ต่อมอะดีนอยด์โต
ต่อมอดีนอยด์ (adenoid) เป็นต่อมน้ำเหลืองที่อยู่ในส่วนหลังของโพรงจมูก (nasopharynx) มีโครงสร้างภายในใกล้เคียงกับต่อมทอนซิล (tonsils) มีหน้าที่ทำลายเชื้อโรค และผลิตเซลล์สร้างภูมิคุ้มกันในระบบทางเดินหายใจส่วนต้น
หน้าที่ของต่อมอดีนอยด์
ต่อมอดีนอยด์จะทำหน้าที่มากในช่วงวัยเด็ก (1-10 ปี) และจะทำหน้าที่น้อยลงเมื่อเข้าสู่วัยรุ่น หลังจากนั้นจะลดขนาดลง และไม่มีบทบาทสำคัญในการป้องกันโรคในผู้ใหญ่ ต่อมอดีนอยด์นี้มักจะมีขนาดโต หรือมีการอักเสบเรื้อรังในผู้ป่วยที่เป็นโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ (allergic rhinitis), โรคจมูกอักเสบชนิดไม่แพ้ , โรคไซนัสอักเสบเรื้อรัง, โรคหวัด หรือเป็นหวัดบ่อย (เช่น อยู่รวมกับคนกลุ่มมากๆ เช่น ในเด็กที่อยู่ในโรงเรียนอนุบาล หรือสถานรับเลี้ยงเด็ก) เนื่องจากมีการอักเสบ และการระคายเคืองของโพรงหลังจมูก
สาเหตุที่ทำให้ต่อมอะดีนอยด์โต
- การติดเชื้อเรื้อรังของระบบทางเดินหายใจส่วนบน เช่น โรคโพรงจมูกอักเสบเรื้อรัง โรคโพรงไซนัสอักเสบเรื้อรัง หรือโรคหูชั้นกลางอักเสบเรื้อรัง เป็นต้น
- โรคภูมิแพ้ โดยเฉพาะโรคภูมิแพ้ของเยื้อบุโพรงจมูก หรือ โรคแพ้อากาศ
- การติดเชื้อเรื้อรังของต่อมอะดีนอยด์
โดยส่วนใหญ่จะพบต่อมทอนซิลโตร่วมกับต่อมอะดีนอยด์โต เนื่องจากต่อมทอลซิลเป็นต่อมน้ำเหลืองที่อยู่บริเวณภายในช่องคอ ซึ่งทำหน้าที่เช่นเดียวกับต่อมอะดีนอยด์
เด็กที่มีต่อมอะดีนอยด์โตจะมีอาการอย่างไร
เด็กที่มีต่อมอะดีนอยด์โตจะมีอาการของทางเดินหายใจส่วนบนอุดกั้น เช่น หายใจไม่สะดวก หายใจมีเสียงดัง นอนอ้าปาก เนื่องจากมีการหายใจทางปาก นอนกรน สะดุ้งตื่นกลางดึก หรือมีภาวะหยุดหายใจ เป็นต้น ซึ่งอาการดังกล่าวสามารถสังเกตเห็นได้ในช่วงตอนกลางคืนขณะที่เด็กมีการหลับสนิท
การรักษาโรคต่อมอะดีนอยด์โต
1.รักษาโรคต่อมอะดีนอยด์โตด้วยยา
การรับประทานนาปฏิชีวนะร่วมกับการใช้ยาพ่นสเตียรอยด์ผ่านจมูก ซึ่งจะใช้ระยะเวลาในการรักษาประมาณ 4-6 สัปดาห์ อย่างไรก็ตามเด็กอาจมีอาการกลับเป็นซ้ำได้หากมีการติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจส่วนบน หรือมีการกำเริบของโรคแพ้อากาศ
2.รักษาโรคต่อมอะดีนอยด์โตด้วยการผ่าตัดรักษา
ซึ่งมีข้อบ่งชี้ในการผ่าตัด ซึ่งการผ่าตัดต่อมอดีนอยด์เป็นการผ่าตัดผ่านทางช่องปากเช่นเดียวกับการผ่าตัดต่อมทอนซิล แพทย์จะใส่เครื่องมือทางช่องปากผ่านด้านหลังลิ้นไก่เข้าไปหาโพรงหลังจมูก ผู้ป่วยจึงไม่มีบาดแผลใดๆ ที่มองเห็นได้จากภายนอก
การผ่าตัดต่อมอะดีนอยด์จะไม่เกิดผลเสียในด้านลดความสามารถของร่างกายในการกำจัดเชื้อโรคที่เข้าสู่ร่างกาย เนื่องจากร่างกายมีระบบต่อมน้ำเหลืองอื่นๆ อีกมากมายที่สามารถทำงานทดแทนต่อมอะดีนอยด์ที่ถูกตัดออกไป รวมถึงบทบามของต่อมอะดีนอยด์ก็จะลดน้อยลงและต่อมจะมีขนาดเล็กลงในเด็กที่อายุมากกว่า 5-7 ปี ค่ะ
บทความแนะนำสำหรับคุณแม่
2. เด็กควรนอนท่าไหนถึงจะปลอดภัยที่สุด
3. ลูกนอนกรน รู้ทันปัญหา ก่อนพัฒนาการลูกจะเสื่อมถอย
เรียบเรียงโดย : Mamaexpert Editorial Team