30 วิธีพูด โน้มน้าวจิตใจลูก เพื่อให้ลูกวัยเด็กทำตามคำสั่ง

13 February 2018
9657 view

วิธีพูดโน้มน้าวจิตใจลูก

การพูดกับลูกเพื่อให้ลูกเชื่อฟัง และทำตามบางครั้งไม่ใช่เรื่องง่าย  การพูดกับลูกมีความสำคัญมาก เพราะนั้นถือเป็นต้นแบบในการสอนลูกที่จะเรียนรู้ในพูดคุยกับคนอื่นด้วย วันนี้ Mamaexpert  30 วิธีง่ายๆจากผู้เชี่ยวชาย ดร.สุพาพร เทพยสุวรรณ การพูดให้ลูกทำตามทำได้ไม่ยากดังนี้ 

1.ประสานสายตาก่อนการพูด ก่อนที่จะเริ่มพูดกับลูกให้ประสานสายตากับลูกก่อน เพื่อให้แน่ใจว่าลูกฟังอยู่ นั่งลงอยู่ในระดับเดียวกับลูก และมองลูกด้วยสายตาแห่งความรักไม่ใช่การขู่บังคับ

2.เรียกชื่อลูก เริ่มต้นการพูดด้วยการเรียกชื่อ เช่น น้องเดือน แม่ขอให้หนู........

3.พูดสั้น ๆ แต่ได้ใจความ อย่าพูดมากหรือบ่นมาก เพราะลูกจะจับใจความไม่ได้ และไม่รู้ว่าเราต้องการอะไร

4.ใช้คำพูดง่าย ๆ ใช้ถ้อยคำที่เข้าใจง่ายและได้ใจความกับลูก อย่าบ่น หรือสาธยายมากเกินไป เพราะจะทำให้ลูกไม่เข้าใจและทำหูทวนลมมากเท่านั้น

5.ทดสอบความเข้าใจ โดยให้ลูกตอบกลับมา ถ้าลูกตอบกลับไม่ได้ นั่นแสดงว่ายากและยาวเกินไป ลูกไม่เข้าใจ

6.ใช้ทางเลือกอื่นที่ไม่ใช่การลงโทษ เช่นแทนที่จะพูดว่า ถ้าไม่ทำนะ เดี๋ยวคุณแม่กลับมาจะตีให้ก้นลายเลย เป็น หากลูกช่วยคั้นกะทิให้แม่ ลูกจะช่วยแม่ได้เยอะเลย เดี๋ยวคุณพ่อกลับมาเราจะได้ทานข้าวกัน เป็นต้น

7.ให้ข้อเสนอที่ลูกจะปฏิเสธไม่ได้ โดยเฉพาะกับลูก 2-3 ขวบ เป็นวัยที่ลูกยึดตัวเองเป็นศูนย์กลาง ( Egocentric) ลูกจะมีโลกของตัวเองสูง ดังนั้นการใช้ข้อเสนอที่ลูกจะทำตาม จะช่วยลดการโต้เถียงหรือการชวนทะเลาะลงได้ เช่น บอกลูกว่าแต่งตัวซะ เดี๋ยวจะได้ออกไปเล่นข้างนอก

8.พูดทางบวก เช่นอย่าตะโกนเสียงดัง เราควรพูดว่า เราไม่ตะโกนเสียงดัง เพราะจะทำให้เจ็บคอ

9.พูดอย่างมีเป้าหมาย เช่น แม่ต้องการให้หนูแบ่งให้น้องเล่นด้วย แทนที่จะเป็นแบ่งให้น้องเล่นเดี๋ยวนี้ วิธีนี้ใช้ได้กับดีกับเด็กที่ชอบเอาใจ และเด็กที่ไม่ชอบการบังคับ

10.พูดถึงเหตุและผลที่จะตามมา เช่น เมื่อลูกแปรงฟันเสร็จ แม่ก็จะเล่านิทานให้ฟัง หรือเมื่อลูกทานอาหารเสร็จแล้วเราจะออกไปทานไอศกรีมด้วยกัน

11.อย่าคิดว่าลูกดื้อ และไม่ให้ความร่วมมือ ในทางตรงกันข้าม ดูว่าการสื่อสารของเราบกพร่องตรงไหน

12.ร่วมกิจกรรมกับลูก แทนการออกคำสั่ง ว่าปิดทีวีเดี๋ยวนี้ ถึงเวลากินข้าวแล้ว เราอาจใช้วิธีเดินไปนั่งใกล้ๆลูกดูทีวีกับลูกสัก 2-3 นาทีแล้ว ระหว่างช่วงโฆษณาให้ลูกปิดทีวีเอง บอกลูกว่าถึงเวลาทานอาหารแล้ว

13.ให้ตัวเลือกที่ฉลาด เช่น จะใส่ชุดนอนก่อนหรือจะแปรงฟันก่อนดี จะใส่เสื้อสีชมพูหรือสีเขียวดี เป็นต้น

14.พูดตรงไปตรงมา สั้นและง่าย ดูให้เหมาะสมกับวัยและพัฒนาการ เช่นหากถามเด็ก 3 ขวบว่าทำไมทำอย่างนี้ เด็กอาจตอบไม่ได้ ให้พูดกับลูกว่า มาคุยกันดูซิว่า สิ่งที่ลูกทำเป็นอย่างไร

15.พูดอย่างสุภาพและให้เกียรติ คุยกับลูกเหมือนอย่างที่เราต้องการให้ลูกคุยกับเรา

16.ไม่บังคับ การบังคับขู่เข็ญ จะทำให้ลูกไม่ให้ความร่วมมือ เช่นพูดว่าลูกต้องทำโน้นทำนี่ให้เสร็จ เปลี่ยนเป็นแม่อยากให้ลูกทำสิ่งนั้นสิ่งนี้ แม่ดีใจที่เห็นลูกทำ... และแทนที่จะเป็นเช็ดโต๊ะอาหารเดี๋ยวนี้ เปลี่ยนเป็นแม่อยากให้ลูกเช็ดโต๊ะอาหารให้สะอาด อย่าให้ตัวเลือกทางลบกับลูก เช่นเมื่อเวลาอากาศหนาว ให้พูดกับลูกว่าเอาเสื้อหนาวมาใส่ แทนที่จะพูดว่าหนูอยากใส่เสื้อหนาวไหม เป็นต้น

17.ฝึกสังเกตทัศนคติ วิธีคิด และการพูดของลูกเพื่อที่จะตอบสนองต่อความต้องการของลูกได้

18.ใช้ปากกา ดินสอแทนการพูด ลูกวัยรุ่นไม่ต้องการให้เราพูดซ้ำ ๆ ย้ำคิดย้ำทำ การพูดย้ำ ๆ สำหรับลูกวัยรุ่นเป็นเหมือนการยั่วโมโห หรือไม่ไว้ใจ ดังนั้นการจดบันทึกเตือนใจจะเป็นวิธีที่ช่วยให้ลูกวัยรุ่นให้ความร่วมมือได้ดีกว่าการพูดย้ำ ๆ ลองเขียนข้อความเตือนใจตลก ๆ แล้วจะเห็นว่าได้ผลทีเดียว

19.อย่าสักแต่พูด แต่ทำให้ดูเป็นตัวอย่าง เด็ก ๆ เรียนรู้จากการกระทำมากกว่าคำพูด เป็นตัวอย่างที่ดีให้แก่ลูกเพื่อให้ลูกเลียนแบบ

20.เติมถังอารมณ์ของลูกก่อน ก่อนพูดหรือชี้แนะให้ลูก ตรวจดูถังอารมณ์ของลูกก่อนให้แน่ใจว่าพร้อมที่จะฟังเราหรือเปล่า ไม่อย่างนั้นสิ่งที่เราพูดจะไม่เกิดประโยชน์อะไรเลย

21.พูดเป็นคำคล้องจองให้จำง่าย เช่นมือไว้ช่วยเหลือ ไม่ใช่เพื่อเอาไว้ตี

22.ให้ลูกเลียนแบบ เด็กเล็กต้องบอกหลาย ๆ ครั้ง ต่างจากลูกวัยรุ่น เด็กวัย 3-6 ขวบชอบการเลียนแบบ เมื่อพูดแล้วทำให้ดูและให้ลูกทำตามเป็นเหมือนการเล่นบทบาทสมมติ

23.ให้ลูกคิดเอง ฝึกให้ลูกคิดเอง โดยแทนที่จะพูดว่า ดูซิข้าวของรกรุงรัง กองเป็นภูเขาแล้ว เปลี่ยนเป็น น้องเดือนลองดูซิว่าเราจะเก็บเสื้อกีฬา รองเท้าผ้าใบ และตุ๊กตาสัตว์ไว้ที่ไหนดี เป็นต้น ให้เด็ก ๆ ลองคิดสร้างสรรค์และแก้ปัญหาด้วยตนเอง

24.ทำให้ลูกสงบ เมื่อลูกยิ่งตะโกนเรายิ่งพูดให้เบาลง บางครั้งการเป็นผู้ฟังที่ดี จะช่วยผ่อนคลายความวิตกกังวลของลูก ให้ลูกรู้ว่าเราสนใจ และอยากช่วย บอกลูกว่าเราเข้าใจ และมีอะไรที่ลูกต้องการให้ช่วย สิ่งเหล่านี้จะทำให้ลูกสงบลง เมื่อลูกโมโหอย่าโมโหตอบลูก เพราะจะทำให้เรื่องไปกันใหญ่

25.ให้ตัวเลือกที่ดี บอกกับลูกว่าลูกจะไปเดินเล่นที่สนามฟุตบอลคนเดียวไม่ได้ แต่ลูกสามารถเดินเล่นที่สนามหน้าบ้านได้ เป็นต้น

26.เตือนล่วงหน้า เช่น อีก 5 นาทีเราจะกลับบ้านกันแล้ว ให้ลูกบอกลาของเล่น กับเพื่อน ๆ ซะลูก

27.พูดให้ตื่นเต้นเร้าใจ วิธีนี้เป็นการเปิดโลกสำหรับเด็กขี้อาย เช่นวันนี้ทำอะไรที่โรงเรียนบ้าง เปลี่ยนเป็นเล่าให้แม่ฟังหน่อยว่าวันนี้ทำอะไรที่สนุกที่สุดที่โรงเรียน เป็นต้น

28.พูดถึงความรู้สึกของเรากับลูก เช่น “ลูกรู้หรือเปล่าว่าตอนลูกวิ่งเล่นในซุปเปอร์มาร์เก็ตระหว่างที่เราซื้อของกันวันนี้ แม่กลัวแทบแย่ว่าลูกจะหลงทางและหายไป”

29.พูดปิดประเด็น เมื่อลูกไม่ยอมฟัง กระฟัดกระเฟียด หรือต่อรอง บอกลูกว่า อย่างไรแม่ก็จะไม่เปลี่ยนใจ โดยใช้น้ำเสียงที่มั่นคงและจริงจัง ให้ลูกรู้ว่าจำเป็นและเป็นสิ่งที่ต้องทำ

30.รักอย่างไม่มีเงื่อนไขและพูดให้กำลังใจเสมอ เช่นอย่าพูดว่าถ้าไม่กินข้าวเดี๋ยวแม่ไม่รัก ถ้าไม่นอนเดี๋ยวหมาป่ามากัด อย่าต่อรองกับลูกด้วยคำพูดที่ไร้เหตุผล แต่พูดด้วยความรักอย่างไม่มีเงื่อนไขกับลูกเสมอ

เรียบเรียงโดย : Mamaexpert Editorial Team

ขอบคุณบทความ : ดร.สุพาพร เทพยสุวรรณ