แบบทดสอบสุขภาพจิตแม่ตั้งครรภ์
ภาวะเครียดของมารดาจะทำให้สารเคมีและฮอร์โมนที่เกิดจากความเครียดหลั่งออกมามากขึ้น ทำให้เส้นเลือดที่ไปยังมดลูกและรกเกิดการหดตัว ทำให้ปริมาณออกซิเจนที่ไปยังทารกในครรภ์ลดน้อยลง ผลตามมาทำให้เกิดการแท้ง ทารกเติบโตช้าในครรภ์ ทารกติดเชื้อในครรภ์สูงขึ้น มีรายงานว่าทารกที่คลอดจากมารดาที่มีภาวะเครียด ในระหว่างตั้งครรภ์ โดยเฉพาะในการตั้งครรภ์ช่วงแรกจะมีอารมณ์ซึมเศร้า และไวต่อการกระตุ้นจากสิ่งแวดล้อมภายนอก
สำหรับผลที่เกิดกับทารกในระยะยาวจะทำให้มีโอกาสเสี่ยงต่อ โรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง และโรคเบาหวานเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ยังส่งผลถึงปัญหาทางจิตใจ และการปรับตัวทางสังคมตามมา
เช็คความเครียดด้วยแบบทดสอบสุขภาพจิตแม่ตั้งครรภ์
คุณแม่ตั้งครรภ์สามารถตรวจสอบสภาพจิตใจของตัวเองว่ามีอาการและความรู้สึกต่อไปนี้หรือไม่ เช็คเลย!
อาการ | ไม่มี | มีบางครั้ง | มีบ่อย |
1. ฉันรู้สึกปวดศีรษะ | |||
2. ฉันรู้สึกหงุดหงิด | |||
3. ฉันรู้สึกวิตกกังวล | |||
4. ฉันรู้สึกตื่นเต้นและตกใจ | |||
5. ฉันมีปัญหากับการแก้ปัญหาในเรื่องต่างๆ | |||
6. ฉันรู้สึกว่าสิ่งต่างๆ ไม่ถูกต้อง | |||
7. ฉันไม่สามารถควบคุมสิ่งต่างๆ ในชีวิตฉันได้ | |||
8. ฉันกังวลว่าทารกในครรภ์จะผิดปกติ | |||
9. ฉันกังวลว่าฉันจะสูญเสียทารกในครรภ์ | |||
10. ฉันกังวลว่าฉันจะคลอดยากหรือมีปัญหาจากการคลอด | |||
11. ฉันกังวลว่าฉันไม่มีเงินที่จะจ่ายค่าดูแลรักษาได้ | |||
12. ฉันอยู่คนเดียวไม่มีสามีคอยดูแล | |||
13. ฉันต้องทำงานหนักเพิ่มขึ้น | |||
14. ฉันมีปัญหาที่ทำงาน | |||
15. ฉันและสามีมีปัญหาระหว่างกัน | |||
16. ฉันเคยถูกขู่หรือถูกทำร้ายร่างกาย |
เช็คผลการทดสอบแบบทดสอบสุขภาพจิตแม่ตั้งครรภ์
ได้กี่ข้อคะ ถ้าตอบว่ามีบางครั้ง มากกว่า 3 ข้อขึ้นไปแสดงว่ามีภาวะเครียด ควรจะหาวิธีลดความเครียดได้แล้ว เพราะหากมีความเครียดสะสมเรื้อรัง ส่งผลต่อเจ้าตัวเล็กได้ วิธีที่ช่วยคลายเครียดได้ มีดังนี้ค่ะ
วิธีการลดหรือคลายความเครียดขณะตั้งครรภ์ เพื่อสุขภาพของเจ้าตัวน้อย
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ครบ 5 หมู่ และครบ 3 มื้อ
- นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ อย่างน้อยวันละ 6-8 ชั่วโมง
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
- ลดการทำงานลง
- การพูดคุยหรือระบายความในใจหรือความเครียดกับสามี เพื่อนฝูงที่สนิทสนม หรือกับคุณพ่อคุณแม่
- ทำกิจวัตรประจำวันหรือสิ่งที่คุณชอบ อย่างน้อยวันละ 20-30 นาที
- ออกไปเที่ยว ทำกิจกรรมนอกบ้านหรือพักผ่อน
- นั่งสมาธิ
- ฝึกโยคะสำหรับสตรีตั้งครรภ์
- ฝึกจินตนาการ แต่เรื่องที่ดีหรือทำให้เรามี
- หาความรู้ถึงอาการที่พบบ่อยระหว่างการตั้งครรภ์และวิธีการแก้ไข
- หลีกเลี่ยงการพึ่งสารเสพติด เช่น บุหรี่ แอลกอฮอล์ หรือยาระงับประสาท
- หาโอกาสอบรมการตั้งครรภ์คุณภาพ เพื่อให้ทราบข้อมูลเกี่ยวกับการตั้งครรภ์ การคลอดและการดูแลบุตรหลังคลอด
สามีเป็นคนสำคัญในการดูแลสภาพจิตใจของคุณแม่ตั้งครรภ์ อย่าปล่อยให้คุณแม่ต้องเป็นฝ่ายดูแลลูกน้อยภายในครรภ์เพียงลำพัง ไปฝากครรภ์ด้วยกัน ชวนไปออกกำลังกายด้วยกัน และทุกกิจกรรมถ้าทำด้วยกันได้ เพราะความสุขของแม่ท้องคือความสุขของลูกในครรภ์ด้วยค่ะ
บทความแนะนำสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์
- วิธีเช็คอารมณ์ของแม่ตั้งครรภ์ว่าคุณเครียดหรือไม่
- กระตุ้นพัฒนาการทารกในครรภ์ด้วยแสงจากไฟฉาย
- อาหารบำรุงครรภ์ แบ่งตามอายุครรภ์ 1- 40 สัปดาห์
เรียบเรียงโดย : Mamaexpert Editorial Team
อ้างอิง : คู่มือการเลี้ยงลูก http://www.rcpsycht.org/cap/book01_6.php