พี่อิจฉาน้อง
พี่อิจฉาน้อง การที่พี่คนโตอิจฉาน้องคนใหม่ของครอบครัวนั้น เป็นเรื่องปกติ และพบได้บ่อยในเด็กอายุ 1-3 ปี สิ่งสำคัญคือว่า คุณพ่อคุณแม่จะช่วยให้พี่นี้ เป็น “พี่ใหญ่” ที่น่ารัก ของทุกคนในบ้านได้อย่างไร
พี่อิจฉาน้องเกิดขึ้นได้อย่างไร
คุณพ่อคุณแม่ควรเข้าใจว่า การที่พี่อิจฉาน้องนั้น เป็นเรื่องปกติ ที่พบได้เสมอในพี่คนโต ที่มีอายุ 1-3 ปี เพราะเขาเคยเป็นหนึ่งมาตลอด เคยได้รับความสนใจ จากคุณพ่อคุณแม่เต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ ตลอดเวลา แต่อยู่ๆ เมื่อมีน้องใหม่ คุณพ่อคุณแม่ ต้องแบ่งเวลาให้น้องคนเล็ก ทำให้ความสนใจ ที่เขาเคยได้จากคุณพ่อคุณแม่ลดลง เขาจึงต้องพยายามทุกวิถีทาง ที่จะให้ได้รับความสนใจ กลับมาเหมือนเดิม เขาอาจต้องการให้คุณแม่กอด ให้อุ้มมากขึ้น โดยเฉพาะ เมื่อคุณแม่กำลังวุ่น กับการดูแลน้องใหม่
พี่อิจฉาน้องจะแสดงอาการอย่างไร
บางครั้งเขาจะแสดงพฤติกรรมถดถอย กลับไปเป็นเหมือนเด็กเล็กๆอีก เช่น ฉี่ หรืออึราด โดยไม่ยอมบอก, ดูดนิ้ว, กลับไปดูดขวดนมอีก หลังจากที่เคยเลิกขวดนมได้แล้ว หรือ อาจจะก้าวร้าวเพิ่มขึ้น เช่น แกล้งน้อง ชอบจับน้องแรงๆ ซึ่งพฤติกรรมเหล่านี้ ถือเป็นเรื่องปกติ และบางอย่างสามารถป้องกันได้ บางพฤติกรรมก็จะดีขึ้นเองใน 2-3 เดือน
พี่อิจฉาน้อง ป้องกันอย่างไรดี
- เตรียมตัวลูกคนโต ตั้งแต่คุณแม่เริ่มตั้งท้องลูกคนเล็ก โดยบอกเขาว่า เขากำลังจะเป็นพี่ใหญ่ มีน้องเล็กอยู่ในท้องคุณแม่ ให้ลูกได้จับหน้าท้องขณะที่น้องดิ้น สร้างความรู้สึกที่ดีให้พี่มีต่อน้อง ให้พี่รู้สึกมีส่วนร่วมในการจัดเตรียมของเล่น และของใช้ของน้อง และให้รู้สึกว่าจะเป็น ”น้อง” ของครอบครัว ”เรา”อย่าส่งลูกคนโตไปเนอสเซอรี่ หรือ ร.ร.ในช่วงใกล้คลอด หรือหลังคลอดใหม่ๆ และเช่นกันในการจัดห้องเพื่อรับน้องใหม่ อย่าจัดให้พี่ต้องย้ายออกจากเตียง หรือออกจากห้อง ที่เขาเคยอยู่เพื่อที่จะได้มีที่ให้แก่น้องคนใหม่ หรือจากที่เดิมเขาเคยนอนกับคุณแม่ พอมีน้อง เขาต้องออกไปนอนที่อื่นคนเดียว เพื่อไม่ให้เขาเข้าใจผิดว่า เป็นเพราะว่ามีน้องมาใหม่ เขาจึงถูกขับไล่ไสส่งออกไป
- ให้ความสำคัญกับพี่เมื่อวันที่คลอดน้อง. ให้คุณแม่โทรศัพท์ กลับมาคุยกับลูกคนโตที่บ้านทุกวัน เล่าให้เขาฟังว่า คุณแม่เป็นอย่างไร และคิดถึงเขา ฯลฯ หรือ ให้ลูกได้มีโอกาสไปเยี่ยมน้องและคุณแม่ที่ ร.พ. พร้อมกับแวะดู ที่ห้องเด็กอ่อน เพื่อให้เขาเห็นว่ามีคุณแม่คนอื่นๆ อีกหลายคนที่มาคลอดน้องที่นี่ และดูว่าเด็กทารกแรกเกิดคนอื่นๆ นั้นเป็นอย่างไร
- พาสมาชิกใหม่เข้าบ้านต้อทักทายพี่คนโตก่อนให้ใช้เวลาช่วงแรก พูดคุยทักทาย และอยู่กับลูกคนโตสักพักหนึ่งและอาจจะเตรียมของขวัญชิ้นเล็กให้แก่พี่คนโต โดยบอกว่า “เป็นของขวัญจากน้อง” ให้โอกาสพี่ได้ใกล้ชิด จับต้อง และอุ้ม หรือเล่นกับน้องบ้าง โดยมีผู้ใหญ่คอยดูแลตลอดเวลา ไม่ปล่อยพี่คนโตไว้กับน้องตามลำพังเป็นอันขาด เพราะด้วยความตื่นเต้น สนใจ อยากรู้ อยากเห็น หรือที่เรียกว่า “เห่อน้อง” อาจทำให้เกิดอันตรายได้ (โดยไม่ได้มีเจตนาจะทำร้ายน้อง)
- พยายามหลีกเลี่ยงคำพูดบางอย่าง ที่อาจทำให้เกิดปัญหาในเด็ก เช่น “อย่าจับน้องนะ, อยู่ห่างๆน้อง ห้ามเข้าใกล้, ทำไมเราจึงยุ่งนัก อย่างนี้แม่ไม่รักแล้ว, ถ้าไม่หยุด จะให้ (ป้า, พี่แดง ฯลฯ) เอาไปปล่อย (หรือเอาไปเลี้ยง), อย่างนี้ไม่เก่งเลย สู้น้องก็ไม่ได้ น้องน่ารักกว่า ฯลฯ “ ซึ่งนอกจากคุณพ่อคุณแม่ ต้องระวังการใช้คำพูดที่จะกระทบต่อเด็กแล้ว ยังจะต้องเตรียมตัวผู้ใหญ่คนอื่นๆ ที่จะเข้ามา มีบทบาทในการดูแลเด็กด้วย ซึ่งอาจเป็น คุณตา-ยาย, ปู่-ย่า,คุณลุง-ป้า, คุณน้า-อา หรือพี่เลี้ยง ที่บางครั้งอาจจะพูดในทำนองนี้ โดยไม่ทันได้คิด หรืออาจจะพูดไปเพื่อแหย่พี่คนโตเล่น แต่หลายต่อหลายครั้ง พี่คนโตอาจจะไม่สามารถทำใจได้ และจะเกิดความ “ไม่ชอบน้อง” ขึ้น เพราะ”น้อง”เป็นสาเหตุให้ตนเองถูกดุ หรือไม่มีคนรัก
- ให้พี่ได้มีส่วนร่วมในการดูแลน้อง เช่น ช่วยหยิบขวดนม หรือช่วยนำผ้าอ้อมไปไว้ที่ถังทิ้งผ้าอ้อม และอย่าลืมกล่าวชมเขา ด้วยอย่างจริงใจ ว่าคุณพ่อคุณแม่ดีใจและภูมิใจที่เขาได้เป็น พี่ใหญ่ “เป็นผู้ช่วยคุณแม่” ในการดูแลน้อง และให้พี่รู้สึกว่า น้องชอบที่มีพี่อยู่ใกล้ๆ เช่น “ดูซิ น้องชอบมากเลย ที่ลูกคุยกับน้อง”
- ควรแบ่งเวลา”พิเศษ” เพื่อที่คุณแม่จะได้มีเวลาอยู่กับพี่ตามลำพัง จะได้ให้ความสนใจแก่เขาได้อย่างเต็มที่ โดยไม่มีน้องคอยกวน ร่วมกันทำกิจกรรมที่เขาชอบ เช่น เล่านิทาน อ่านหนังสือด้วยกัน ไปเดินเล่น ฯลฯ ถ้ามีโอกาส ควรนำรูปหรือ วิดีทัศน์ของพี่ ตอนที่เขายังเล็กๆ หรือ ตอนที่คุณแม่ให้นมเขา มาให้เขาดู เล่าให้เขาฟังว่า ตอนเล็กๆ คุณพ่อคุณแม่ ดูแลเขาอย่างที่กำลังดูแลน้องอยู่นี่เช่นกัน และบอกเขาว่า ตอนนี้ครอบครัวของเราใหญ่ขึ้น มีเขาเป็นพี่ใหญ่ ที่เก่งขึ้น ช่วยดูแลน้องได้ และมีน้องซึ่งต่อไปจะโตขึ้น และจะเป็นพี่น้องที่คอยช่วยเหลือกัน และเป็นเพื่อนเล่นกันได้ เหมือนครอบครัวอื่นๆที่เขารู้จัก
- เบี่ยงเบนความสนใจพี่เมื่อแม่ต้องดูแลน้อง ขณะที่คุณแม่ดูแลน้องเล็กอยู่ คุณพ่อหรือผู้ใหญ่ท่านอื่น เช่น คุณตา สามารถชวนเขาไปเล่น หรือทำกิจกรรมอื่น ถ้ายิ่งมีเด็กโตคนอื่นที่มาเล่นกับเขาได้ด้วย ก็จะยิ่งช่วยให้เขาเพลิน และเข้าใจคุณแม่ ยอมให้คุณแม่เลี้ยงน้องได้ โดยเขาไม่รู้สึกถูกทอดทิ้งอยู่คนเดียว
สำหรับพฤติกรรมถดถอยที่เกิดขึ้นเมื่อมีสมาชิกตัวน้อยคนใหม่เกิดขึ้นในครอบครัว ส่วนใหญ่เป็นเพราะ เด็กต้องการทำเพื่อเรียกร้องความสนใจจากคุณแม่ โดยลองทำเป็นเด็กเล็กดูบ้าง เพื่อว่าคุณแม่จะได้มาดูแลเขาเหมือนกับที่คุณแม่ดูแลน้องส่วนใหญ่แล้วพฤติกรรมเหล่านี้ จะดีขึ้นเองในเวลา 2-3 เดือนขอให้เข้าใจเด็กและอย่าไปดุว่าเด็ก เพราะจะทำให้เขารู้สึกไม่ชอบน้องมากขึ้น (เพราะเด็กจะไม่เข้าใจว่า ทำไมน้องทำแล้วคุณแม่โอ๋เอาใจน้อง แต่พอเขาทำบ้าง กลับโดนว่า) ดังนั้น การเตรียมตัวมีสมาชิกใหม่ในครอบครัวนั้น เป็นสิ่งที่น่ายินดี และน่าตื่นเต้น แต่อย่าลืมนึกถึงหัวใจน้อยๆ ของผู้ที่ต้องกลายเป็นพี่ ด้วยความรักของคุณ ที่พร้อมจะเข้าใจ และให้โอกาสแก่ลูกเท่าๆกัน จะทำให้ไม่เกิดบรรยากาศ “เมื่อพี่อิจฉาน้อง” อย่างรุนแรง และเด็กจะสามารถปรับตัวได้อย่างดี กับสมาชิกใหม่ของครอบครัวในที่สุด
บทความแนะนำเพิ่มเติม
1. เคล็ดลับเลี้ยงลูกให้สมองดี ในยุคเทคโนโลยีแต่ไม่ติดจอ
3. 10 วิธีเลี้ยงลูกให้ฉลาดและมีวิทยาศาสตร์รองรับ
เรียบเรียงโดย : Mamaexpert Editorial Team