สุกใสในหญิงตั้งครรภ์ อันตรายกว่าที่คิด

23 February 2012
9222 view

สุกใสในหญิงตั้งครรภ์

.

ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ สุกใสในหญิงตั้งครรภ์

.

สุกใสในหญิงตั้งครรภ์ อันตรายกว่าที่คิด การเป็นอีสุกอีใสอาจจะดูไม่ร้ายแรงในเด็กทั่วไปแต่ในผู้ใหญ่ที่ป่วยเป็นอีสุกอีใสส่วนใหญ่จะมีอาการที่รุนแรงมากกว่า โดยเฉพาะในหญิงมีครรภ์ ซึ่งมีภาวะภูมิคุ้มกันที่ลดลงจากการตั้งครรภ์ Mamaexpert จึงนำความรู้เรื่องสุกใสในหญิงตั้งครรภ์ มาฝากแม่ ๆ เพื่อการป้องกัน ดูแลและรักษา มาดูกันเลย...

สุกใสในหญิงตั้งครรภ์ คืออะไร

โรคสุกใส หรือ อีสุกอีใส (Chicken pox) เกิดจากการติดเชื้อไวรัสที่มีชื่อว่า ไวรัสวาริเซลลา (varicella virus) เป็นเชื้อตัวเดียวกับที่ทำให้เกิดงูสวัด ติดต่อโดยการหายใจเอาเชื้อไวรัสที่แพร่กระจายอยู่ในอากาศ มีระยะฟักตัว 10 - 20 วัน โรคอีสุกอีใสเมื่อเป็นแล้ว มักมีภูมิคุ้มกันตลอดชีวิต ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะไม่เป็นซ้ำอีก ในกรณีที่โรคสุกใสเกิดขึ้นตั้งแต่แรกคลอด จะเรียกว่า congenital varicella syndrome ซึ่งเกิดจากการติดเชื้อตั้งแต่อยู่ในครรภ์ โดยมารดาติดเชื้อไวรัสสุกใสขณะตั้งครรภ์ ซึ่งจะมีผลต่อความพิการของทารกในครรภ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการติดเชื้อในช่วง 3 เดือน ของการตั้งครรภ์ ซึ่งส่งผลต่อความพิการของทารกในครรภ์ได้สูง

สุกใสในหญิงตั้งครรภ์ มีอาการอย่างไร

อาการสุกใสในหญิงตั้งครรภ์ อาการจะมีไข้ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร และปวดเมื่อยตามตัวคล้ายไข้หวัด แล้วจะมีผื่นขึ้น ซึ่งจะขึ้นพร้อม ๆ กันกับวันที่เริ่มมีไข้ หรือ 1 วันหลังจากมีไข้ เริ่มแรกจะขึ้นเป็นผื่นแดงราบก่อน ต่อมาจะกลายเป็นตุ่มนูน มีน้ำใส ๆ อยู่ข้างใน และมีอาการคัน ต่อมาจะกลายเป็นหนอง หลังจากนั้น 2 - 4 วัน ก็จะตกสะเก็ด ผื่นและตุ่มจะขึ้นตามไรผมก่อน แล้วลามไปตามหน้าลำตัว และแผ่นหลัง จะทยอยขึ้นเต็มที่ภายใน 4 วัน บางคนมีตุ่มขึ้นในช่องปาก ทำให้ปากเปื่อย ลิ้นเปื่อย เจ็บคอ บางคนอาจไม่มีไข้ มีเพียงผื่นและตุ่มขึ้นทำให้เข้าใจผิดว่าเป็นเริม ได้ เนื่องจากผื่นตุ่มของโรคนี้จะค่อย ๆ ออกทีละระลอก(ชุด) ขึ้นไม่พร้อมกันทั่วร่างกาย ดังนั้นจะพบว่า บางที่ขึ้นเป็นผื่นแดงราบ บางที่เป็นตุ่มใส บางที่เป็นตุ่มกลัดหนอง และบางที่เริ่มตกสะเก็ด ด้วยลักษณะนี้ ชาวบ้านจึงเรียกว่า อีสุกอีใส (มีทั้งตุ่มสุกตุ่มใส)

สุกใสในหญิงตั้งครรภ์ อันตรายกว่าที่คิด

ถ้ามีการติดเชื้อสุกใสในหญิงตั้งครรภ์ระยะ 3 เดือนแรก อาจทำให้ทารกในครรภ์พิการได้ นอกจากนี้หญิงตั้งครรภ์ที่เป็นสุกใสในระยะก่อนคลอด 5 วัน หรือหลังคลอด 2 วัน ทารกที่เกิดมาอาจเป็นสุกใสชนิดรุนแรงได้อีกด้วย

ติดเชื้อสุกใสระหว่างตั้งครรภ์ทำอย่างไร

แต่ถ้าหากมีการติดเชื้อเกิดขึ้นจริง คุณแม่ควรไปพบแพทย์ แม้ส่วนมากแล้วจะไม่เป็นอันตรายต่อคุณแม่และทารก แต่ก็มีส่วนหนึ่งที่เกิดความผิดปกติในทารกได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระยะที่ตั้งครรภ์อ่อน ๆเช่นเมื่ออายุครรภ์ต่ำกว่า 20 สัปดาห์ที่ติดเชื้อสุกใส อาจทำให้ทารกในครรภ์เกิดความพิการได้ อย่างไรก็ตามความเสี่ยงนี้มีน้อยมาก เพียง 0.4 – 2 % เท่านั้น คุณแม่ไม่ควรวิตกกังวลมากจนเกินไป

ติดเชื้อสุกใสก่อนคลอดไม่กี่วันทำอย่างไร

นอกจากนี้ หญิงตั้งครรภ์ที่เป็นสุกใสในระยะก่อนคลอด 5 วันหรือหลังคลอด 2 วัน ทารกที่เกิดมาอาจเป็นสุกใสชนิดรุนแรงได้ ทารกกลุ่มนี้ควรได้รับการฉีดสารอิมมูนโกลบูลิน (เช่น Varicella-zoster immune globulin) ป้องกันทันที

สุกใสในหญิงตั้งครรภ์ กับการป้องกัน

ปัจจุบันสุกใสสามารถป้องกันได้โดยการฉีดวัคซีน แต่การฉีดวัคซีนนี้ไม่สามารถทำได้ในระยะที่ตั้งครรภ์ หญิงตั้งครรภ์จึงควรป้องกันตนเอง ไม่อยู่ใกล้ชิดคนที่เป็น และพยายามหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่สาธารณะที่แออัด โดยเฉพาะเมื่อเกิดการระบาดของโรค

บ่อยครั้งที่พบว่าหญิงตั้งครรภ์ บังเอิญได้ไปสัมผัสกับผู้เป็นที่เป็นสุกใสโดยไม่ตั้งใจ หรือแม้ไม่ได้สัมผัส แต่ได้ไปอยู่ใกล้ หรืออยู่ในบ้านเดียวกัน ก็มักสร้างความวิตกกังวลให้หญิงตั้งครรภ์อย่างมาก โดยเฉพาะในคุณแม่ซึ่งไม่เคยเป็นสุกใสมาก่อน อย่างไรก็ตามถึงแม้คุณแม่จะไม่เคยเป็นสุกใส แต่คุณแม่ก็อาจมีภูมิคุ้มกันแล้วจากการที่มีการติดเชื้อเกิดขึ้นในร่างกายโดยไม่แสดงอาการ ซึ่งพบว่ามีมากถึง 80% ของประชากร ดังนั้นอย่าเพิ่งวิตกกังวลไปนะคะคุณแม่

บทความแนะนำสำหรับคุณแม่

1. อันตรายของภาวะโลหิตจางขณะตั้งครรภ์

2. ภูมิแพ้ในแม่ตั้งครรภ์ เรื่องสำคัญที่แม่ท้องไม่ควรมองข้าม

3. ตกขาวขณะตั้งครรภ์อันตรายหรือไหมและรักษาอย่างไร 

เรียบเรียงโดย : Mama Expert Editorial Team

อ้างอิง

1. ผศ.พญ.จรัสศรี ฬียาพรรณ และคณะ.ภาควิชาตจวิทยา.คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล.โรคสุกใส (Chicken pox).เข้าถึงได้จาก http://www.si.mahidol.ac.th/sidoctor/e-pl/articledetail.asp?id=1090 .[ค้นคว้าเมื่อ 14 มิถุนายน 2018]