ควันบุหรี่อันตรายกว่าที่คิดแม่ท้องเสี่ยงแท้ง ทารกเสี่ยงพิการสูง เด็กอ่อนเสี่ยงภูมิแพ้และหอบหืด

18 March 2017
9793 view

ควันบุหรี่อันตราย

น.พ.ณรงค์ศักดิ์ อังคะสุวพลา อธิบดีกรมอนามัย เผยถึงอันตรายของการสูบบุหรี่ขณะตั้งครรภ์ว่า บุหรี่กับสุขภาพในช่องปากของหญิงตั้งครรภ์นับเป็นอันตรายที่ไม่ควรมองข้าม เพราะโดยปกติหญิงตั้งครรภ์จะมีโอกาสเกิดฟันผุและเหงือกอักเสบง่ายกว่าผู้ที่ได้ตั้งครรภ์ การสูบบุหรี่จะยิ่งทำให้โรคในช่องปากมีอาการรุนแรงขึ้น เพราะการสูบบุหรี่ทำให้เกิดควันที่ระคายเคืองต่ออวัยวะในช่องปาก สารพิษในควันบุหรี่เช่นทาร์และนิโคตินจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคในช่องปาก เช่น โรคปริทันต์ มะเร็งในช่องปาก
การอักเสบและหนาตัวของเนื้อเยื่ออ่อนในช่องปาก เหงือก กระพุ้งแก้ม และท่อเปิดของต่อมน้ำลาย รวมทั้งทำให้ปากสกปรก ฟันเหลืองและมีกลิ่นปาก

ควันบุหรี่อันตรายเพราะมีนิโคตินที่ทำแม่ท้องเสี่ยงแท้งและลูกสมองพิการ

การสูบบุหรี่ขณะตั้งครรภ์สารพิษจากควันบุหรี่นิโคติน และคาร์บอนมอนอกไซด์ จะทำให้เส้นเลือดหดตัว ทารกจึงได้รับสารอาหารน้อยลงกว่าปกติ ทำให้เพิ่มความเสี่ยงต่อการแท้งบุตร ทารกแรกคลอดตัวเล็กมีน้ำหนักน้อย และการที่เลือดผ่านรกน้อยลง ทำให้ปริมาณออกซิเจนที่จะเข้าสู่สมองลดลง หากนิโคตินสามารถแทรกซึมผ่านเข้าไปในรกได้ ก็จะส่งผลกระทบต่อสมองของทารกในครรภ์ที่มีผลต่อสติปัญญาและพฤติกรรมเด็กด้วย

ควันบุหรี่อันตราย ทารกในครรภ์ได้รับควันบุหรี่เสี่ยงพิการสูง เด็กอ่อนเสี่ยงภูมิแพ้

หญิงตั้งครรภ์ที่สูบบุหรี่จะส่งผลให้ทารกในครรภ์มีโอกาสเกิดปากแหว่งเพดานโหว่มากกว่าทารกที่มารดาไม่สูบบุหรี่ขณะตั้งครรภ์ถึง 2 เท่า และเมื่อทารกที่คลอดออกมาหากแม่ยังสูบบุหรี่จะมีความเสี่ยงที่เกิดจากการได้รับควันบุหรี่ ที่ทำให้ทารกป่วยด้วยระบบทางเดินหายใจตอนล่าง หอบหืด และหูชั้นกลางอักเสบ ดังนั้นหญิงตั้งครรภ์ที่สูบบุหรี่จำเป็นต้องเลิกสูบบุหรี่ เพื่อลดโอกาส เสี่ยงที่ลูกในครรภ์จะผิดปกติหรือไม่แข็งแรง หากเลิกสูบบุหรี่ได้สำเร็จภายใน 3-4 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ อัตราเสี่ยงต่างๆ ที่จะมีผลต่อทารกจะลดลงอย่างมาก

ควันบุหรี่อันตรายแม้ไม่ได้สูบเองแต่อันตรายเท่าๆกับสูบเอง

ผู้ที่ได้รับควันบุหรี่จากผู้อื่นแม้จะไม่สูบเองแต่จะมีอันตรายมากกว่าผู้สูบเอง เนื่องจากเป็นควันที่เกิดจากการเผาไหม้บุหรี่โดยตรง ไม่ได้ผ่านก้นกรองของบุหรี่ หญิงมีครรภ์ ทารกและเด็กจึงควรหลีกเลี่ยงไม่อยู่ใกล้ชิดผู้สูบบุหรี่หรืออยู่ในสถานที่มีควันบุหรี่ และหากต้องการเลิกบุหรี่ก็ควรใช้วิธีการพยายามเลิกด้วยตนเองก่อนการใช้ยา แม้ว่าปัจจุบันจะมียาหลายชนิดสำหรับใช้ในผู้ที่ต้องการเลิกบุหรี่ จะช่วยให้สำเร็จในการเลิกบุหรี่มากขึ้น ทั้งยาที่มีนิโคตินทดแทนบุหรี่ ยาที่ไม่มีนิโคติน และยาสมุนไพรหญ้าดอกขาว การใช้ยาทุกชนิดควรอยู่ภายใต้คำแนะนำของแพทย์หรือเภสัชกร และที่สำคัญหญิงตั้งครรภ์หรือมารดาที่ให้นมบุตรไม่ควรใช้ยาเลิกบุหรี่ด้วยตนเอง

บทความแนะนำเพิ่มเติม

เรียบเรียงโดย : Mamaexpert Editorial Team