชักจากไข้สูง
เรียบเรียงโดย : Mamaexpert Editorial Team