โรคปอดบวมในเด็ก
โรคปอดบวม พบในเด็กมากในเด็กเล็กกลุ่มอายุต่ำกว่า5ปี โดยเฉพาะในเด็กแรกเกิดที่มีปัญหาน้ำหนักตัวน้อย ขาดสารอาหาร และเด็กที่มีความพิการแต่กำเนิด คุณพ่อคุณแม่ควรเฝ้าระวังอาการไข้หวัดและปอดบวม เพราะเป็นโรคติดเชื้อเฉียบพลันของระบบหายใจชนิดรุนแรง เด็กเสี่ยงเสียชีวิตสูงมาก
สาเหตุการเกิดโรคปอดบวมในเด็ก
ส่วนใหญ่เกิดจากเชื้อไวรัสและบักเตรี(แบคทีเรีย) ซึ่งมักจะเริ่มโดยเป็นหวัดก่อน 2-3 วัน โดยเชื้อเผยแพร่เข้าสู่ระบบทางเดินหายใจ คือ
- การหายใจเอาเชื้อโรคที่มีอยู่ในอากาศเข้าไปโดยตรง
- การไอจามรดกัน
- การคลุกคลีใกล้ชิดกับผู้ป่วย
อาการของโรคปอดบวมในเด็ก
1.เด็กจะมีอาการเป็นไข้หวัดก่อนสัก 2-3 วัน ต่อมามีอาการ ไข้สูง
2. เด็กจะไอมาก
3. เด็กมีการหายใจผิดปกติ ลักษณะการหายใจผิดปกติ มีดังนี้
- หายใจเร็ว พบในระยะเริ่มแรกของการเกิดโรค
- ในเด็กอายุต่ำกว่า 2 เดือน เร็วกว่า 60 ครั้ง/นาที
- ในเด็กอายุ 2 เดือน ถึง 1 ปี เร็วกว่า 50 ครั้ง/นาที
- ในเด็กอายุ 1-5 ปี เร็วกว่า 40 ครั้ง/นาที
การนับการหายใจของลูก คุณแม่ต้องนับให้ครบ1 นาที ในขณะที่ลูกสงบสงบ ไม่ร้องหรือดิ้น การนับการหายใจในเด็กเล็ก ให้ดูจากการกระเพื่อมของท้องอาจต้องยกชายเสื้อถ้าเห็นไม่ชัด ในเด็กโตอายุเกิน 7 ปี ใช้การเคลื่อนไหวของทรวงอก หากลูกหายใจมีลักษณะชายโครงบุ๋ม บ่งบอกถึงลูกมีอาการที่รุนแรงขึ้น เด็กจะหายใจแรงจนบริเวณชายโครงบุ๋มขณะหายใจเข้า หายใจมีเสียงดัง การฟังเสียงหายใจต้องฟังในขณะที่เด็กสงบ ไม่ร้องหรือดิ้น โดยแนบหูใกล้ปากของเด็ก ขณะหายใจเข้าได้ยินเสียง ฮืด หรือขณะหายใจออกได้ยินเสียง หวีด
การรักษาโรคปอดบวมในเด็ก
ในเด็กที่ป่วยเป็นปอดบวมในระยะแรก หรือไม่รุนแรงมีอาการไข้สูง ไอ หายใจเร็ว ควรพาไปรับการรักษาจากแพทย์อาจให้ยาปฏิชีวนะและให้มาดูแลที่บ้านเช่นเดียวกับโรคหวัด
1.การดูแลทั่วไป ให้กินอาหารตามปกติ ดื่มน้ำมากๆ พักผ่อน
2.กินยาตามแพทย์สั่ง
ข้อควรระวัง!!!
อาการของโรคปอดบวมอยู่ในภาวะป่วยหนักหรือรุนแรง จะมีอาการอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้คือ ไม่ยอมกินนมหรือน้ำ ซึมมากปลุกตื่นยาก หายใจมีเสียง หายใจแรงจนชายโครงบุ๋ม ภาวะป่วยหนักควรรับการรักษาในโรงพยาบาล
การป้องกันโรคปอดบวมในเด็ก
1.เลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างน้อย6เดือน เพื่อเพิ่มภูมิต้านทานที่ดีกว่า
2.หลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้ผู้ที่มีอาการปอดบวมหรือไข้หวัด ข้อนี้สำคัญมาก!!!
3.พ่อแม่ หรือคนในบ้านเลิกสูบบุหรี่
4.ฝึกหัดให้เด็กล้างมือบ่อยๆ ไม่ขยี้ตา หรือจมูก และควรดูแลความสะอาดของบ้านเรือนให้มีอากาศถ่ายเทได้สะดวก
บทความแนะนำเพิ่มเติม
1. 7 โรคร้ายแรงในเด็กที่มากับฤดูหนาว
2. การเคาะปอดระบายเสมหะในเด็กที่ถูกต้อง
3. โรคร้ายที่พบในเด็กแต่ละช่วงวัย ที่พ่อแม่ต้องใส่ใจและรู้เท่าทันโรค
เรียบเรียงโดย : Mamaexpert Editorial Team