คุณแม่แชร์ประสบการณ์ : อันตรายของยาลดไข้ ลูกวัย4เดือนกินยาลดไข้เกินขนาด ตับม้ามโต

04 October 2017
51834 view

อันตรายของยาลดไข้

คุณแม่ เจ้าของเฟสบุ๊คส่วนตัว นุ่น'นน มา เฟีย'ยยย เเชร์ประสบการณ์ให้คุณแม่ท่านอื่นๆได้ทราบผ่านกลุ่มคนท้องคุยกัน  เกี่ยวกับการรับประทานยาพาราเซตามอล ในวันที่ลูกไม่สบาย แต่อาจให้ในปริมาณที่ถี่ และ มาก เกินน้ำหนักตัวและอายุ ทำให้ตับไม่สามารถสังเคราะห์ยา และ ไตไม่สามาถขับออกมาได้ ส่งผลต่อระบบสำคัญๆ ของลูก ทำให้ ต้องนอนพักรักษาตัวที่โรงพยาบาล โดยคุณแม่ได้ ให้ข้อมูลทั้หมดไว้ดังนี้ค่ะ 
เราจะมาบอกว่า?
ถ้าหากลูกไม่สบาย แล้วเราให้ยากินแล้ว ยานั่นคือยาซาร่าสำหรับเด็กหรือยาอะไรก็ตามแต่ เนื่องจากลูกเราไม่สบาย เราก็ให้ยาลูกครั้งล่ะ 1-1.5ซีซี ก็เราอยากให้ลูกหายจากไข้ เราให้วันล่ะ 2 รอบ เช้าเย็น ตอนนั้นลูกเรา. 4 เดือน ด้วยความรักความเป็นห่วงของแม่อยากให้ลูกหาย และเราก็ให้ยามาประมาณ 4-5 วัน ติดกัน เช้าเย็น. จนลูกไม่มีไข้แล้ว พอ 2-3วันมา แค่นั้นแหล่ะคะ วันที่ 14 ธค. 59 ลูกเราร้องเป็นชั่วโมง
ๆเอาใจเท่าไหร่ก็ไม่หยุด เราก็เลยพาไป รพ หมอก็ถามว่าเป็นไรมา เราก็คิดว่าท้องอืด หมอก็สวนก้นให้ ก็ไม่มีอึ หมอก็เอาไปเจาะเลือด หมอว่าตัวเหลือง เจาะแล้วก็ไม่มีผลอะไร จนเอาไปเอ็กซเรย์ หมอพบว่า ลูกเราเป็นโรคตับ ตับโต ม้ามโต เพราะเกิดจากการที่เราให้ยาลูกเกินขนาด ตอนนี้ก็มีเรื่อง น้ำตาลต่ำ ต่อมไทรอยด์อักเสบ และสมองติดเชื้อตามมาอีกเยอะแยะ
#สงสารลูก ตอนนี้ลูกเราก็ยังอยู่ รพ อยู่เลย เป็นเดือนกว่าแล้ว #ฝากถึงคุณแม่ทุกคนนะคะ ถ้าลูกไม่สบาย ให้ยา2-3วันไม่หาย หรือก็นำไปหาหมอนะคะ
 

อันตรายของยาลดไข้สำหรับเด็ก ที่คุณพ่อคุณแม่ต้องรู้

เมื่อลูกมีไข้ สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ต้องเฝ้าระวังคือการชักจากไข้สูง การดูแลให้ไข้ลดลงจึงเป็นสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ควรจัดการให้เร็วที่สุด หากลูกมีไข้ต่ำๆการเช็ดตัวลดไข้สามารถช่วยลดอุณหภูมิได้ แต่… ถ้าเช็ดตัวแล้วไข้ไม่ลดลงหรือ มีอุณหภูมิมากกว่า 38 องศาเซลเซียส จำเป็นต้องให้ลูกรับประทานยาลดไข้ควบคู่กับการเช็ดตัวลดไข้ด้วย การเลือกใช้ยาลดไข้ต้องระมัดระวังอย่างมาก เพราะถ้าเลือกใช้ยาลดไข้ผิดชนิดผิดขนาด อาจทำให้ลูกได้รับอันตราย ดังนี้

อันตรายของยาลดไข้กลุ่มพารามเซตามอล (Paracetamol หรือ Acetaminophen) 

เป็นยาลดไข้เด็กที่กุมารแพทย์นิยมเลือกใช้เป็นลำดับแรก เพราะปลอดภัยสูงสุด แต่หากใช้ผิดขนาด อาจทำให้เกิดอันตรายต่อตับ เนื่องจากในเด็กกระบวนการทำงานของตับยังไม่สมบูรณ์ อาจทำให้เกิดภาวะตับวายได้  คุณพ่อคุณแม่จึงควรระมัดระวังการใช้ยาพาราเซตามอล ดังนี้
  1. ใช้ยาพาราเซตามอลขณะมีอาการเท่านั้น
  2. ให้ยาตามน้ำหนักและอายุ หรือขนาดที่แพทย์ หรือ เภสัชกร แนะนำ
  3. ไม่ควรใช้ยาพาราเซตามอล นานติดต่อกันเกิน 5 วัน
  4. อาการแพ้ยาพาราเซตามอลที่อาจเกิดขึ้นได้ เช่น คลื่นไส้ อาเจียน มีผื่นขึ้น

อันตรายของยาลดไข้กลุ่มไอบูโปรเฟน (Ibuprofen )

ใช้ลดไข้สูงได้ดี แต่…มีผลข้างเคียงรุนแรงกว่ายาพาราเซตามอล จึงควรให้ยาตามแพทย์สั่งเท่านั้น ที่สำคัญห้ามใช้ในกรณีที่เด็กเป็นโรคที่มีความเสี่ยงต่อเลือดออก เช่น โรคไข้เลือดออกเพราะส่งเสริมให้เลือดออกมากยิ่งขึ้น เพราะฉะนั้นคุณพ่อคุณแม่จึงควรระมัดระวังการใช้ยาลดไข้กลุ่มไอบูโปรเฟน ดังนี้
  1. รับประทานตามแพทย์สั่งเท่านั้น
  2. ควรรับประทานยาหลังอาหารทันทีเพื่อลดอาการระคายเคืองทางเดินอาหาร
  3. ยากลุ่มไอบูโปรเฟน ทำให้เกิดอาการแพ้ที่ไม่รุนแรง ได้แก่  ผื่นคันตามผิวหนัง ลมพิษ ปวดเกร็งในช่องท้อง ปวดแสบยอดอก อาหารไม่ย่อยหรือมีอาการคลื่นไส้  อาเจียน  มีลมแน่น ท้องผูกหรือท้องเสียได้
  4. อาการแพ้ยากลุ่มไอบูโปรเฟนแบบรุนแรงควรพบแพทย์ทันที ได้แก่ ระบบการทำงานของกล้ามเนื้อหัวใจผิดปกติส่งผลให้ หัวใจเต้นเร็ว หอบหืด มีเลือดออกตามอวัยวะต่างๆ

ในเด็กการตอบสนองต่อยาแตกต่างจากผู้ใหญ่ หากให้ยาลดไข้แล้วไม่ได้ผลในครั้งแรก อย่าเพิ่มปริมาณยาเอง เพราะยาลดไข้มีระยะเวลาในการออกฤทธิ์ ควรเว้นระยะเวลาการรับประทานตามแพทย์กำหนด และเช็ดตัวลดไข้ควบคู่ไปด้วย หากลูกมีไข้สูงติดต่อกัน 3 วัน ควรพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยแยกโรคอย่างละเอียด

บทความแนะนำเพิ่มเติม
1. การให้ยาลดไข้ที่ถูกต้อง ในเด็กแต่ละช่วงวัย

2. ชนิดของยาลดไข้ และการเลือกใช้ยาลดไข้ที่ปลอดภัยสำหรับเด็ก

3. เตือนแม่ๆ!!! ตุ้งติ้งสร้อยข้อมือเด็กน้อย เข้ารูปลั๊กไฟ ช็อตจนมือไหม้

ขอบคุณข้อมูลและรูปภาพ : FB นุ่น'นน มา เฟีย'ยยย