สายสะดือพันคอ ทารกในครรภ์แม่จะรู้ได้อย่างไร

28 March 2012
132725 view

สายสะดือพันคอ

สายสะดือพันคอขณะตั้งครรภ์มักไม่ก่อให้เกิดปัญหาอะไร แต่เมื่อถึงช่วงใกล้คลอดหรือเจ็บครรภ์คลอด มดลูกจะพยายามบีบตัวดันให้ทารกเคลื่อนลงต่ำสู่ช่องคลอด การที่สายสะดือพันคอจะทำให้ส่วนของสายสะดือที่อิสระนั้นตึงขึ้นกว่าเดิม บางครั้งอาจรัดที่คอทารกจนแน่นอาจทำให้เกิดอันตรายในขณะคลอดได้

สายสะดือพันคอ เกิดขึ้นได้อย่างไร 

ภาวะสายสะดือพันคอ ทารกในครรภ์นั้น เป็นเหตุสุดวิสัย ที่ส่วนใหญ่ไม่อาจทราบได้ตั้งแต่ก่อนคลอด เมื่ออายุครรภ์ 20 สัปดาห์ขึ้นไป ทารกอยู่ในครรภ์มีการเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา หกคะเมนตีลังกาไปมา ทำให้อวัยวะต่างๆไปเกี่ยวกับสายสะดือโดยบังเอิญ เมื่อเกิดการดิ้นอยู่เรื่อยๆจึงทำให้เกิดการพันแล้วหลุด อยู่เรื่อยๆ น้อยครั้งที่จะพันแน่น ซึ่งคุณแม่จะทราบได้ว่ามีสายสะดือพันคอทารกในครรภ์ ดูจากการทำอัลตราซาวด์เท่านั้น

สายสะดือพันคอเด็ก ทำอย่างไรเมื่อตรวจพบ

  • สายสะดือพันคอ ทารกในครรภ์ มักไม่ก่อให้เกิดปัญหาอะไร แต่เมื่อถึงช่วงใกล้คลอดหรือเจ็บครรภ์คลอด มดลูกจะพยายามบีบตัวดันให้ทารกเคลื่อนลงต่ำสู่ช่องคลอดให้เร็วขึ้น
  • อาจเกิดภาวะพร่องออกซิเจนในรายที่ สายสะดือพันคอ ทารกจนแน่น  ปัญหาที่เกิดขึ้นคือทำให้หลอดเลือดที่ในสายสะดือถูกกดทับ เลือดจึงไม่สามารถไหลผ่านได้อย่างสะดวก ทำให้ทารกได้รับออกซิเจนน้อยลงกว่าเดิม
  • แพทย์สามารถคาดเดาได้จากการตรวจพบความผิดปกติของอัตราการเต้นของหัวใจทารกในครรภ์เมื่อพบว่ามีสายสะดือพันคอแล้ว ไม่จำเป็นที่จะต้องผ่าคลอดทันทีเสมอไปทุกราย แพทย์จะผ่าคลอดในกรณีที่สายสะดือพันคอแล้วดึงรั้งแน่น จนทำให้ขาดเลือดไปเลี้ยงสมองและอาจส่งผลทำให้เด็กขาดออกซิเจน มีการเต้นหัวใจผิดปกติ กรณีเช่นนี้ต้องผ่าตัดคลอดฉุกเฉิน
  • สายสะดือพันคอ ธรรมดาบางกรณีก็คลอดปกติได้ไม่จำเป็นต้องผ่าท้องคลอด
  • การวินิจฉัยสายสะดือพันคอทำได้โดยการตรวจอัลตราซาวนด์ หากพบว่ามีสายสะดือพันคอ อาจต้องไปตรวจครรภ์ถี่ขึ้น และสังเกตการดิ้นของทารกอยู่เสมอซึ่งหากพบว่าเด็กดิ้นน้อยลงแพทย์จะต้องทำการตรวจการเต้นของหัวใจเสมอ หากพบว่าการเต้นของหัวใจผิดปกติซึ่งหมายถึงภาวะขาดออกซิเจนของทารกในครรภ์ แพทย์จำเป็นต้องทำการผ่าตัดคลอดโดยทันทีหากสามารถช่วยเหลือได้อย่างรวดเร็ว เด็กที่เกิดมาก็จะมีพัฒนาการและสุขภาพเหมือนเด็กปกติทั่วไป

คุณแม่ตั้งครรภ์ หมั่นสังเกตอาการผิดปกติของลูกน้อยในครรภ์อยู่เสมอนะคะ หากพบว่าลูกดิ้นน้อยลง ให้ไปพบแพทย์โดยด่วนค่ะ

บทความแนะนำสำหรับแม่ตั้งครรภ์

1. การตรวจความผิดปกติหัวใจของทารกในครรภ์

2. ภาวะแท้งคุกคาม

3. โรคอันตรายระหว่างตั้งครรภ์

เรียบเรียงโดย  : Mamaexpert Editorial Team