ไฟซ็อตแม่ท้องขณะหมอผ่าคลอด ศาลสั่งชดใช้ 10 ล้าน

11 February 2016
1713 view

ศาลอุทธรณ์พิพากษาสั่งให้ รพ.กรุงเทพและแพทย์ ชดใช้เงิน 10 ล้าน แก่คุณแม่ชาวญี่ปุ่นที่ถูกเครื่องห้ามเลือดไฟฟ้าช็อตเป็นแผลไหม้บริเวณลำตัว ไม่สามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ ขณะรับการผ่าตัดคลอดบุตรเมื่อ ก.พ.ปี 55

เมื่อเวลา 09.30 น.วันที่ 9 ก.พ.59 ที่ศาลแพ่ง ถนนรัชดาภิเษก ศาลอ่านคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ คดีผู้บริโภค หมายเลขดำที่  ผบ.1461/2555 ที่ น.ส.มิคาโยะ อิโตะ อายุ 44 ปี ชาวญี่ปุ่น เป็นโจทก์ ฟ้องบริษัทกรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) ประกอบธุรกิจโรงพยาบาลกรุงเทพ นพ.ธีระ วัชรปรีชานนท์ แพทย์สูตินรีเวช และบริษัท โควีเดียน (ประเทศไทย) จำกัด เป็นจำเลยที่ 1-3 เรื่องละเมิดจากการบริการ และเรียกค่าเสียหายจำนวน 82,638,252.90 บาท

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 25 ก.พ.55 โจทก์ไปทำคลอดบุตร ที่ รพ.กรุงเทพ เป็นกิจการของจำเลยที่ 1 โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ผ่าตัด ขณะนั้นเครื่องห้ามเลือดไฟฟ้าเกิดช็อต ทำให้มีไฟไหม้ที่บริเวณลำตัวลักษณะเป็นแผลไฟไหม้ระดับ 3 รอยไหม้กว้าง 15 เซนติเมตร ยาว 30 เซนติเมตร ตั้งแต่ราวนมด้านขวาลงไปถึงต้นขาขวา โดยเครื่องห้ามเลือดไฟฟ้า มีจำเลยที่ 3 จัดจำหน่าย หลังเกิดเหตุโจทก์ไม่สามารถสวมใส่ชุดชั้นในได้ตามปกติ เพราะเมื่อถูกรัดโดนบริเวณแผลจะทำให้เจ็บปวด ไม่สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ

คดีนี้ศาลชั้นมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 29 ก.ค.56 ให้จำเลยที่ 1 -2 ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ 10,273,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย ร้อยละ 7.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันเกิดเหตุ ใช้ค่าทนายความโจทก์ 30,000 บาท และให้ยกฟ้องจำเลยที่ 3 โจทก์และจำเลยที่ 1-2 ยื่นอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์เห็นว่า ตามอุทธรณ์จำเลยที่ 1 ว่า จำเลยที่ 2 ไม่ใช่ลูกจ้าง เพราะจำเลยที่ 2 เพียงเช่าสถานที่และเครื่องมือเท่านั้น แต่จากการนำสืบของพยานได้ความว่า จำเลยที่ 1 มีอำนาจสั่งการจำเลยที่ 2 ในการปฏิบัติหน้าที่ มีการเรียกเก็บค่าบริการทางการแพทย์ก่อนเข้ารับบริการ พฤติกรรมเชื่อว่า จำเลยที่ 1 เป็นนายจ้างของจำเลยที่ 2 ปัญหาตามอุทธรณ์ข้อต่อไปว่า จำเลยที่ 1 – 2 ต้องรับผิดต่อโจทก์หรือไม่เห็นว่า จำเลยที่ 1 – 2 อ้างว่าเหตุการณ์ดังกล่าวเป็นอุบัติเหตุ สุดวิสัย จำเลยที่ 2 ใช้ความระมัดระวังดีแล้ว แต่ได้ความจากพยานโจทก์ว่า สาเหตุที่ทำให้เกิดไฟไหม้ตัวโจทก์เกิดจาก น้ำยาทำความสะอาดที่หน้าท้องเพื่อผ่าตัด อาจไหลมาที่ข้างลำตัว ขณะที่เครื่องกำลังทำงานอาจทำให้เกิดเพลิงลุกไหม้ได้

ขณะที่ผู้ช่วยพยาบาลของจำเลยที่ 2 เบิกความว่า แพทย์ใช้น้ำยาตามปกติ นอกจากนี้ยังได้ความว่าเครื่องห้ามเลือดไฟฟ้าไม่ได้บกพร่องเสียหาย เชื่อว่าแอลกอฮอล์ที่ผสมน้ำยาฆ่าเชื้อทำให้เกิดไฟไหม้ กรณีดังกล่าวจำเลยขาดความระมัดระวังไม่ใช่เหตุสุดวิสัย หรืออุบัติเหตุ อุทธรณ์จำเลยที่ 1-2 ฟังไม่ขึ้น และเมื่อเครื่องไม่ได้บกพร่องจำเลยที่ 3 ไม่ต้องรับผิด โจทก์อุทธรณ์ว่า โจทก์ได้รับบาดเจ็บสาหัส ร่างกาย และจิตใจ ควรได้รับค่าสินไหมทดแทนตามฟ้อง เห็นว่าตามที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัย และกำหนดค่าสินไหมทดแทนตามพยานหลักฐานโดยชอบแล้ว

ศาลอุทธรณ์แผนกคดีผู้บริโภคเห็นพ้องด้วย พิพากษาให้จำเลยที่ 1 – 2 ร่วมกันชดใช้เงินแก่โจทก์ 10,273,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย ร้อยละ 7.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันเกิดเหตุวันที่ 25 ก.พ.55 ค่าทนายความโจทก์ 30,000 บาท และยกฟ้องจำเลยที่ 3 แต่ให้สงวนไว้ในการแก้ค่าเสียหายในอนาคต ภายในระยะเวลา 5 ปี เมื่อโจทก์ยังต้องรับการรักษาบาดแผลต่อเนื่อง ออกคำบังคับให้จำเลยที่ 1 – 2 ชดใช้เงินแก่โจทก์ภายใน 30 วัน

ภายหลัง น.ส.มิคาโยะ กล่าวว่า พอใจกับผลคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ ขอบคุณสามีและทีมทนายความที่อยู่เคียงข้างและช่วยเหลือมาตลอด ปัจจุบันนี้ยังต้องรับการรักษาด้วยวิธีการฉีดยาเข้าไปที่ขอบแผลเป็นเพื่อให้แผลเรียบ เรื่องที่เกิดขึ้นแม้จะฝังใจแต่ไม่ถึงขั้นหวาดกลัวกับการต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล ส่วนคดีอาญาซึ่งแจ้งความไว้ที่ สน.มักกะสัน ยังไม่มีความคืบหน้าแต่อย่างใด เมื่อทางเจ้าหน้าที่แจ้งว่าอยู่ระหว่างการสอบสวนมาตลอด นอกจากนี้ยังเปลี่ยนตัวพนักงานสอบสวนมา 3 คนแล้วทำให้คดีไม่คืบหน้า

เรียบเรียงโดย : Mama Expert Editorial Team

ขอบคุณข่าว : เดลินิวส์