ไข้เลือดออก
ไข้เลือดออกเกิดจากเชื้ออะไร
โรคไข้เลือดออก (dengue hemorrhagic fever หรือ dengue shock syndrome) เกิดจากการติดเชื้อไวรัสไข้เลือดออกเดงกี (dengue virus) ซึ่งมีอยู่ 4 สายพันธุ์ จัดอยู่ในกลุ่ม flavivirus และสามารถแพร่ได้โดยมียุงลายเป็นพาหะ ทั้งนี้องค์การอนามัยโลกคาดการณ์ว่าสถานการณ์ระบาดของไข้เลือดออกในหลายประเทศโดยเฉพาะในเขตร้อนจะรุนแรงขึ้น โดยส่วนหนึ่งเนื่องมาจากภาวะโลกร้อนทำให้ยุงแต่ละชนิดสามารถแพร่พันธุ์ได้มากขึ้น
จะแยกไข้เลือดออกจากไข้อื่นๆอย่างไร
ไม่ค่อยมีอาการจำเพาะ เด็กจะมีไข้สูงและเป็นหลายวัน (ประมาณ 5-6 วัน) โดยอาจมีอาการหวัด ปวดเมื่อยตัว คลื่นไส้อาเจียนร่วมด้วย ในช่วงฤดูไข้เลือดออก หากลูกมีไข้สูงหลายวัน คุณพ่อคุณแม่ควรนึกถึงการติดเชื้อไข้เลือดออกด้วยเสมอ ควรพาลูกไปพบแพทย์ ไม่ควรพยายามรักษาเอง และควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาลดไข้ประเภทแอสไพรินและไอบูโพรเฟน ซึ่งอาจทำให้ระคายเคืองกระเพาะอาหารและเกิดปัญหาเลือดออกในกระเพาะอาหาร รวมถึงเลือดไม่แข็งตัวเมื่ออาการของไข้เลือดออกเป็นรุนแรงถึงขั้นระยะช็อกได้
วัคซีนไข้เลือดออกมีหรือไม่
ปัจจุบันได้มีวัคซีนป้องกันไข้เลือกออก เข้ามาในประเทศไทยแล้ว คุณแม่หลายคนมีความสงสัย เกี่ยวกับประสิทธิภาพของวัคซี่น ว่าคุ้มกันได้จริงหรือไม่ ฉีดแล้วไม่เป็นไข้เลือดออกใช่ไหม วันนี้ Mamaexpert ได้นำรายละเอียดของไข้เลือดออก รวมทั้งวัคซี่นไข้เลือดออก คำถามต่างๆที่คุณแม่อยากรู้ โดยผู้เชี่ยวชาศาสตราจารย์ นายแพทย์ ยง ภู่วรวรรณ มาฝากทุกบ้านดังนี้
27 เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับไข้เลือดออก
- ไข้เลือดออก เกิดจากเชื้อไวรัส เดงกี่ มี 4 สายพันธุ์
- มียุงลายบ้าน (Aedes aegypti) เป็นพาหะกัด จากคนสู่คน
- ระยะฟักตัวของโรคหลังยุงกัด 2-5 วัน
- อาการมีได้ตั้งแต่ ไม่มีอาการ อาการไข้ อาเจียน ปวดท้อง เลือดออก (ตามผิวหนัง หรืออกภายใน เช่น อาเจียนเป็นเลือด ถ่ายดำ) รุนแรงจะช็อค เนื่องจากน้ำรั่วออกจากเส้นเลือดรุนแรง ถึงเสียชีวิตได้ ปัจจุบัน อัตราเสียชีวิตน้อยมาก เมื่อเทียบกับอดีต เมื่อ 40-50 ปีก่อน ปัจจุบัน ถ้าเสียชีวิตเป็นเรื่องทุกที
- การระบาด จะระบาดใหญ่ ปีเว้นปี หรือปี เว้น 2 ปี เป็นคลื่น ส่วนใหญ่จะระบาดจากเมืองออกไปนอกเมือง
- สมัยก่อน เมื่อผมจบใหม่ ๆ (กว่า 30 ปี แล้ว) เคยระบาดใหญ่มาก ในชีวิตผมคือ ปี พศ 2531 โรคเป็นในเด็ก ผู้ใหญ่แทบจะไม่เป็นเลย และจะมีภูมิต้านทาน หมด เมื่อถึงวัยผู้ใหญ่ ทำให้ผู้ใหญ่ไม่เป็นโรค ปัจจุบันอยู่ดีกินดี มีมาตรการป้องกันดีขึ้น สุขอนามัยดีขึ้น อยู่มุ้งลวดอยู่ห้องแอร์ ทำให้โรคติดเชื้อในเด็กน้อยลง อยู่โตเป็นผู้ใหญ่ ยังไม่เคยเป็นเลย ดังนั้นในปัจจุบัน โรคเป็นในผู้ใหญ่เพิ่มขึ้น อายุที่เป็นสูงขึ้นเรื่อย ๆ (เพราะการกินดีอยู่ดี ป้องกันดี)
- ไวรัส มี 4 สายพันธุ์ เป็นแล้วจึงเป็นอีกได้ แต่จะเป็น 2 ครั้ง เท่านั้น โดยครั้งแรกอาการจะไม่มาก เช่น ไข้ ไม่ตรวจหาเชื้ออาจไม่รู้ ครั้งที่ 2 จะรุนแรง อาการช็อค หรือเลือดออกได้ (บางคน) ส่วนมากเป็นการติดเชื้อครั้งที่ เมื่อเป็นครบ 2 ครั้งแล้วภูมิที่เกิดขึ้นจะสูงมาก และอยู่ตลอดไป และจะปกป้องได้ทั้ง 4 สายพันธุ์ ทำให้ไม่เป็นโรคนี้อีก
- การเป็นครั้งที่ 2 ที่รุนแรง เชื่อว่าเป็นการเสริมจากการติดเชื้อครั้งแรก (immunological enhancement) หรือเป็นตราบาป ของการติดเชื้อครั้งแรก (immunologic sin) การติดเชื้อครั้งที่ 2 ทำให้เกิดรูรั่วของเส้นเลือด มีการทำลายเกล็ดเลือดอย่างมาก จึงนำมาซึ่งอาการรุนแรง ภูฒิคุ้มกันที่เกิดขึ้นครั้งที่ 2 เกิดสูงมากและรวดเร็ว และอยู่นานทำให้ปกป้องครบทั้ง 4 สายพันธุ์
- การป้องกันที่ดีที่สุดคือการไม่ให้ยุงกันด โดยเฉพาะยุงลาย กัดกลางวัน
- การเป็นครั้งที่ 2 แล้วรุนแรง จึงเป็นข้อจำกัดในการพัฒนาวัคซีน เพราะระบบภูมิต้านทาน ถ้าให้วัคซีนแล้วป้องกันไม่สมบูรณ์ จะทำให้เกิดการติดเชื้อได้อีกถ้าจากธรรมชาติ และเปรียบเทียบเสมือนครั้งที่ 2 จะทำให้เกิดการติดเชื้อรุนแรงขึ้น หลังได้วัคซีน จึงทำให้ รู้จักโรคมานานกว่า 50 ปี การพัฒนาวัคซีนได้ยากมาก ไม่มีวัคซีน เพราะต้องมั่นใจว่าป้องกันแบบสมบูรณ์ทั้ง 4 สายพันธุ์ ไม่เช่นนั้น วัคซีน จะเปรียบเหมือนการติดเชื้อครั้งแรก และต่อมาการติดเชื้อธรรมชาติ เป็นการติดเชื้อครั้งที่ 2 เองอาจก่อให้เกิดอันตรายได้
- วัคซีนไข้เลือดออก ที่มีการขึ้นทะเบียน ในประเทศไทย เป็นวัคซันที่เป็นเชื้อเป็นอ่อนฤทธิ์ 4 สายพันธุ์ อนุญาต ให้ใช้ใน endemic area หรือแหล่งระบาดของโรค
- การศึกษาของวัคซีนได้ทำการศึกษา และเผยแพร่ผลระยะยาว ถึง 25 เดือน จากโครงการที่จะทำการศึกษาติดตามให้ครบ 6 ปี โดยการศึกษาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งไทย และ ประเทศในลาตินอเมริกา ผลของวัคซีนระยะยาวถึง 6 ปี
- โครงการที่ศึกษาทั้งหมด ประสิทธิผลการป้องกัน แต่ละโครงการย่อย ได้ผลแตกต่าง ไม่เหมือนกัน และจำนวนข้อมูล อาจจะนัอย ไม่พอวิเคราะห์ทางสถิติ ผู้วิจัยจึงรวมทุกโครงการมารวมเผยแพร่ ประชากรฉีดวัคซีนกว่า 20,000 คน และกลุ่มควบคุม กว่าหมื่นคนในเด็กอายุ 2-16 ปี ในแหล่งระบาดของโรค โดยภาพรวม ถ้าไม่ได้ดูว่าผลที่เกิดจากเด็กที่มีภูมิมาก่อนหรือไม่
- วัคซีนดังกล่าวปลอดภัย จากการติดตามถึง 25 เดือน
- การป้องกันโรคในเด็กเล็ก อายุน้อยกว่า 9 ปี ได้ผลน้อยกว่าเมื่อเทียบกับเด็กอายุมากกว่า 9 ปี เด็กโตได้ผลดีกว่าเด็กเล็ก (ผมเข้าใจว่า เด็กโตมีภูมิเคยติดเชื้อไวรัสอยู่บ้างแล้ว จะเสนอตอนต่อไป พรุ่งนี้ ) การให้จึงเหมือนการกระตุ้นภูมิเดิม และวัคซีนนี้ แนะนำให้ในเด็กโต อายุมากกว่า 9 ปี ที่อยู่ในแหล่งระบาดของโรคไข้เลือดออกเท่านั้น และให้ถึงอายุ 45 ปี (ทำไม 45 ปี ผมไม่ทราบ) แต่จากข้อมูลของศูนย์ฯ คนที่อายุเกิน 30 ปี ตรวจพบภูมิต้านทาน Dengue IgG ถึง 95% หรือกว่านั้น แต่ไม่ทราบว่าเป็นครั้งแรก หรือครั้งที่ 2 หรือกล่าวว่าคนที่มีอายุถึง 30 เคยติดเชื้อไข้เลือดออก ในธรรมชาติกว่า 95%
- สิ่งที่น่าสนใจและอยากทราบ ผลระยะยาวคือผลของวัคซีนระยะยาว ในคนที่ไม่เคยติดเชื้อมาก่อน โดยเฉพาะผลระยะยาว 6 ปี เพราะในช่วง 6 ปี มั่นใจได้ว่าจะต้อง ผ่านการระบาดของไข้เลือดออก 2 ครั้ง เพราะการระบาดจะเป็น ปี เว้น ปี หรือ ปี เว้น 2 ปี
- ผลการศึกษระยะยาว เบื้องต้น ที่น่าในใจและต้องติดตามคือ ในเด็กเล็ก (น้อยกว่า 9 ปี) กลุ่มที่ฉีดวัคซีนป่วยเป็นไข้เลือออก รุนแรงที่ต้องเข้าโรงพยาบาล ในปีที่ 3 มากกว่ากลุ่มที่ไม่ได้ฉีด NEJM 2015 Sep 24;373;11951206 ยังเป็นข้อมูลเบื้องต้น ที่น่าจะเป็นเหตุให้ไม่ควรให้วัคซีนในเด็กเล็ก ขณะนี้ และเด็กเล็กที่น้อยกว่า 9 ปี ข้อมูลของศูนย์ฯ มีถึง 2 ใน 3 ที่ยังไม่เคยติดเชื้อไข้เลือดออกมาก่อน หรือไม่เคยมีภูมิเลย
- จากข้อมูลถึง 25 เดือน วัคซีนปลอดภัย และผ่าน อย. ประเทศไทย ใครจะฉีด ไม่ฉีด ก็อยู่ที่ดุลยพินิจของท่าน และแพทย์ผู้ให้บริการ แต่ขอให้อยู่ ภายใต้คำแนะนำ ตามคำขออนุญาตกับ อย. ถ้าแพทย์ท่านใดไปให้บริการนอกเหนือจากข้อบ่งชี้ ที่เขียนไว้ก็จะต้องรับผิดชอบเอง
- จากการศึกษามีข้อน่าสนใจอีก คืออาสาสมัครที่อยู่ในการศึกษา ผู้ที่มีอายุมากกว่า 9 ปี จะมี seropositive หรือภูมิต่อไข้เลือดออก หรือเคยติดเชื้อมาแล้ว ประมาณ 80%
- ประสิทธิภาพของวัคซีนฉีดในคนที่ “ตรวจพบภูมิต้านทานแล้ว” โดยไม่ทราบว่าเป็น กล่าวคือ ส่วนใหญ่อาจจะ เป็นแล้ว ครั้งที่ 1 หรือ 2 อาจจะ 2 ครั้งแล้วก็ได้ จะสูง ถึง 82% ในผู้ที่มีอายุ 9 ปี หรือมากกว่า ในผู้ที่มีอายุน้อยกว่า 9 ปี ประสิทธิภาพจะได้ 70% ผู้ที่มีอายุมาก โอกาสที่จะมีภูมิจากธรรมชาติมากกว่า 1 ครั้งอยู่แล้ว มีมากกว่าผู้ที่มีอายุน้อยอยู่แล้ว
- ประสิทธิภาพของวัคซีนจะต่ำ ในผู้ที่ยังไม่เคยติดเชื้อไข้เลือดออกมาก่อน ถ้ามีอายุมากกว่า 9 ปี จะมีประสิทธิภาพ เพียงประมาณ 32.5% แต่ค่า 95% CI ใกล้ศูนย์ (5.9) หรือกล่าวว่าจุดต่ำในการป้องกันโรคได้อยู่ 6% (ถึงแม้จะสูงกว่าศูนย์) ก็น้อยมาก และจะมีประสิทธิภาพเพียง 14% ในเด็กที่ไม่มีภูมิต้านทานมาก่อน หรือเคยติดเชื้อมาก่อน และมีอายุน้อยกว่า 9 ปี และค่าสถิติ 95% CI ติดลบ (แปลว่า มีส่วนที่กันไม่ได้ หรือไม่สามารถป้องกันโรคได้) จึงเป็นเหตุ ให้ไม่ใช้ในเด็กน้อยกว่า 9 ปี ในทางปฏิบัติไม่ได้มีการตรวจ
- โดยสรุปวัคซีนจะมีประสิทธิภาพต่ำ ในผู้ที่ไม่เคยติดเชื้อไข้เลือดออกมาก่อน และเป็นเด็กที่อายุน้อยกว่า 9 ปี โดยทั่วไปวัคซีนควรจะ มีประโยชน์ ในผู้ที่ไม่เคยติดเชื้อมาก่อน ความเป็นจริง ประชากรทั่วไป ไม่ทราบว่า ติดเชื้อมาก่อน หรือยัง ส่วนใหญ่มีภูมิ ก็ไม่ทราบว่า เป็นการติดเชื้อมาแล้ว ครั้งแรก หรือครั้งที่ 2 ในทางกลับกัน วัคซีนไข้เลือดออก กับมีประโยชน์ใน ผู้ที่เคยติดเชื้อมาก่อน และอายุมากกว่า 9 ปี
- โดยทั่วไปของวัคซีนไข้เลือดออก ควรจะป้องกันได้ดี ในผู้ที่ยังไม่เคยติดเชื้อมาก่อนเลย และได้รับวัคซีนแล้วป้องกันไม่ให้เป็นโรค เช่นไวรัส บี ไวรัส เอ การตรวจหาภูมิต้านทานก่อนฉีด จะเป็นตัวบอกว่าควรฉีด หรือไม่ควรฉีด แต่วัคซินไข้เลือดออก กลับ ตรงกันข้าม
- การฉีดวัคซีนไวรัสตับอักเสบ บี เราจะฉีดให้ในคนที่ตรวจแล้ว ไม่เคยติดเชื้อไวรัส บี มาก่อน และ มีประสิทธิภาพสูงมาก กว่าร้อยละ 90 กลไกการเกิดไข้เลือดออก ไม่เหมือนกัน การตรวจว่ามีภูมิ หรือไม่มีภูมิ ไข้เลือดออก จะไม่สามารถแยกได้ ว่า เป็นการติดเชื้อครั้งแรก หรือครั้งที่ 2 จึงเป็นปัญหามาก อย่างไรก็ตาม ผลของวัคซีน ควรติดตามระยะยาว ในประชากรหมู่มาก โดยเฉพาะหลังฉีดแล้ว มีการระบาดใหญ่ของไข้เลือดออก อย่างน้อย 2 ครั้ง โดยไข้เลือดออกจะระบาด ปีเว้นปี หรือปี เว้น 2 ปี ระยะเวลาที่ยาวนานมากพอ ที่จะเห็นผล จึงน่าจะเป็นอย่างน้อย 6 ปี และจำนวนประชากรที่ศึกษา ต้องมากพอ
- จากประสบการณ์ การให้วัคซีนหมู่มาก เช่น วัคซีน ไวรัส บี ไข้หวัดใหญ่ ประสิทธิภาพ ที่ใช้จริง ในภาคสนามหมู่มาก ประสิทธิภาพจะต่ำกว่าประสิทธิภาพที่ได้ จากการศึกษาวิจัย ประมาณเกือบ 10 % เช่นตับอักเสบ บี และไข้หวัดใหญ่ วัคซีนไข้เลือดออก ในเด็กโต มีประสิทธิภาพ การป้องกันโรค ในการศึกษาวิจัย แบบเป็นระบบ อยู่ที่ 65 % ในเด็กโต โดยไม่คำนึงถึงการติดเชื้อ หรือมีภูมิมาก่อน ส่วน ในเด็กเล็ก (น้อยกว่า 9 ปี) อยู่ที่ 45% จึงยังไม่อนุญาตให้ในเด็กเล็ก
- วัคซีนไข้เลือดออกเป็นวัคซีนใหม่ การติดตามความปลอดภัยของยาใหม่ (Safety Monitoring Program : SMP ) หลังขึ้นทะเบียน อย จะจัดให้วัคซีนอยู่ภายใต้ การเฝ้าระวัง สำรวจ อาการข้างเคียง หรือเรียกว่า "ติดสามเหลี่ยม" SMP อย่างน้อย 2 ปี จึงไม่แนะนำ ไปฉีดในโรงเรียน หมู่มาก เพื่อการค้านะครับ เพราะยังติดสามเหลี่ยมอยู่
- โรคทุกโรคที่ป้องกันได้และพิสูจน์ได้ว่าวัคซีนไม่มีอาการข้างเคียง ปลอดภัย และมั่นใจ ป้องกันโรคได้แน่ และอยากให้พ้น การติดสามเหลี่ยมเร็วเร็ว
โดยสรุป ในฉลากยา ไม่มีการกล่าวถึงประสิทธิภาพในการป้องกันโรค มีแต่บอกว่าใช้ป้องกันโรคไข้เลือดออก ฉีดแล้วไม่ได้กันได้ทั้งหมด ฉีดแล้วก็ยังมีโอกาศเป็นโรค โดยเฉพาะผู้ที่ยังไม่เคยมีภูมิมาก่อน บอกคนไข้ให้ดีนะครับ เดี๋ยวคนไข้ฉีดแล้ว เป็นโรคมา จะฟ้องร้องนะครับ การป้องกันด้วยการไม่ให้ยุงกัด หรือให้ถูกกัดให้น้อยที่สุด ก็เป็นการป้องกันที่ดี ส่วนผู้อายุมากแล้วส่วนใหญ่ เป็นมามากกว่า 2 ครั้ง ภูมิจะกันได้ครบทั้ง 4 สายพันธ์อยู่แล้วนะ หวังว่าเป็นอย่างนั้น
บทความแนะนำเพิ่มเติม
1. ป้องกันโรคร้ายจากยุงด้วยการฉีดวัคซีนป้องกันไข้เลือดออก
2. โรคไข้เลือดออกไม่ถึงตาย หากรู้อาการ และป้องกันตั้งแต่เริ่มต้น
เรียบเรียงโดย : Mamaexpert Editorial Team
ขอบคุณข้อมูล : ศาสตราจารย์ นายแพทย์ ยง ภู่วรวรรณ