ภาวะน้ำคร่ำอุดตันปอด

07 March 2012
983 view

ภาวะน้ำคร่ำอุดตันปอด

.
.

แม้การแพทย์จะพัฒนาก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็ว ทั้งตัดต่อพันธุกรรม เปลี่ยนหรือปลูกถ่ายอวัยวะ รวมถึงอาศัยเทคโนโลยีต่าง ๆ ช่วยในการรักษาโรคหลาย ๆ โรคประสบผลสำเร็จเป็นอย่างดี แม้แต่มะเร็งหลายชนิดยังรักษาหายได้ นอกจากนี้ยังมียาปฏิชีวนะที่ดี การผ่าตัดที่มีประสิทธิภาพ แต่ก็ยังมีอีกหลายโรคที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาด หรือแม้แต่จะป้องกันมิให้เกิดก็ยังทำไม่ได้ ตัวอย่างหนึ่งที่พบได้ในคนท้อง คือ "ภาวะน้ำคร่ำอุดตันปอด" หลายท่านอาจไม่คุ้นหูนัก แต่นับเป็นภาวะที่อันตรายยิ่งสำหรับหญิงตั้งครรภ์ มารู้จักภาวะนี้เถอะ

เป็นภาวะฉุกเฉินทางสูติศาสตร์ที่พบในหญิงตั้งครรภ์ แต่ไม่บ่อยนัก ประมาณ 1 : 80,000 ราย แต่ก็จัดว่าเป็นภาวะแทรกซ้อนที่มีความรุนแรงมาก เพราะผู้ป่วยส่วนใหญ่โอกาสรอดชีวิตน้อยมาก  ที่ผ่านมา พบรายงานผู้ป่วยครั้งแรกในต่างประเทศเมื่อ 77 ปีก่อน ปัจจุบันยังไม่สามารถสรุปสาเหตุของการเกิดได้ชัดเจน แต่ผู้มีโอกาสเสี่ยงที่จะเกิดภาวะนี้ได้มากกว่าคนท้องทั่วไป คือ 
     1. หญิงตั้งครรภ์ที่มีอายุมาก 
     2. มีบุตรหลายคน 
     3. อ้วน 
     4. มีบุตรตัวโต


ความผิดปกติที่เกิดขึ้นภายในครรภ์


ถุงน้ำคร่ำที่หุ้มตัวทารกขณะที่อยู่ในครรภ์เกิดแตกออกในช่วงที่มารดาเริ่มเจ็บท้อง หรือช่วงคลอด ทำให้น้ำคร่ำรวมทั้งชิ้นส่วนของทารกเกิดหลุดเข้าไปตามรูแตกบนเส้นเลือดที่ตัวมดลูก ไปอุดอยู่ตามเส้นเลือดเล็ก ๆ ของอวัยวะต่าง ๆ ภายในร่างกาย และที่สำคัญที่สุด คือ ปอด ทำให้เกิดการอุดตันและหดเกร็งของเส้นเลือดในปอด ร่างกายจึงขาดอากาศ และทำให้หัวใจล้มเหลวตามมา เหตุการณ์เหล่านี้จะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ปุบปับ คาดไม่ถึง และอธิบายไม่ได้

อาการผิดปรกติทางร่างกายที่พบบ่อย 


1. กระสับกระส่าย 
2. หายใจลำบาก 
3. ปาก เล็บและผิวหนังตามตัวเขียวคล้ำ 
4. ช็อก หมดสติ ชักเกร็ง 
5. เลือดไม่แข็งตัว และเสียชีวิตในที่สุด 

ส่วนทารกจะเสียชีวิตตามมารดาเพราะขาดออกซิเจน แต่ก็มีมารดาส่วนน้อยที่รอดเสียชีวิต ซึ่งอาจเป็นเพราะน้ำคร่ำที่หลุดเข้าเส้นเลือดมีจำนวนไม่มากนัก และการอุดตันไม่เกิดซ้ำ ร่างกายจึงขาดอากาศไม่นานและไม่มาก ทำให้แพทย์มีเวลาช่วยเหลือและแก้ปัญหาได้สำเร็จ

ปัจจุบัน ยังไม่มีวิธีใดที่แน่นอน ที่จะบอกว่าเป็นโรคนี้ การเอกซเรย์ การตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ การเจาะเลือด หรือแม้แต่การตรวจศพก็ยังไม่สามารถชี้ชัดได้ในบางครั้ง และเช่นกัน ยังไม่มีวิธีใดที่ดีที่สุดที่จะใช้รักษาภาวะนี้ได้ คงมีแต่เพียงการรักษาตามอาการ และแก้ไขเหตุการณ์เฉพาะหน้า เช่น การใส่ท่อช่วยหายใจ การให้เลือด หรือการให้ยาบางตัว และเพื่อหวังว่าขบวนการการเกิดโรคนี้จะไม่เกิดซ้ำ แต่ถึงแม้จะไม่เกิดซ้ำ โอกาสที่แม่จะรอดชีวิตก็ยังยาก ส่วนการผ่าตัดคลอดเพื่อช่วยเหลือลูก บางครั้งก็ทำไม่ทันหรืออาจไม่คุ้ม เพราะการผ่าตัดในขณะที่แม่ยังอาการไม่ดีนั้น กลับจะทำให้แม่แย่ลง

แม้ว่าภาวะแทรกซ้อนหลาย ๆ อย่างที่อาจเกิดขึ้นในคนท้องซึ่งบางครั้งอาจรุนแรงจนทำให้แม่เสียชีวิตได้นั้นอาจจะป้องกันไม่ได้ก็ตาม แต่ทว่าการฝากท้องแต่เนิ่นๆ และสม่ำเสมอก็ยังเป็นสิ่งที่คนท้องควรปฏิบัติ เพราะจะเกิดประโยชน์อย่างมาก ช่วยลดความเสี่ยงของปัญหาที่จะเกิดจากโรคบางอย่างที่แม่มีอยู่ และแพทย์จะได้มีโอกาสคัดกรองโรคบางอย่าง หรือจะได้ป้องกันความผิดปรกติที่จะเกิดขึ้น เช่น ซีด เพื่อที่แม่และลูกจะได้มีสุขภาพสมบูรณ์แข็งแรง 

.

ขอบคุณข้อมลจาก

รศ.พญ.วิบูลพรรณ ฐิตะดิลก
ภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา
Faculty of Medicine Siriraj Hospital
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล