13 เรื่องที่เกิดกับแม่ลูกมือใหม่ 72 ชั่วโมงแรกหลังคลอด

03 March 2016
30318 view

สิ่งที่เกิดขึ้นกับลูกน้อย 72 ชั่วโมงแรกหลังคลอด

ลูกคือสิ่งมหัศจรรย์ที่คุณพ่อคุณแม่ ใครจะไปเชื่อว่าในชีวิตนี้เราจะตกหลุมรักใครก็ไม่รู้ตั้งแต่ยังไม่เคยเห็นหน้า เสียน้ำตาให้เขาในหลายโอกาส รู้ว่าท้อง เจอหน้ากันครั้งแรก พูดได้คำแรก  แม่คำแรกวันที่เท่าไหร่ พ่อคำแรกวันที่เท่าไหร่ สิ่งเหล่านี้พ่อแม่มักจดจำ แต่มีหลายเรื่องในตัวลูก ที่พ่อแม่มือใหม่อย่างคุณอาจไม่เข้าใจเพราะการเตรียมตัวมาดีด้วยการอ่านหนังสือ บางครั้งมันก็ผิดคาด!!! และเป็นเรื่องที่คุณคาดไม่ถึง สิ่งที่เกิดขึ้นกับลูกน้อย 72 ชั่วโมงแรกหลังคลอด มีดังต่อไปนี้

1.หลังคลอดลูกหายไปไหน  อยากเจอกันแล้ว 

หลังคลอดพยาบาลแผนกทารกแรกเกิดจะนำลูกของคุณไปตรวจร่างกาย ชั่งน้ำหนัก วัดความยาว เช็คอุณภูมิกาย หากลูกของคุณปกติจะต้องใช้เวลาปรับอุณภูมิไม่นานนัก สำหรับเด็กที่มีภาวะผิดปกติ ต้องติดตามต่อไปเพราะอาการอาจเปลี่ยนแปลงตลอด นั่นหมายถึง คุณกับลูกอาจจะยังไม่ได้เจอกัน

2. สะดือลูกน่ากลัวมาก!!!

คุณพ่อคุณแม่หลายคนตกใจ เมื่อได้เห็นสะดือลูกครั้งแรก อาจช็อคไปสามวินาทีโดยประมาณ พร้อมแอบคิดในใจ   โห … ลูกคงเจ็บน่าดู  สะดือของลูกจะถูกหนีบไว้เป็นอย่างดีด้วยอุปกรณ์ทางการแพทย์ หรือบางโรงพยาบาลใช้วิธีผูกแน่นๆ จำเป็นต้องทำแบบนี้ เพราะสายสะดือของลูกก็คือสายรกจากแม่นั่นเองค่ะ เมื่อแรกคลอดจะถูกตัดและมีเลือดไหล จำเป็นต้องผูกไว้แน่นๆ สะดือจะแห้งและหลุดไปภายใน 7 – 10 วัน บางคนนานกว่านั้น

3. ลูกจะหิวหรือไม่ ทำไมไม่มาดูดนมแม่ 

  • แม่คลอดธรรมชาติ  2 ชั่วโมงลูกจะไปดูดนม หากโรงพยาบาลนั้นเป็นโรงพยาบาลที่เน้นเรื่องนมแม่ (หรือตามความพร้อมของแม่)
  • สำหรับคุณแม่ที่ผ่าตัดคลอด คุณพ่อจะเป็นคนที่ได้ยลโฉมลูกก่อน ขอยลโฉมความน่ารักของลูกได้ที่แผนกทารกแรกเกิดลูกอาจปรับอุณหภูมิในตู้อบ คุณแม่ต้องใช้เวลาอยู่ในห้องสังเกตอาการ นาน 2 ชั่วโมง ถึงจะถูกส่งตัวกลับยังห้องพักฟื้น คุณแม่สามารถขอดูลูกได้ การดูดนมอาจจะเริ่มขึ้นหากคุณแม่พร้อม ถึงแม้ว่าคุณแม่จะถูกจำกัดการเคลื่อนไหว จากการบล๊อคหลัง แต่พยาบาลสามารถจัดท่าให้ลูกดูดกระตุ้นได้ ( หรือจะเริ่มกระตุ้นเมื่อร่างกายแม่พร้อม )

4. หลังคลอด ลูกหลับนาน ไม่หือ ไม่อือ

เด็กๆหลังคลอด จะถูกห่อตัวด้วยผ้านุ่มๆหนาๆ เพื่อสร้างควบอบอุ่นแก่ร่างกาย เด็กต้องปรับอุณภูมิกายต่อสิ่งแวดล้อมใหม่อย่างน้อย 8 ชั่วโมง การถูกห่อตัวทำให้ลูกของคุณหลับสบาย เหมือนเวลาที่อยู่ในท้องของคุณ ซึ่งเด็กบางคนอาจจะยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่า เขาได้ออกมาจากท้องแม่แล้ว

5. ลูกไม่กิน ไม่ดูดนมจะหิวหรือเปล่า

คุณแม่อาจคาดไม่ถึงค่ะว่า “ลูกพกปิ่นตัวมาด้วย” ก่อนคลอดออกมาจากท้องแม่สารอาการยังถูกลำเลียงผ่านสายรกตามปกติ ซึ่งสารอาหารดังกล่าวสามารถหล่อเลี้ยงร่างกายทารกได้นานถึง  24 – 48 ชั่วโมง ทำให้ทารกบางคนไม่ดูดนม ซึ่งข้อนี้ คุณแม่ไม่ต้องกังวลเมื่อร่างกายของลูกนำสารอาหารที่สะสมมาไปใช้หมดแล้ว ลูกก็จะดูดนมแม่เองค่ะ สำหรับเด็กบางคนดูดนมแม่ทันทีหลังคลอดตามสัญซาติญาณ

6. จริงหรือเปล่า ลูกอาจได้รับนมผงด้วยขณะอยู่โรงพยาบาล

จริงและไม่จริง ขึ้นอยู่กับความต้องการของพ่อแม่ หากคุณต้องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ต้องเเจ้งกับพยาบาลก่อนเลยค่ะว่า ลูกหิวให้นำลูกมาดูดนม หรือ นำลูกมาเลี้ยงเองที่ห้อง หิวก็ดูด หิวก็ดูด นมแม่มาเร็ว มามาก แน่นอนค่ะ แต่..ในบางกรณี ลูกอาจต้องได้รับนมผสมไปก่อนตามดุลยพินิจของแพทย์  สำหรับโรงพยาบาลที่เคร่งครัดและรณรงค์เรื่องให้นมแม่อย่างเดียว ส่วนใหญ่ ห้ามป้อนนมผง และให้ลูกอยู่กับแม่ตลอด 24 ชั่วโมง คุณแม่ต้องสู้ค่ะ งานนี้

7. ลูกร้องหนักมาก ทำไงดี 

เมื่อลูกแน่นิ่งอยู่ คุณพ่อคุณแม่มือใหม่ อย่าได้เผลอไปแกะห่อผ้าเขานะคะ เพราะอาจทำใหลูก กี๊ดดดดหนักมาก จนคุณแม่อย่างคุณต้องร้องตามเพราะไม่สามารถหยุดลูกได้ เด็กร้องโยเยเพราะเขายังไม่ชินกับสิ่งแวดล้อมใหม่ๆสิ่งสำคัญคือ อึ ฉี่ หนาว ร้อน เด็กไม่ชอบความชื้นแฉะไม่สบายตัวทำความสะอาดเมื่อลูกขับถ่าย  อุ้มให้ความอบอุ่นสักพักจะดีขึ้น

8. ไม่จริงเลย เช็ดฉี่ถ่ายสะอาดเอี่ยม อุ้มแล้วไม่ก็หยุด แต่พยาบาลอุ้มหยุดทันที !

เป็นเรื่องจริง! ที่พ่อมือใหม่หลายคนแอบฉงน พยาบาลอุ้มต่างจากพ่อแม่อุ้มอย่างไร อย่าได้ลืมข้อนี้เชียว พยาบาลห้องเด็กก็เปรียบเสมือน แม่เลี้ยงมืออาชีพ อุ้มเด็กนับพันคนต่อปี เทคนิคและความชำนาญย่อมมีมาก พ่อแม่มือใหม่ไม่รู้จะวางมืออย่างไรเมื่อลูกอยู่ในอ้อมกอดก็แข็งทั้งตัว เกร็งไปหมด มันเป็นความมหัศจรรย์ของเด็กค่ะ ที่เขาย่อมเรียนรู้และสัมผัสได้ว่า อ้อมกอดนั้นไม่ปลอดภัย เสียงกรี๊ดจังบังเกิด !

9. อึลูกน่ากลัวจัง

อึของลูก ใน 24 ชั่วโมงเเรกเป็นสีเขียวขี้ม้า เรียกว่า ถ่ายขึ้เทา(meconium) เป็นอุจจาระครั้งแรกของทารกซึ่งไม่เหมือนกับการอุจจาระในภายหลัง ขี้เทาประกอบด้วยสสารที่ถูกย่อยระหว่างที่ทารกใช้ชีวิตอยู่ช่องคลอด โดยมีทั้งเซลล์ผนังลำไส้เล็ก ขนอ่อน เมือก น้ำค่ำ น้ำดี และน้ำ จะหมดไปก่อน 72 ชั่วโมงขึ้นอยู่กับการได้รับนมของเด็กด้วย

10. ลูกมองยังไม่เห็น ใช่ไหม? ทำไมลูกตาเหล่ 

ลูกมองใคร ลูกมองบนตลอด แม่ซื้อตามมาหรือเปล่า รึว่าเด็กมีจะเห็นสิ่งเร้นลับในโรงพยาบาล ลูกมองเห็นแล้วเป็นเรื่องจริง  แต่ … ลูกของคุณสามารถมองเห็นในระยะใกล้ 30 เซนติเมตร ส่วนการแปลภาพ จะเห็นเป็นสีขาวดำ เลือนลางไ่ม่ชัดเจน เห็นใบหน้าพ่อแม่เพียงกลมๆ เเต่ไม่เห็นรายละเอียดว่าพ่อแม่อย่างคุณหล่อสวยแค่ไหน  บางครั้งลูกเหมือนตาเหล่ เพราะกล้ามเนื้อรอบดวงตาของลูกยังไม่แข็งแรงดีค่ะ จะค่อยๆหายไป

11. พึ่งจะคลอดลูกโดนฉีดยา ลูกไม่สบายหรือเปล่า ?

หลังคลอด ลูกคุณจะต้องได้รับยาที่จำเป็น วันแรกที่คลอด ลูกต้องฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบB เข็มที่1 และวิตามินเค เพื่อป้องกันเลือดไหลไม่หยุดจากสายสะดือที่ถูกตัดขาดจากแม่  และก่อนออกจากโรงพยาบาล ลูกต้องได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันวัณโรคที่ไหล่ซ้าย คุณย่าคุณยายเรียก ปลูกฝี

12. อายุแค่นี้เจาะเลือดซะเเล้ว

แน่นอนค่ะ อายุ 72 ชั่วโมง คุณพยาบาลจะนำลูกจะเจาะเลือดเพื่อส่งคัดกรองโรคเอ๋อ กว่าจะทราบผลก็เกือบๆเดือนเลยทีเดียว ตามผลได้เมื่อนัดฉีดวัคซีนเข็มแรก ถ้าผิดปกติทางโรงพยาบาลจะโทรแจ้งโดยด่วนและส่งเลือดไปตรวจกรุ๊ปเลือดด้วย ภายในไม่กี่ชั่วโมงคุณก็จะทราบกรุ๊ปเลือดของลูก

13. ตรวจการได้ยินไม่ผ่าน ลูกหูหนวกหรือเปล่า

ส่วนใหญ่โรงพยาบาลเอกชนหลังคลอด 48 ชั่วโมง ลูกของคุณจะได้รับการตรวจคัดกรองการได้ยินเรียกว่า OAE test เด็กจำนวนมากตรวจไม่ผ่านในครั้งแรก เนื่องจากมีความชื้นในหู ไม่ต้องตกใจค่ะ คุณหมอจะนัดมาตรวจอีกครั้งเมื่ออายุ 1 เดือน หรือ 2 เดือน เป็นการตรวจไม่เร่งด่วน รอได้ ส่วนโรงพยาบาลรัฐบาลจะนัดครั้งเดียวพร้อมฉีดวัคซีนเดือนแรกค่ะ

ทั้งหมดข้างต้นเหตุการณ์ที่ผู้เขียนได้สัมผัสกับคุณพ่อคุณแม่มือใหม่ที่โรงพยาบาล เป็นเหตุการณ์ที่น่ารักในสายตาพยาบาลห้องเด็กอย่างผู้เขียน พ่อแม่มือใหม่คนแล้วคนเล่าที่มีคำถามในใจตามที่กล่าวมาข้างต้น ซึ่งไม่ใช่เรื่องเเปลก สำหรับว่าที่คุณพ่อคุณแม่ที่ใกล้จะคลอดแล้ว บทความนี้น่าจะให้ความรู้ดีๆและเป็นการเตรียมพร้อมในวันที่ เจ้าตัวน้อยจะออกมาเจอคุณ … อย่ากังวลไปนะคะ เพราะก่อนพาลูกกลับบ้านคุณจะได้รับคำแนะนำในการเลี้ยงลูกก่อนลงสนามจริง

เรียบเรียงโดย  : Mamaexpert Editorial Team