ปากแหว่งเพดานโหว่ ภาวะผิดปกติในเด็ก

26 February 2012
2169 view

ปากแหว่งเพดานโหว่

ผู้ที่กำลังจะเป็นพ่อแม่ เมื่อใกล้กำหนดคลอดของลูก สิ่งที่เป็นความต้องการอย่างที่สุด คือ การมีลูกที่สมบูรณ์มีอวัยวะครบ หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า ขอให้ครบ 32 ไว้ก่อน อย่างอื่นค่อยว่ากันทีหลัง ความรู้ความเข้าใจในเรื่องโรคและภาวะผิดปกติของทารกเป็นสิ่งที่จำเป็นที่แม่ต้องรู้ เพื่อการดูแลและรักษา Mamaexpert นำความรู้เรื่องภาวะปากแหว่งเพดานโหว่ในเด็กมาฝากให้ศึกษา มาดูกันเลยค่ะ

ปากแหว่งเพดานโหว่ คืออะไร

ปากแหว่งและเพดานโหว่เป็นภาวะพิการที่เป็นแต่กำเนิด พบในเด็กแรกเกิดบ่อยเป็นอันดับสองรองจากภาวะเท้าปุก ซึ่งปากแหว่งเพดานโหว่ คือ การมีรอยแยกบริเวณริมฝีปาก บริเวณเพดานปากหรือบริเวณเนื้อเยื่ออ่อนในช่องปาก อาจเกิดควบคู่กับการมีรอยแยกกระดูกกรามบนหรือเหงือกบน ภาวะเพดานโหว่เกิดขึ้นเมื่อเพดานปากทั้งสองด้านเชื่อมต่อกันไม่สนิท ทำให้เกิดรอยแยกระหว่างเพดานปาก

ปากแหว่งเพดานโหว่ มีสาเหตุมาจากอะไร

ภาวะปากแหว่งเพดานโหว่ ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด อาจเกิดจากปัจจัยทางด้านพันธุกรรมและสิ่งแวดล้อม เช่น การรับประทานยา การติดเชื้อ หรือความผิดปกติของมารดา หากพบเด็กที่เกิดมาพร้อมกับภาวะปากแหว่งและเพดานโหว่ในครอบครัวใด ก็จะมีโอกาสที่จะพบเด็กจากครอบครัวเดียวกัน ที่จะเกิดมาพร้อมกับภาวะปากแหว่งและเพดานโหว่เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 2 - 4 อีกด้วย

ปากแหว่งเพดานโหว่มีอาการอย่างไร

อาการของภาวะปากแหว่งเพดานโหว่ จะเห็นความผิดปกติของริมฝีปากและเพดานที่สามารถสังเกตเห็นได้ตั้งแต่แรกเกิด ปากแหว่งจะพบว่าเด็กดูดนมลำบาก หายใจทางปาก ส่วนเพดานโหว่มักมีการติดเชื้อโดยเฉพาะปอดอักเสบจากการสำลัก มีเสียงเปลี่ยน มีปัญหาเกี่ยวกับการได้ยิน เนื่องจากมีหูชั้นกลางอักเสบ

ปากแหว่งเพดานโหว่ รักษาได้หรือไม่

ปากแหว่งเพดานโหว่สามารถรักษาได้ ด้วยการผ่าตัด กุมารแพทย์และศัลยแพทย์จะทำงานร่วมกับผู้ปกครองของเด็กเพื่อเลือกช่วงเวลาที่เหมาะสมที่สุดในการผ่าตัด โดยเด็กสามารถเข้ารับการผ่าตัดภาวะปากแหว่งได้ตั้งแต่อายุ 3 เดือน โดยการผ่าตัดควรทำตอนที่เด็กอายุน้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ค่ะ ส่วนการผ่าตัดแก้ไขภาวะเพดานโหว่เด็กควรมีอายุระหว่าง 12-18 เดือน และควรขึ้นอยู่กับความพร้อมของสุขภาพของเด็กด้วยค่ะ

ปากแหว่งเพดานโหว่สามารถป้องกันได้หรือไม่

จากการศึกษาในปัจจุบันพบว่า มารดาที่ได้รับวิตามินรวมที่มีส่วนผสมของกรดโฟลิคก่อนการตั้งครรภ์และระหว่างสองเดือนแรกของการตั้งครรภ์ อาจลดความเสี่ยงในการให้กำเนิดบุตรที่มีภาวะปากแหว่งเพดานโหว่ และยังพบว่ามารดาที่สูบบุหรี่ขณะตั้งครรภ์มีความเสี่ยงที่จะให้กำเนิดบุตรที่มีภาวะปากแหว่งเพดานโหว่เพิ่มมากขึ้น นอกจากนั้นยังพบว่าการได้รับวิตามินAในปริมาณมาก อาจเป็นสาเหตุทำให้เกิดความบกพร่องทางร่างกายของเด็กได้ด้วย ซึ่งรวมถึงภาวะปากแหว่งเพดานโหว่ แม่ท้องจึงไม่ควรรับประทานวิตามินAเกินกว่าปริมาณที่กำหนด

ปากแหว่งเพดานโหว่สามารถเกิดขึ้นได้ตั้งแต่ทารกอยู่ในครรภ์มารดาหรือเกิดขึ้นหลังการคลอด ดังนั้นการดูแลสุขภาพครรภ์ของแม่ตั้งครรภ์จึงเป็นสิ่งสำคัญมากที่ไม่ควรมองข้าม ควรออกกำลังกาย ให้ความสำคัญในเรื่องโภชนาการ การบำรุงและการตรวจสุขภาพด้วยนะคะ เพื่อสุขภาพครรภ์ที่ดีของคุณแม่ค่ะ 

บทความแนะนำสำหรับแม่ตั้งครรภ์

1. การตรวจความผิดปกติหัวใจของทารกในครรภ์

2. เบาหวานขณะตั้งครรภ์ แม่ท้องต้องระวัง

3. โรคอันตรายระหว่างตั้งครรภ์

เรียบเรียงโดย : Mamaexpert Editorial Team