ภูมิเเพ้ในแม่ตั้งครรภ์!! เรื่องสำคัญที่แม่ท้องไม่ควรมองข้าม

22 February 2012
2077 view

ภูมิเเพ้ในแม่ตั้งครรภ์

.

.

โรคภูมิแพ้เป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ที่มีปฏิกิริยาไวมากผิดปกติต่อสารก่อภูมิแพ้ แต่คุณแม่รู้หรือไม่ว่า สามารถป้องกันไม่ให้อาการถูมิแพ้กำเริบได้ระหว่างตั้งครรภ์

ภูมิเเพ้ในแม่ตั้งครรภ์ มีอาการอย่างไร

ขณะตั้งครรภ์จะมีการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในร่างกาย ซึ่งอาจจะเป็นผลให้อาการของโรคภูมิแพ้แตกต่างไปจากก่อนตั้งครรภ์ จากการศึกษาในผู้ป่วยโรคหืด พบว่า 1 ใน 3 ของผู้ป่วย จะมีอาการทุเลาลงในระหว่างตั้งครรภ์ ซึ่งมักพบในรายที่ควบคุมโรคได้ดีมาก่อนตั้งครรภ์ ส่วน 1 ใน 3 มีอาการเหมือนก่อนตั้งครรภ์ และอีก 1 ใน 3 มีอาการกำเริบมากขึ้น ซึ่งมักจะพบกับคุณแม่ที่ไม่ได้ควบคุมให้ดีก่อนการตั้งครรภ์

เพราะฉะนั้น การควบคุมโรคให้ดีตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์ จะส่งผลดีถึงในช่วงตั้งครรภ์ด้วยค่ะ ส่วนช่วงอายุครรภ์ 24-36 สัปดาห์ ที่อาการมักจะกำเริบบ่อย รวมถึงระหว่างการคลอดที่คุณแม่มักกลัวว่าจะมีอาการหอบระหว่างคลอด พบว่ามีอาการกำเริบแค่ 1 ใน 10 เท่านั้น

ภูมิเเพ้ในแม่ตั้งครรภ์ รักษาอย่างไร

สำหรับยาที่ใช้กับแม่ตั้งครรภ์นั้น มีการออกกฎไว้อย่างเข้มงวด เพื่อคุ้มครองความปลอดภัยให้แก่ผู้บริโภค และยังมีการติดตามประเมินผลอย่างต่อเนื่อง หากยาใดมาพบภายหลังว่าให้โทษต่อร่างกายก็จะถูกสั่งเพิกถอนตำรับยา ห้ามจำหน่าย และด้วยการควบคุมอย่างเข้มงวดนี้เอง ทำให้คุณหมอมีความมั่นใจในการใช้ยามากกว่าการใช้อาหารเสริมหรือสมุนไพร ซึ่งไม่มีมาตรการคุ้มครองผู้บริโภคที่เข้มงวดเท่ายาค่ะ ดังนั้น การจะใช้ยาใดๆ ในสตรีมีครรภ์ จึงต้องพิจารณาผลดี ผลเสีย ความเสี่ยงของยาก่อนเสมอ และจะใช้ก็ต่อเมื่อมีผลดีเหนือความเสี่ยง ในการสั่งยาให้สตรีมีครรภ์แพทย์จึงอาจต้องขอเปิดตำรา เพื่อดูว่ายาที่ต้องการสั่งให้ใช้นั้นจัดอยู่ในระดับความปลอดภัยระดับ A และ B หรือไม่ สำหรับยาพ่นสูดสำหรับโรคหืดนั้น ส่วนใหญ่สามารถใช้ได้ โดย Budesonide มีความปลอดภัยระดับ B คือเป็นยาที่มีความปลอดภัยจากการศึกษาในสัตว์ทดลองที่ตั้งครรภ์ แต่ไม่มีการศึกษาทดลองในมนุษย์ หรือเป็นยาที่มีผลต่อสัตว์ทดลอง แต่จากการศึกษาในมนุษย์ ไม่พบความผิดปกติของทารก ยาภูมิแพ้ที่จัดอยู่ในกลุ่มนี้ เช่น Chlorpheniramine, Loratadine, Ceterizine, Budesonide และการจะเลือกใช้ยาตัวใด ขึ้นกับประวัติและผลการรักษาด้วยยานั้นตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์และขึ้นกับดุลยพินิจของแพทย์ด้วยค่ะ ยาพ่นจมูกที่ใช้ในโรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ โดยทั่วไปมักปลอดภัย ยกเว้นยาพ่นหรือยาหยดเพื่อแก้อาการคัดจมูกที่ไม่ควรใช้เกิน 7 วัน

ป้องกันภูมิเเพ้ในแม่ตั้งครรภ์ไม่ให้กำเริบ

สำหรับคุณแม่ Working Mom ที่ต้องทำงานในห้องแอร์ และต้องออกไปทำงานนอกบ้าน ย่อมเสี่ยงต่อสารกระตุ้นที่จะทำให้อาการของโรคภูมิแพ้กำเริบได้ง่ายๆ หัวใจสำคัญของการรักษาโรคภูมิแพ้ คือ

  1. เลี่ยงสารก่อภูมิแพ้ โดยเฉพาะสารที่คุณแม่แพ้ ซึ่งสามารถทราบได้แน่ชัดจากผลการทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนัง (Allergy Skin Test)
  2. หลีกเลี่ยงสารที่เป็นมลพิษต่อระบบทางเดินหายใจด้วย เช่น ควันบุหรี่ ควันธูป ควันท่อไอเสียรถยนต์ ฝุ่นละออง สเปรย์ต่างๆ แต่หากแพ้ละอองเกสร หากเป็นฤดูที่มีละอองเกสรปลิวมากในอากาศ การอยู่ในห้องที่มีเครื่องปรับอากาศจะดีกว่าอยู่ภายนอก
  3. ใช้หน้ากากอนามัย เมื่อต้องอยู่ในที่อากาศไม่บริสุทธิ์ เช่น ริมถนน ที่มีฝุ่นละออง ที่มีฝูงชนมาก เพื่อลดความเสี่ยงในการได้รับสารก่อภูมิแพ้ มลพิษ และเชื้อโรค
  4. เลือกอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีสารก่อภูมิแพ้ต่ำ เช่น ดูแลเรื่องการป้องกันไรฝุ่น ไม่เลี้ยงสัตว์เลี้ยงในบ้าน

อาหารเสริมและสมุนไพรลดภูมิเเพ้ในแม่ตั้งครรภ์

ระยะหลังเทรนด์และกระแสความนิยมเรื่องอาหารเสริม และสมุนไพรมาแรง หมอแนะนำว่า ก่อนเลือกใช้ควรคำนึงถึงผลข้างเคียง ผลเสีย และหาข้อมูลให้ครบรอบด้าน โดยเฉพาะคุณแม่ที่เป็นภูมิแพ้และกำลังตั้งครรภ์อยู่ มักกลัวการใช้ยาเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว แม้จะเป็นยาที่แพทย์สั่ง หรือหากจะหันไปเลือกใช้ยาสมุนไพรหรืออาหารเสริมแทน ก็อย่าลืมหาข้อมูลหรือปรึกษาคุณหมอก่อนจะกินด้วยนะคะ ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจกันด้วยว่า อาหารเสริมนั้นไม่ใช่ยาค่ะ ข้อบังคับต่างๆ ทางกฎหมายจึงไม่เข้มงวดเท่ายา เพราะฉะนั้น อาหารเสริมที่มาจากต่างประเทศก็เข้าหลักเกณฑ์นี้เหมือนกัน เรียกว่าใครใคร่ขายขาย ผู้บริโภคต้องรับความเสี่ยงเอง คำว่าสารที่มาจาก “ธรรมชาติ” ไม่ได้แปลว่าปลอดภัยเสมอไป สามารถมีผลข้างเคียง อาการไม่พึงประสงค์ หรือเกิดปฏิกิริยาต่อยาหรือสารอื่นได้เช่นเดียวกับยาค่ะ ส่วนสมุนไพรหากคุณแม่จะใช้ควรระวังเรื่อง “เชื้อรา” โดยเฉพาะพวกสมุนไพรที่ผลิตโดยไม่ได้มาตรฐาน นอกจากนี้เรายังพบธาตุโลหะหนักในอาหารเสริมบางรายการด้วย แล้วอาหารเสริม สมุนไพร ก็สามารถก่อให้เกิดอาการแพ้ได้ เช่น อาจทำให้เกิดผื่น คัน หรือแม้แต่กระตุ้นให้โรคหืดกำเริบ บางครั้งอาจมีสารให้โทษบางอย่างปนเปื้อนอยู่ในผลิตภัณฑ์ โดยไม่แจ้งไว้ในฉลาก เช่น สารสเตียรอยด์ การรับประทานอาหารเสริมปริมาณมากกว่าที่ร่างกายต้องการจริง อาจเกิดโทษหรือเป็นอันตรายได้ อาหารเสริมบางอย่างยังอาจมีปฏิกิริยาต่อยาที่แพทย์สั่งหรือยาที่ท่านซื้อใช้เองได้ด้วย ขณะเดียวกันสมุนไพรบางชนิดออกฤทธิ์เช่นเดียวกับยาค่ะ และผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ โดยเฉพาะโรคหืด หากรับประทานสมุนไพร หรืออาหารเสริมใดๆ ต้องเฝ้าสังเกตอาการข้างเคียงที่อาจตามมาด้วย เช่น อาการทางระบบหายใจ บางครั้งการเลี่ยงยาไปใช้สมุนไพรแทน บางครั้งจึงเหมือนหนีเสือปะจระเข้

การดูแลสุขภาพให้สมบูรณ์แข็งแรงเป็นสิ่งที่พึงกระทำ เพื่อลดการใช้ยาคุณแม่จึงควรหมั่นออกกำลังกายตามความเหมาะสม นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ดูแลสภาพแวดล้อมให้ถูกสุขลักษณะและปราศจากสารก่อภูมิแพ้ รวมถึงรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ด้วยค่ะ

บทความแนะนำ

1. หลังคลอดลูกด้วยวิธีธรรมชาติ ดูแลตนเองอย่างไรให้ถูกวิธีและฟื้นตัวเร็ว

2. การปฏิบัติตัวของคุณแม่หลังคลอด

3. การดูแลตัวเองหลังคลอด สำหรับคุณแม่คลอดธรรมชาติ

เรียบเรียงโดย : Mamaexpert Editorial Team