โรคสมาธิสั้น
ความซนกับเด็กมักเป็นของคู่กันจนอาจทำให้คุณพ่อคุณแม่มองเห็นเป็นเรื่องธรรมดา แต่ถ้าเด็กซนมากเกินไป ไม่อยู่นิ่ง ดูไม่มีสมาธิ หุนหันพลันแล่น จนกระทบต่อการเรียนและความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง นั่นคือสัญญาณเตือน ที่คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรนิ่งเฉย เพราะลูกคุณเป็นโรคสมาธิสั้น ต้องรีบแก้ไข
โรคสมาธิสั้นเกิดขึ้นได้อย่างไร
โรคสมาธิสั้น พบในเด็กไทยเพิ่มสูงขึ้นในทุกๆปีคิดเป็นร้อยละ5 ของเด็กวัยเรียน เกิดจากความผิดปกติของสมองส่วนหน้า โดยปกติโรคสมาธิสั้นจะมี 3 อาการที่คุณพ่อคุณแม่สังเกตได้ คือ
- ซนมาก
- ขาดสมาธิ
- หุนหันพลันแล่น
แต่ไม่จำเป็นต้องมีครบทั้ง3อาการตามที่กล่าวมาอาจมีเพียงอย่างใดอย่างหนึ่งหรืออาจมีครบทุกอย่างเลยก็ได้ โดยอาการเหล่านี้จะต้องเกิดก่อนอายุ 12 ปี
อาการของโรคสมาธิสั้น
1.อาการซนมากอยู่ไม่นิ่ง
จำแนกเป็นข้อย่อยดังนี้
- ยุกยิก อยู่ไม่สุข
- นั่งไม่ติดที่ ลุกเดินบ่อยๆ ขณะอยู่ที่บ้านหรือในห้องเรียน
- ชอบวิ่ง หรือปีนป่ายสิ่งต่างๆ
- พูดมาก พูดไม่หยุด
- เล่นเสียงดัง
- ตื่นตัวตลอดเวลา หรือดูตื่นเต้นง่าย
- ชอบโพล่งคำตอบเวลาครูหรือพ่อแม่ถามโดยที่ยังฟังคำถามไม่จบ
- รอคอยไม่เป็น
- ชอบขัดจังหวะหรือสอดแทรกเวลาผู้อื่นกำลังพูดอยู่
2.อาการขาดสมาธิ
จำแนกเป็นข้อย่อดังนี้
- ไม่สามารถทำงานที่ครูหรือพ่อแม่สั่งจนสำเร็จ
- ไม่มีสมาธิในขณะทำงานหรือเล่น
- ดูเหมือนไม่ค่อยฟังเวลาพูดด้วย
- ไม่สามารถตั้งใจฟัง และเก็บรายละเอียดได้ ทำให้ทำงานผิดพลาดบ่อยๆ
- ไม่ค่อยเป็นระเบียบ
- มีปัญหาหรือพยายามหลีกเลี่ยงงานที่ต้องใช้ความคิดหรือสมาธิ
- วอกแวกง่าย
- ทำของใช้ส่วนตัว หรือของใช้ที่จำเป็นสำหรับงานหรือการเรียน หายอยู่บ่อยๆ
- ขี้ลืมบ่อยๆ
3.อาการหุนหันพลันแล่น
เด็กจะไม่รู้จักการรอคอย ต้องตอบโต้ทันที สังเกตได้จากเด็กจะชอบพูดสวน ชอบโพล่งขึ้นมากลางการสนทนา หรือชอบแซงคิว
หมายเหตุ : หากเด็กคนใดมีลักษณะอาการของทั้ง3ข้อรวมกันมากกว่า 6 อาการขึ้นไป เด็กคนนั้นมีความเป็นไปได้สูงที่จะเป็นโรคสมาธิสั้น
ทำอย่างไร เมื่อลูกเป็นโรคสมาธิสั้น
หากคุณพ่อคุณแม่สงสัยว่าลูกเป็นโรคสมาธิสั้น ควรปรึกษาแพทย์ เพราะโรคสมาธิสั้นจำเป็นต้องทำการรักษา หากปล่อยไว้อาจส่งผลต่อความสัมพันธ์ของคนในครอบครัว การอยู่ร่วมกับเพื่อนที่โรงเรียน และการเรียนของเด็กเอง รวมถึงเมื่อเด็กโตขึ้น ความซับซ้อนทางอารมณ์ก็จะมีมากขึ้น เด็กอาจรู้สึกมีปมด้อยถ้าไม่มีเพื่อนเล่นด้วย นอกจากนี้ เด็กสมาธิสั้นยังมีแนวโน้มที่จะโตไปเป็นคนขี้โมโห หงุดหงิดง่าย อ่อนไหวต่อคำพูดของคนอื่น
การรักษาโรคสมาธิสั้น
การรักษาจะช่วยลดความรุนแรงของโรคลงได้ โดยทั่วไปการรักษาจะเริ่มจากการปรับพฤติกรรม มีการสร้างกรอบที่เหมาะสมให้กับเด็ก การย่อยงานโดยใช้คำสั่งที่สั้นและให้เด็กมีการทวนคำสั่งซ้ำ การจัดห้องเรียนและสิ่งแวดล้อมที่โรงเรียนให้เหมาะสมกับเด็ก เช่น ให้เด็กนั่งเรียนแถวหน้าสุด ใกล้โต๊ะครู เป็นต้น ซึ่งแพทย์จะมีการสื่อสารและประสานกับคุณพ่อคุณแม่และคุณครูที่โรงเรียนอย่างใกล้ชิด ในบางกรณีที่เป็นมากหรือมีโรคร่วมอาจต้องให้ยาในการรักษาร่วมด้วย
การเลี้ยงดูมีส่วนทำให้โรคสมาธิสั้นดีขึ้นได้
การรักษาจากแพทย์เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้ลูกของคุณดีขึ้นจากการที่เป็นอยู่ แต่สิ่งสำคัญคือผู้เลี้ยงดูเด็กเพราะการเลี้ยงดูแบบปรับพฤติกรรมในทุกๆวัน จำกัดบางพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมแบบมีทางเลือกอื่น ช่วยให้สมาธิสั้นของลูกดีขึ้นอย่างมาก กิจกรรมที่ผู้เลี้ยงต้องปรับได้แก่
- งดเลี้ยงลูกด้วยอุปกรณ์เทคโนโลยี หลีกเลี่ยงการให้ลูกอายุต่ำกว่า 2 ขวบดูโทรทัศน์ เล่นคอมพิวเตอร์ หรือเล่นเกม ถ้าอายุมากกว่า 2 ขวบให้อนุญาตได้ไม่เกิน 1-2 ชั่วโมงสำหรับทุกจอ
- สร้างวินัยให้ลูกเพื่อให้ลูกรู้จักควบคุมตัวเอง ให้กิน นอน เล่น เป็นเวลา ให้เด็กทราบว่าเวลาไหนควรทำอะไรไม่ควรทำ
สำหรับคุณพ่อคุณแม่ที่มีลูกเป็นโรคสมาธิสั้นควรทำความเข้าใจกับธรรมชาติของโรคสมาธิสั้น และใช้ข้อดีของโรคให้เป็นประโยชน์ การให้ลูกทำกิจกรรมงานบ้านต่างๆภายในบ้านเพื่อให้สมาธิจดจ่อในสิ่งนั้นๆ และการเล่นกีฬาช่วยลดอาการยุกๆยิกๆของเด็กได้เป็นอย่างดี สู้ๆนะคะ Mamamexpert เป็นกำลังใจให้ทุกบ้านค่ะ
บทความแนะนำเพิ่มเติม
1. วิธีรับมือกับเด็กดื้อให้ได้ผล
2. สาเหตุลูกก้าวร้าวรุนแรงเกิดจากอะไร
3. โรคดื้อ พ่อแม่ยุคปัจจุบันรู้เท่าทันโรคดื้อของลูก เช็คสิ!!!
เรียบเรียงโดย : Mamaexpert Editorial Team