ภาวะซึมเศร้าหลังคลอด รับมืออย่างไรดี คุณพ่อมือใหม่เตรียมตัวให้ดีกับปัญหานี้!!

17 July 2012
2536 view

ภาวะซึมเศร้าหลังคลอด

ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ ภาวะซึมเศร้าหลังคลอด

ภาวะซึมเศร้าหลังคลอด โดยทั่วไปคุณแม่หลังคลอดใหม่ ๆ ภายในสัปดาห์แรก อาจมีอาการร้องไห้ง่าย อารมณ์แปรปรวน หงุดหงิด หรือวิตกกังวล ซึ่งพบได้ราว 85% ของคุณแม่หลังคลอด ภาวะนี้จะเรียกว่า ภาวะอารมณ์เศร้าหลังคลอด (Postpartum Blues) โดยภาวะนี้จะเป็นอยู่เพียงชั่วคราวและมักดีขึ้นได้เองในเวลาไม่เกิน 2 สัปดาห์

ภาวะซึมเศร้าหลังคลอด มีสาเหตุเกิดจาก

อารมณ์เศร้าหลังคลอดเกิดจากอะไร แต่มีการสันนิษฐานว่าน่าจะเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนเพศเอสโตรเจน และโปรเจสเตอโรนอย่างมากในช่วงหลังคลอด ซึ่งภาวะนี้จำเป็นต้องแยกจากโรคซึมเศร้าที่เกิดหลังคลอด (Postpartum Depression) ซึ่งเป็นโรคที่รุนแรงกว่าและส่งผลกระทบต่อการเลี้ยงดูทารกอย่างมาก และมีผลต่อพัฒนาการทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจของทารก

ภาวะซึมเศร้าหลังคลอด กับอารมณ์เศร้าหลังคลอด เหมือนกันหรือไม่

ภาวะอารมณ์เศร้าหลังคลอด (Postpartum Blues)จัดว่าเป็นปัญหาสุขภาพจิตจากปรับตัว ที่ยังไม่ถึงขั้นจะจัดว่าป่วยจะมีแค่อาการอารมณ์แปรปรวน ร้องไห้ง่ายขึ้น หงุดหงิด วิตกกังวลเล็กน้อย หรือนอนหลับยากขึ้นเท่านั้นโดยอาการจะเกิดขึ้นตั้งแต่วันแรก ๆ หลังคลอด และจะสามารถดีขึ้นได้เองภายในเวลาไม่เกิน 2 สัปดาห์ แต่ถ้าเป็นโรคซึมเศร้าที่เกิดหลังคลอด (Postpartum Depression) ที่จัดว่าเป็นความป่วยจะมีอาการที่รุนแรงกว่าและ โดยผู้ป่วยจะมีอารมณ์เศร้าอย่างมาก วิตกกังวลจนเกินเหตุ กลัวว่าจะเกิดอันตรายกับทารก หรือมีอาการย้ำคิดย้ำทำ บางรายถึงขั้นโทษตัวเอง หรือคิดไม่อยากมีชีวิตอยู่ ซึ่งอาการจะเริ่มเกิดช้ากว่าภาวะแรก โดยจะเกิดหลังจากคลอดไปแล้ว 2-4 สัปดาห์

ภาวะซึมเศร้าหลังคลอด จำเป็นต้องรักษาหรือไม่ อย่างไร

ภาวะอารมณ์เศร้าหลังคลอดนั้นมีอาการไม่รุนแรง และสามารถดีขึ้นได้เอง จึงไม่จำเป็นต้องได้รับยาต้านเศร้า เพียงแค่ได้รับการปลอบโยนและประคับประคองจิตใจจากคนรอบข้าง โดยเฉพาะ สามี สมาชิกในครอบครัว และเพื่อน ๆ ก็สามารถช่วยให้ผู้ป่วยมีอาการดีขึ้นได้ ส่วนโรคซึมเศร้าที่เกิดหลังคลอดเป็นโรคที่รุนแรงกว่าและไม่สามารถหายได้เอง การปลอบโยนและประคับประคองจิตใจจากคนรอบข้างดังเช่นในภาวะแรกก็ยังจำเป็น แต่ควรต้องได้รับการรักษาโดยจิตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ และจำเป็นต้องได้รับยาต้านเศร้าร่วมกับทำจิตบำบัด คนรอบข้างต้องช่วยเหลือผู้ป่วยโดยการแบ่งเบาภาระหน้าที่ของผู้ป่วยในการดูแลทารก งานบ้านและการงานอื่น ๆ บ้าง เพราะผู้ป่วยทำอะไรได้ไม่มากนักขณะที่ป่วย

ภาวะซึมเศร้าหลังคลอด รับมืออย่างไรดี

ในปัจจุบัน ยังไม่มีวิธีการป้องกันภาวะอารมณ์เศร้าหลังคลอด และโรคซึมเศร้าที่เกิดหลังคลอด มีเพียงการศึกษาถึงความเสี่ยงในการเกิดภาวะนี้เท่านั้น โดยพบว่า ถ้าผู้ป่วยเคยมีประวัติโรคซึมเศร้ามาก่อน เคยมีภาวะอารมณ์แปรปรวนในช่วงก่อนมีรอบเดือน เคยมีอารมณ์เศร้าในขณะตั้งครรภ์ หรือเคยมีภาวะอารมณ์เศร้าหลังคลอดในครรภ์ก่อน ๆ ร่วมกับมีปัญหากับคู่สมรส และมีความเครียดในช่วงตั้งครรภ์ ก็จะมีความเสี่ยงในการเกิดภาวะนี้เพิ่มขึ้น

ไม่ว่าจะเศร้าหลังคลอดหรือเป็นภาวะซึมเศร้า ทุกอย่างจะดีขึ้นถ้าคนรอบข้างใส่ใจ และเข้าใจ เมื่อพบว่าคนข้าง ๆ มีภาวะซึมเศร้า ควรที่จะเข้าหาเพื่อหาแนวทางแก้ไข และควรรีบไปพบแพทย์เพื่อหาแนวทางเยียวยารักษา เพราะสุขภาพสำคัญเสมอ อย่ามองข้ามรายละเอียดเล็กๆของคนรอบข้างนะคะ

 

บทความแนะนำสำหรับคุณแม่

1. 13 อาการผิดปกติหลังคลอด ที่ต้องรีบพบแพทย์

2. อาหาร สมุนไพรและยาเพิ่มน้ำนมแม่ที่ปลอดภัย

3. สมุนไพรรักษาอีสุกอีใส หายได้ใน 3 วัน

เรียบเรียงโดย : Mamaexpert Editorial Team